ออกงานแฟร์เมืองจีนยังไง ให้ได้ยอดขายกลับมา

Text : กองบรรณาธิการ



     จีน นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 และยังถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้ว ทั้งพื้นที่และจำนวนประชากรซึ่งมีมากกว่าเราถึง 20 เท่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ประกอบการไทยต้องการที่จะเข้าไปหมายมั่นลงทุนหรือส่งสินค้าไปขายยังประเทศจีน แต่ก็ใช่จะสมความปรารถนาของทุกคน โดยเฉพาะมือใหม่หัดขับอย่าง SME ที่เพิ่งออกตลาดจีนเป็นครั้งแรก ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของการไปทัวร์ดูงานแสดงสินค้า บางคนรุ่ง บางคนล่วง สาเหตุก็ต่างกันไป เราจึงนำเคล็ดลับในการออกงานแฟร์อย่างมีชั้นเชิงจากผู้เชี่ยวชาญ อย่าง วินัย พรพิทักษ์สิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Guangzhou Chenzhuo Jewelry และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าการลงทุนในประเทศจีน และยังเป็นนักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี ในประเทศจีน มาแชร์ข้อมูลที่จำเป็นในการออกงานแฟร์ในประเทศจีนให้รู้กันแบบถึงลูกถึงคน
 






นำสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนอย่างไรดี



    วินัย พรพิทักษ์สิทธิ์  กล่าวว่า การนำสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน สามารถทำได้ หลักๆ มี 2 ทาง คือการนำเข้าสินค้าโดยร่วมงานแสดงสินค้าหรือจับคู่ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดโดยทางรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลจีน อีกทางก็คือ การเข้าไปทำธุรกิจแบบหาคู่ค้าเอง ไปเปิดบริษัท แต่การจะทำแบบที่สองได้นั้น ขอแนะนำให้ผ่านแบบที่หนึ่งไปก่อน คือต้องไปดูงาน


     “ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มต้นจากการติดต่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือจับคู่ธุรกิจ จากผู้จัดงานหรือออแกไนเซอร์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น ย้ำว่าต้องเป็นผู้จัดที่น่าเชื่อถือจริงๆ เพราะไม่เช่นนั้น ท่านอาจจะถูกลอยแพ เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย โดยกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นในการออกงานแฟร์ที่เมืองจีนนั้น เมื่อท่านติดต่องานแฟร์ได้แล้ว สิ่งที่ท่านต้องทำ คือการวางแผนที่จะเข้าไปร่วมงานแฟร์ โดยการจัดเตรียมสินค้า จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก ซึ่งขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้สำคัญทั้งหมด แม้กระทั่งการจองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก ท่านต้องรู้กำหนดที่ชัดเจนว่า งานจริงเริ่มวันไหน เขาให้เข้าไปจัดบู๊ธได้วันไหน แล้วเมืองที่จัดงานเป็นเมืองอะไร เพราะบางเมืองมีเที่ยวบินแค่เที่ยวเดียวต่อวันเท่านั้น อย่าชะล่าใจจองตั๋วอาทิตย์สุดท้ายก่อนไปงาน ต้องเผื่อเครื่องดีเลย์ เที่ยวบินเต็มไว้ด้วย หรืออย่างที่พัก ผมแนะนำให้หาใกล้ๆ ที่จัดงานดีที่สุด ท่านอาจติดต่อกับผู้จัดงานก่อนก็ได้เพราะเขาอาจเตรียมไว้ให้ อย่าได้หาที่พักราคาประหยัด แต่อยู่ไกลจากที่จัดงานเพราะท่านอาจต้องเสียค่าแท็กซี่หรือค่าเดินทางรวมแล้วแพงกว่าโรงแรมดีๆ เสียอีก”
 

ลุยงานแฟร์เต็มขั้นตอน


    “เมื่อท่านผ่านขั้นตอนเรื่องตั๋วกับที่พักเรียบร้อยแล้ว ท่านต้องเตรียมสินค้าเพื่อส่งสินค้าไปรอที่งานแฟร์ก่อน เมื่อถึงกำหนดท่านบินไป สินค้าต้องไปถึงแล้ว ฉะนั้นการจัดส่งสินค้ามาแฟร์ต้องคำนวณระยะเวลาในการจัดส่งให้ดี ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ บางงานระยะทางไกลมากต้องใช้เวลาส่งเป็นเดือน ควรเผื่อเวลาไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นของจะไม่ถึง ที่สำคัญหีบห่อต้องแน่นหนา กันน้ำ กันกระแทก กันหัก เพราะไม่มีใครรักสินค้าท่านเท่าท่านเอง ผมเจอผู้ประกอบการหลายรายแล้ว เวลารับสินค้าแล้วนั่งร้องไห้ แตกหมดเลย เป็นขวดแก้วใส่ลังกระดาษ ทะลุลงมาหมดเลย ฉะนั้นต้องจัดการดีๆ
     

    ที่ลืมไม่ได้คือ ท่านต้องมีที่อยู่จัดงานภาษาจีน หมายเลขฮอลล์จัดงาน วันที่ต้องการให้สินค้าไปถึง ไม่ใช่วันที่ขาย อยากให้สินค้าไปถึงเมื่อไหร่ต้องกำหนดไปให้ชัด ชื่อผู้รับสินค้า เบอร์โทร ท่านต้องให้เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ที่ประเทศจีนไว้ให้กับผู้ส่ง เพราะผมเห็นหลายรายแล้วเช่นกัน ที่ไม่รู้จะให้เบอร์อะไร ก็ให้เบอร์หลอกๆ ไป เขาก็จะไม่ส่งให้ เพราะเขาติดต่อท่านไม่ได้ เขาจะโทรก่อนที่จะส่งสินค้าว่า คนรับอยู่ไหม มีตัวตนหรือเปล่า ท่านอาจจะใช้เบอร์ล่ามก็ได้ หรือเบอร์ผู้จัด ออแกไนเซอร์ที่แนะนำเราไป เอกสารใบส่งของ ต้องตรวจสอบให้ดี”


     นอกจากหลักใหญ่ๆ แล้ว การกลับมามองที่ตัวสินค้าก็สำคัญไม่แพ้กัน วินัย บอกว่า สินค้าที่ดีนอกจากคุณภาพของตัวสินค้าแล้ว บรรจุภัณฑ์สำคัญมากๆ ผู้ประกอบการจะต้องแสดงตราสินค้าที่ชัดเจน มีคำอธิบายการใช้งานเป็นภาษาจีน มีหมายเลขติดต่อ เพื่อประโยชน์ทางการค้าของตัวผู้ประกอบการเอง


     “มีลูกค้าเก็บถุงขนมของคนไทยไว้ 5 ปี เขามาเดินงานแฟร์ เข้ามาถามผมว่า ขนมนี้ซื้อได้ที่ไหน แม้เราจะเป็นคนไทยเองก็ไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้บอกที่ติดต่อเอาไว้เลย เรื่องพวกนี้สำคัญ รายละเอียดอื่นๆ เช่น ตัวอย่างสำหรับทดลอง แผ่นพับ โปสเตอร์ เตรียมไปให้หมด หรือการทำแพ็คเกจจิ้ง บอกเลยว่าของไทยสู้ไต้หวันไม่ได้ ของไต้หวันแพ็คเกจจิ้งสวยมาก แต่รสชาติของเขาอาจจะสู้เราไม่ได้ แต่มันเป็น first impression


    ส่วนรายละเอียดยิบย่อย มีอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือต้องเตรียมทุกสิ่งอย่างไปให้พร้อม ทั้ง มีด ปลั๊กพ่วง ไฟ ปากกา กระดาษ รวมถึงน้ำดื่ม บางงานไม่มีอะไรขายเลย ไม่มีน้ำจะดื่ม ต้องมาแบ่งๆ กัน โต๊ะ ตู้ ชั้น หรือล่ามช่วยขายสามารถประสานงานกับผู้จัดได้ ที่สำคัญคือท่านต้องประสานงานขอบัตรเข้างาน บัตรล่าม ไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะถ้าไปขอวันจัดงานท่านจะเสียเวลามาก คนอื่นเขาขายกันไปแล้ว ท่านยังต้องมาเสียเวลาขอบัตร


     ที่สำคัญอย่าลืมเตรียมเงินหยวนไว้เป็นค่าใช้จ่าย ค่ารถ ค่ากินไว้ด้วย ผมเจอมาแล้วกับตัวเอง มีผู้ประกอบการไปงานทั้งครอบครัว ทั้งคุณแม่อายุ 70 กว่า นั่งอยู่ในงานสีหน้าไม่ดีเลย พอผมจัดบู๊ธเสร็จก็เดินแวะไปทักทาย เลยทราบว่าเขาไม่มีเงิน ค่าโรงแรมก็ไม่มีจ่าย ผมถามว่าแล้วคุณมาได้ไง เขาบอกมีบัตรเครดิตการ์ดที่ใช้ในจีน สุดท้ายก็ให้ยืมเงินไปก่อนขายได้ค่อยเอามาคืน ดังนั้นควรจะคำนวณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นแล้วแลกเงินหยวนไว้บ้าง เพราะไม่ใช่ทุกงานจะขายได้ หรือสินค้าทุกตัวจะขายได้หมด”


     อีกขั้นตอนหนึ่งของการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าคือ การตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าของจีน ปัจจุบันสินค้าทุกตัวสามารถเปิด FORM-E ได้ (แหล่งกำเนิดสินค้า) ประเทศไทยได้รับยกเว้นเรื่องภาษี ไม่มีภาษีนำเข้า จะมีเพียงต้นทุน VAT 17 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือว่าค่อนข้างแพง


     “เมื่อท่านทำการค้าแล้ว ต้องเช็คด้วยว่าสามารถโอนเงินระหว่างกันได้หรือไม่ ด้วยวิธีใด แต่จริงๆ แล้วสามารถทำได้โดยผ่านสถาบันการเงินของไทย ซึ่งปัจจุบันมีสาขาอยู่ที่เซินเจิ้น อีกสิ่งที่ผมอยากแนะนำคือ ท่านต้องมีเครื่องตรวจสอบเงินปลอมด้วย เนื่องจากเงินปลอมในจีนมีจำนวนมาก ส่วนเรื่องธนาคาร บัตรเครดิต ส่วนใหญ่ในงานจะมีธนาคารหรือผู้ประกอบการไทยหรือจีนที่รับรูด สามารถเคลมกันได้วันต่อวัน พอสิ้นวันเขาก็จะให้เงินเลย หักค่าธรรมเนียม 1 – 3เปอร์เซ็นต์”


     ทั้งหมดนี้ เชื่อว่าหากคุณเตรียมตัวให้พร้อมเป็นอย่างดี ไปออกงานแฟร์ที่จีนคราวหน้า ไม่พลาดออร์เดอร์แน่นอน


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี






 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย