Half n’ Half ครึ่งทางของการให้และรับ คือความอร่อยที่ไม่แตกต่าง

Text : ขวัญดวง แซ่เตีย
Photo : Half n’ Half 
 
 
เบเกอรีและเครื่องดื่ม เป็นหนึ่งในเมนูที่หลายคนชื่นชอบ แต่จะดีหรือไม่หากเงินที่คุณจ่ายในร้านเบเกอรีไม่เพียงได้ขนม และเครื่องดื่มรสชาติถูกปากมาลิ้มลอง แต่ยังได้โอกาสที่จะช่วยให้คนพิการอีกนับร้อยนับพันได้ฝึกฝนอาชีพจนมีทักษะออกไปทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระผู้อื่นอีกต่อไป ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้พิการเหล่านี้ต้องการมากกว่าเงินบริจาคที่คุณจะให้เปล่ากับเขาเสียอีก เพราะนั่นหมายถึงศักดิ์ศรีความเป็นคนที่จะยืนหยัดบนโลกใบนี้อย่างภาคภูมิใจ


 
Half n’ Half คือโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการใช้เป็นรูปแบบใหม่ในการหารายได้มาสานต่องานกิจกรรมในการพัฒนาความรู้ความสามารถคนพิการ เพื่อให้มูลนิธิอยู่รอด และยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาคที่นับวันก็มีแต่จะลดน้อยลง
 
สุเมธ พลคะชา ผู้รับผิดชอบโครงการเบเกอรี Half n’Half เล่าว่า โมเดลธุรกิจนี้ถูกพัฒนารูปแบบมาจากร้านเฟรนด์คาเฟ่ ซึ่งเดิมเป็นเพียงแค่ซุ้มร้านกาแฟเล็กๆ ที่ใช้เป็นหน้าร้านขายเบเกอรี และเครื่องดื่มที่ผลิตและจำหน่ายโดยผู้พิการ โดยเริ่มเปิดมาตั้งแต่มีอาสาสมัครชาวต่างชาติเข้ามาคิดสูตร และสอนทำเบเกอรีให้กับคนพิการ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นร้าน และเปลี่ยนชื่อเป็น “เรย์คาเฟ่” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณพ่อเรย์ หรือคุณพ่อเรย์ มอนด์ เบรนเนน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ก่อนคิดจริงจังกับการสร้างแบรนด์ 
 
“ที่มาของแนวคิดเริ่มมาจากช่วงสิบปีหลังมานี้ เงินบริจาคลดน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้กรรมการมูลนิธิฯ เกิดความคิดที่จะนำเอาหน่วยบริการและร้านค้าจำหน่ายที่เรามีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำเป็นรูปแบบธุรกิจจริงจังมาทำเป็นกิจการเพื่อสังคมเพื่อให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้มูลนิธิฯ มีเงินมาใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนพิการ จึงเขียนแผนงานไปเสนอสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม (สกส.) จนได้รับการสนับสนุนมาหลายหน่วยธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ ร้านเบเกอรี ซึ่งเราเปลี่ยนชื่อเป็นร้านเรย์คาเฟ่มาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งมาปรับปรุงร้านจริงจังในช่วงปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้มีมาตรฐานมากขึ้น มีการพัฒนาตัวสินค้า และการทำงานอย่างเป็นระบบ 
 
“เราตั้งชื่อร้านตามชื่อคุณพ่อเรย์ เพื่อระลึกถึงท่าน แต่ตัวสินค้าเราใช้ชื่อแบรนด์ Half n’Half เพื่อเป้าหมายในการต่อยอดธุรกิจ ต้องการสื่อถึงลูกค้าที่มากินดื่มที่ร้านว่า สิ่งแรกที่ท่านจะได้รับอย่างแน่นอนคือความอร่อย เหมือนรสชาติที่จะได้จากร้านกาแฟ หรือร้านเบเกอรีชื่อดังทั้งหลาย ขณะเดียวกันการที่ท่านเข้ามาอุดหนุนร้านเรา นั่นคือท่านได้ให้โอกาสคนพิการเหล่านี้พิสูจน์ความสามารถของตัวเอง เป็นการให้โดยที่ท่านเองก็ได้รับสิ่งที่มีคุณค่าตอบสนองความต้องการของท่านด้วย พูดง่ายๆ ก็คืออร่อยทางปาก และยังได้ความสุขทางใจไปด้วย เป็นการพบกันครึ่งทางตามความหมายของชื่อแบรนด์” 
 
สุเมธบอกว่า จุดขายของเบเกอรี Half n’Half ไม่ใช่ความเป็นร้านเบเกอรีของคนด้อยโอกาสทางสังคมที่ลูกค้าจะเข้าร้านมาอุดหนุนเพราะความสงสาร หากแต่เป็นความมุ่งมั่นพยายามที่จะทำขนมออกมาให้รสชาติอร่อยถูกปาก จนลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำเพราะติดใจในรสชาติ ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาไม่เพียงสามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยหารายได้มาใช้ในการพัฒนาเพื่อนผู้พิการคนอื่นๆ ในมูลนิธิฯ ด้วย 
 
“Half n’Half มีวัตถุประสงค์โดยตรงในเรื่องของการเป็นศูนย์ฝึกทักษะให้กับเด็กพิเศษทางด้านสติปัญญาเพื่อให้ไปทำงานร้านเบเกอรีทั่วไป ซึ่งเป็นบริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันรายได้ที่ได้รับหลังหักเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าตอบแทนพนักงาน และต้นทุนวัสดุจัดทำแล้ว เรานำเอากำไรที่เหลือมาใช้สนับสนุนกิจกรรมอื่นของศูนย์ดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งมีเด็กบกพร่องทางปัญญาที่อยู่ในความดูแลประมาณ 150 คน ซึ่งจริงๆ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนร่วม 2-3 แสนบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทุกเดือน ขณะที่ยอดเงินบริจาคไม่ได้มีต่อเนื่องทุกเดือน 
 
“ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่อยู่ในภาวะฝืดเคือง ทำให้การรับบริจาคหรือการขอให้คนมา ‘ให้’ ด้วยความสงสารมีข้อจำกัดมากขึ้น คนทั่วไปมีรายได้แค่พอกินพอใช้ การจะให้อะไรคนอื่นหรือต้องบริจาคอะไรให้ใครบางทีก็ต้องคิดมากขึ้น แต่ถ้าจ่ายเงินเพื่อแลกกับสิ่งที่เขากินได้ดื่มได้ก็อาจตัดสินใจ ‘ให้’ ได้ง่ายขึ้น ส่วนตัวคนพิการถ้าได้ทำอะไรสักอย่างมาจำหน่ายก็รู้สึกดีมีความสุข อย่างน้อยเราก็มีศักดิ์ศรีมีความภูมิใจที่เราไม่ได้ขอเขากินเฉยๆ คือเราก็ทำงานเหมือนกับคนอื่นๆ เขาซื้อของเรากินก็เหมือนกับซื้อคนอื่น แต่อาจจะมีข้อได้เปรียบมากกว่าตรงที่ลูกค้าเห็นเราเป็นอย่างนี้ก็เลยมาช่วยเรามากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะใช้ความพิการมาเป็นจุดขายของแบรนด์สินค้าเบเกอรี ผมเชื่อมั่นว่าความอร่อยของเราก็ไม่แพ้ใคร ปัจจุบันเรามีเชฟมากฝีมือผ่านการทำงานจากแอมบาสเดอร์มาร่วมงานด้วย ฉะนั้นการันตีได้ว่าความอร่อยแทบไม่ได้แตกต่างจากร้านทั่วๆ ไปเลย”


 
สุเมธบอกว่า ความเป็นกิจการเพื่อสังคมทำให้ร้านมีความจำเป็นต้องแสวงหาผลกำไรเช่นเดียวกับร้านเบเกอรีแบรนด์อื่น เพียงแต่เป้าหมายสุดท้ายที่มุ่งหวังจะแตกต่างไปจากธุรกิจทั่วไป ดังนั้น การวางแผนธุรกิจเพื่อให้ผลกำไรเติบโตจึงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
 
“หลังปรับปรุงร้านครั้งแรกจากเฟรนด์คาเฟ่ มาเป็นเรย์คาเฟ่ เราขายผ่าน 3 ช่องทาง คือนอกจากขายที่ร้านในมูลนิธิฯ แล้ว ก็ขายส่งให้กับร้านกาแฟในพัทยา และบริการในงานอบรมสัมมนาด้วย ซึ่งพัทยาถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานสัมมนาอยู่บ่อยครั้ง ตอนหลังก็เริ่มมีจัดทำเป็นบ็อกซ์เซ็ต และกระเช้าจำหน่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายของเราค่อนข้างน้อย ยังไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการสนับสนุนงานศูนย์เด็กพิเศษที่เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยรายได้ประมาณ 80% มาจากการขายของหน้าร้าน อีก 20% เป็นรายได้จากการขายบ็อกซ์เซ็ต และกระเช้า ซึ่งปัจจุบันขายได้เพียงแค่ 100-200 กล่องต่อเดือน อนาคตอยากมียอดขายส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000-2,000  กล่องต่อเดือน
 
“แผนการตลาดนับจากนี้ไปเราจะเน้นเพิ่มสัดส่วนยอดขายตรงบ็อกซ์เซ็ตและกระเช้ามากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพการขาย โดยตอนนี้เรามีส่งขายในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ซึ่งลูกค้าจะต้องโทร.สั่งล่วงหน้า 2-3 วัน ราคาในส่วนบ็อกซ์เซ็ตเริ่มตั้งแต่ 35 บาท ไปจนถึง 65 บาท ในหนึ่งชุดจะมีขนม และเครื่องดื่ม ส่วนกระเช้าราคาขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า นอกจากเพิ่มสัดส่วนการขายบ็อกซ์เซ็ตและกระเช้าแล้ว เรายังมีแผนจะขยายสาขาร้านเรย์คาเฟ่ออกไปนอกมูลนิธิฯ ด้วย เพียงแต่ตอนนี้ยังติดข้อจำกัดอะไรหลายๆ อย่างทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในทันที”
 
สุเมธกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า Half n’ Half คือการพบกันครึ่งทางของ “การให้และรับ” ซึ่งช่วยเปลี่ยนมิติของการให้เป็นการแบ่งปันในรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งหากผู้ที่สนใจลิ้มลองรสชาติที่ได้ทั้งความอร่อย และความสุขใจ ก็สามารถมาแวะมาอุดหนุนได้ที่มูลนิธิฯ ตั้งอยู่ถนนสุขุมวิท กม.145 ฝั่งขาออกพัทยาก่อนถึงบุญถาวร หรือโทร.สั่งบ็อกซ์เซ็ตได้ที่ 0-3871-6628 ต่อ 8144  


ที่มา : วารสาร K SME Inspired ธนาคารกสิกรไทย

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน