Workshop Studio ธุรกิจทำเงินในยุคที่คนชอบค้นหาตัวตน

Text : กองบรรณาธิการ


     ปัจจุบันกิจกรรมประเภท Workshop หรือ DIY ต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นคอร์สฟรี หรือเสียเงิน อาจเป็นด้วยค่านิยมการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่รักอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ การแสวงหากิจการเล็กๆ ของตัวเองทำ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ดำเนินชีวิตในรูปแบบที่ต้องการได้ อีกทั้งคนยุคใหม่ยังต้องการที่จะค้นหาตนเอง หรือแสวงหาในสิ่งที่ชอบด้วย ฉะนั้นกิจกรรม Workshop จึงดูเหมือนว่าจะเป็นทางลัดในการช่วยค้นหาตัวตนและสร้างทางเลือกให้กับตนเองได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่โอกาสทางธุรกิจ Workshop Studio ที่เติบโตขึ้นมาในเวลานี้







     จากการเปิดเผยของ นิธิวิทย์ ชาติทรัพย์สิน ครีเอทิฟหนุ่ม เจ้าของผู้ก่อตั้ง The Cave Workshop Studio หนึ่งในธุรกิจ Workshop Studio ที่โดดเด่นด้วยด้วยรูปแบบวิชาเรียนที่มีให้เลือกหลากหลายและแปลกใหม่ โดยมองว่าในยุคของโซเซียลมีเดีย Workshop ถือเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาใหม่ และกลายเป็นโอกาสให้กับธุรกิจนี้ โดยหลักสูตรของที่นี่จะออกแบบวิชาเรียนเป็นระยะสั้นที่สามารถเรียนรู้ได้เพียง 1 วัน


    “เรามองว่าคนยุคปัจจุบันนี้ต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็ว คือ มาเรียนปุ๊บ ก็อยากทำเป็นเลย เข้าใจได้เลย ไม่ได้อยากเรียนถึงขั้นเป็นช่าง แค่สามารถเอาไปต่อยอดได้ก็พอ เพราะถึงเวลาทำจริงเขาคงไม่ได้ทำเองทุกขั้นตอน อีกอย่างผมมองว่า บางคนเขาอาจจะแค่อยากลองเรียนรู้งานดูก่อน ว่าใช่สิ่งที่เขาชอบหรือเปล่า แล้วค่อยเลือกอีกที ดังนั้น เราจึงจัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้นขึ้นมา ให้สามารถเรียนรู้ได้ภายใน 1 วัน ซึ่งจริงๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากความต้องการของตัวเองด้วย เพราะก่อนจะมาเปิดสอนเวิร์กช็อป ผมเองก็เคยอยากลงเรียนทำเครื่องหนังมาก่อน แต่ในตอนนั้นไม่มีอย่างที่เราอยากเรียน มีเป็นคอร์สระยะยาวไปเลย ค่าเรียนก็สูง เราทำงานประจำด้วย ไม่สามารถไปเรียนได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้อยากทำสถานที่เรียนเวิร์กช็อปในรูปแบบที่เราต้องการ ซึ่งผมมองว่าก็คงมีคนอื่นที่ต้องการเหมือนผมเช่นกัน







    เมื่อเราตั้งใจออกแบบมาให้สามารถเรียนรู้ได้ใน 1 วันแล้ว เราจะบอกวิธีที่ถูกต้องให้เขาเลย ไม่ต้องเสียเวลามาลองผิดลองถูก อะไรที่เสียเวลา ไม่จำเป็นก็ตัดออก เช่น วิชาสอนย้อมผ้า เราก็สอนเทคนิคการย้อมไปเลยว่าพับแบบไหนจะได้ลายออกมาแบบไหน ควรเลือกผ้ายังไง ใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้าง แต่จะไม่สอนให้นำผ้ามาสร้างเป็นชิ้นงาน เรามองว่าตรงนั้นเขาสามารถเรียนรู้ได้ในภายหลัง เรียนที่นี่เราไม่ได้เน้นว่า มาเรียนแล้วจะต้องได้ของกลับไปกี่ชิ้น แต่เน้นสอนให้เขาทำเป็นมากกว่า อีกอย่างราคาที่สอนของเราก็ไม่แพง แต่ละวิชาเราตั้งไว้ว่าจะพยายามไม่ให้เกิน 2,000 บาท ซึ่งผมมองว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ใครๆ ก็สามารถเรียนได้ หรือใครอยากมาลองเรียนซ้ำหลายๆ วิชา ก็ทำได้ เพราะราคาไม่แพงเลย” 





    

     นอกจากการออกแบบวิชาเรียนต่างๆ ที่สามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาอันสั้นแล้ว จุดเด่นสำคัญอีกอย่างของ The Cave Workshop Studio วิชาเรียนที่หลากหลาย ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้มีผู้สนใจมาลงเรียนกันมาก


     “เราค่อนข้างมีวิชาให้เลือกเรียนที่หลากหลาย ซึ่งมีทั้งของไทยและจากต่างประเทศ ครูผู้สอนของเรา เราไม่ได้เน้นศิลปินที่มีชื่อเสียงอะไร แต่เลือกจากสิ่งที่คิดว่าน่าสนใจและเหมาะกับผู้คนในยุคนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ประกอบอาชีพหรือทำงานด้านนั้นอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ได้มีวิชาเรียนที่หลากหลายแล้ว ในทางกลับกันเรายังได้ช่วยสร้างให้เกิดพื้นที่ยืนแก่คนที่มีฝีมือ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงด้วย ซึ่งหลายคนพอได้มาสอนที่เรา ก็ได้ทำให้เขาสามารถเห็นแนวทางของตัวเองและไปต่อได้”




Cr : The Cave Workshop Studio



     นอกจากสอนประจำในวันเสาร์-อาทิตย์แล้ว ในวันธรรมดาที่ไม่ได้เปิดสอนนั้น นิธิวิทย์ยังรับทำ Workshop ให้กับบริษัทต่างๆ ด้วย รวมถึงกรุ๊ปทัวร์จากต่างประเทศ เพื่อเป็นกิจกรรมเสริมระหว่างมาท่องเที่ยว เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มเติมขึ้นมานอกจากการเป็น Workshop Studio เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ เขายังได้วางอนาคตของ The Cave ไว้ด้วยว่า วันหนึ่งอยากจะทำเป็นโปรดักชั่นเฮาส์เล็กๆ ขึ้นมา เพื่อรับผลิตงานให้กับคนที่สนใจอยากเริ่มต้นธุรกิจในรูปแบบงานต่างๆ


     “ตอนนี้คนเริ่มสนใจเปิด Workshop Studio กันมากขึ้น อาจเพราะความเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ และสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แค่มีโต๊ะใหญ่ ไฟ 3 ดวง ก็เปิดได้แล้วเหมือนที่หลายคนชอบพูดกัน ปีนี้น่าจะมีประมาณ 50 กว่าสตูดิโอ ปีหน้าอาจจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อย ซึ่งผมมองว่าใครที่สนใจก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องพยายามรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ด้วย เพราะยังไงก็ถือเป็นสถาบันการศึกษาอย่างหนึ่ง คิดจะเปิดขึ้นมาง่ายๆ เป็นแฟชั่นเหมือนร้านกาแฟคงไม่ได้ ทุกอาชีพทุกธุรกิจย่อมมีตัวจริง วันหนึ่งหากใครที่ไม่ใช่ตัวจริงก็ต้องถอยไป ผมว่าผู้บริโภคฉลาดขึ้นเยอะ แต่เราเองก็ต้องทำตัวให้เป็นผู้น่าเลือกด้วย ซึ่งทาง The Cave เราวางแนวทางใน 1-2 ปีข้างหน้าไว้แล้วว่า แม้เราเองก็อาจจะมีถดถอยไปบ้าง แต่ด้วยความหลากหลายที่เรามี วันหนึ่งเราอาจจะเปิดเป็นโปรดักชั่นเฮาส์เล็กๆ ขึ้นมา รับผลิตของให้กับคนที่เขาอยากเริ่มต้นธุรกิจ สมมุติอยากผลิตกระเป๋าอาจจะลองทำออกมาก่อนสักแบบละใบสองใบ เอาไปถ่ายรูปเพื่อโฆษณา แล้วเปิดรับพรีออร์เดอร์ พอได้ยอดมาก็ค่อยมาสั่งทำเยอะๆ ซึ่งเรามีครูมีช่างของตัวเองแล้ว วันหนึ่งแม้จะไม่มีนักเรียนมาเรียนกับเรา เราก็ยังอยู่ได้”



Cr : The Cave Workshop Studio



    ฟังดูเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ ที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการไลฟ์สไตล์อีกรูปแบบหนึ่งของผู้บริโภคในยุคนี้ได้ แต่จะเป็นแค่ธุรกิจแฟชั่น หรือจะเป็นตัวจริง คงต้องทำเหมือนอย่างที่นิธิวิทย์แนะนำเอาไว้ ด้วยการพยายามรักษามาตรฐานและคุณภาพของตัวเองไว้ให้สมกับเป็นธุรกิจที่ให้ความรู้และพัฒนาคน



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน