กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผสานพลัง Chevron ปั้นช่างเทคนิค 4.0 รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย




     กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต จัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านยานยนต์” หรือ TVET Automotive Hub ที่ จังหวัดชลบุรี มุ่งปั้น “ช่างเทคนิค 4.0” รองรับนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เติมทักษะปิดจุดอ่อนแรงงาน ตอบโจทย์แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC

     นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า แรงงานนับเป็นหนึ่งกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีการผลิตพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยมุ่งพัฒนาสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและรักษาตำแหน่งผู้นำฐานผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นการพัฒนาให้แรงงานและนักเรียนอาชีวะที่จะเข้าสู่การทำงานในภาคอุตสาหกรรมมีทักษะและความรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

     ด้วยเหตุนี้ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม รวมถึงการพัฒนานักเรียนอาชีวศึกษาและบุคลากรสายอาชีพให้มีทักษะตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านยานยนต์ หรือ TVET Automotive Hub” เพื่อยกระดับทักษะแรงงานให้เป็นช่างเทคนิค 4.0 ขึ้นที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เพราะภาคตะวันออกถือว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เพื่อให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นฟันเฟืองสำคัญยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทย ลดความเหลื่อมล้ำด้านทักษะแรงงาน ทั้งสามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC
 
     นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า บทบาทสำคัญของศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านยานยนต์ (TVET Automotive Hub) มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ การส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ โดยจัดหลักสูตรพัฒนาครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และครูด้านเทคนิคของสถาบันอาชีวะในเครือข่าย ซึ่งเป็นผู้ที่จะนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้นักเรียนอาชีวะเพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับช่างเทคนิครุ่นใหม่ โดยเป็นการนำหลักสูตรของสถาบันที่ใช้พัฒนาช่างเทคนิคสู่กลุ่มแรงงานทักษะขั้นสูงของประเทศออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมาผสานกับหลักสูตรของสถาบันไทย - เยอรมัน ซึ่งมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กัน ขณะเดียวกันได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดอบรมครูด้านเทคนิคของสถาบันอาชีวะ เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างระบบแมคคาทรอนิกส์และออโตเมชั่น

     นอกจากนี้ ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านยานยนต์ ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนอาชีวะเข้ามาเสริมสร้างประสบการณ์ โดยใช้พื้นที่ของศูนย์ฯ ซึ่งมีพร้อมทั้งอุปกรณ์การฝึกจนถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านพื้นที่และเครื่องมือของวิทยาลัยเทคนิคที่อาจขาดแคลนหรือมีอย่างจำกัด

     นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า TVET Automotive Hub บริหารงานภายใต้คณะกรรมการจาก 8 หน่วยงาน โดยมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งมีความพร้อมทั้งเครื่องมือฝึกทักษะฝีมือและเทคนิควิชาชีพด้านยานยนต์ที่ทันสมัยสุดในประเทศ สามารถรองรับการพัฒนาแรงงานฝีมือภาคตะวันออกปีละกว่า 5,000 คน ทำให้มั่นใจว่า TVET Automotive Hub จะสามารถผลิต “ช่างเทคนิค 4.0” รองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมภาคตะวันออก แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งด้านคุณภาพและปริมาณได้ นอกจากป้อนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยังครอบคลุมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องตามแผน EEC อาทิ ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น ทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการนำประเทศสู่การมีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกด้วย

     ทั้งนี้ 8 หน่วยงานที่ร่วมในการบริหาร TVET Automotive Hub ประกอบด้วย โครงการ Chevron Enjoy Science:  สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี สถาบันยานยนต์ สถาบันไทย - เยอรมัน วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บริษัท ไทยซัมมิท ออโตโมทีฟ จำกัด และ บริษัท แสงเจริญทูลส์ เซ็นเตอร์ จำกัด ภายใต้รูปแบบ “รัฐร่วมเอกชน”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน