กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดตัว IDEA HOUSE โครงการนำร่องสนับสนุนการออกแบบ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าทางอุตสาหกรรมให้กับภูมิภาค โดยคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าจากการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ให้สินค้าได้ 3-5 เท่า สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5-10
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาลและยกระดับความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้กระจายสู่ระดับภูมิภาค กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ข้อสำคัญด้วยการส่งเสริมการออกแบบให้เกิดขึ้นกับธุรกิจอุตสาหกรรมในทุกมิติ โดยล่าสุดได้จัดตั้งโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและการออกแบบ หรือโครงการ “IDEA HOUSE” นำร่องชึ้นในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน โดยจัดขึ้นเพื่อพัฒนาทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้ตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบแฟชั่น การออกแบบกราฟฟิก การออกแบบดิสเพลย์ การจัดวางสินค้าให้น่าสนใจ การเรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับนักออกแบบในสาขาที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ
โครงการดังกล่าวยังมุ่งสร้างพื้นที่ให้กับนักศึกษาได้แสดงพลังทางความคิดนอกห้องเรียน และได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากผู้ประกอบการบนพื้นฐานของกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์และสามารถนำภูมิปัญญาและเอกลัษณ์ท้องถิ่นมาปรับใช้กับความรู้ที่ได้รับเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและมูลค่าของสินค้าที่สูงขึ้น ต่อเนื่องถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคการผลิตสู่ภาคบริการและการท่องเที่ยว ทั้งยังจะเป็นการผลักดันให้กลุ่มจังหวัดดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการพัฒนาฐานความรู้และปัจจัยพื้นฐานตลอดจนเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้ต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและการออกแบบ หรือ IDEA HOUSE ประกอบไปด้วย 4 กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1.กิจกรรมพัฒนานักออกแบบเพื่อผู้ประกอบการ (Design Savvy) เป็นกิจกรรมจับคู่ระหว่างนักออกแบบและ SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชนจำนวน 100 คู่ เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานและผลักดันผลงานใน 4 ด้านคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบแฟชั่น การออกแบบกราฟฟิก และการออกแบบดิสเพลย์
2.กิจกรรมปลุกพลังสร้างสรรค์กระตุ้นคลังความคิด (Creative Think Tank) กิจกรรมในรูปแบบเวิร์คช็อประยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชนที่มุ่งเน้นให้ได้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ ออกแบบ และนวัตกรรม ที่สามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับองค์กร
3.กิจกรรมสนามประลองความคิดเพื่อสร้างนักคิดรุ่นใหม่ (Creative Amateur Playground : CAP) กิจกรรมเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและฟื้นฟูย่านหัตถกรรมที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยคัดเลือกนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดจับคู่กับ SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เป้าหมายสร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่และการพัฒนาย่านหัถตกรรมร่วมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก และสร้างโมเดลการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในอนาคต
4.กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นด้านการออกแบบ (Design Counseling) ดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นด้านการออกแบบให้แก่ SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และดำเนินการในลักษณะสัมมนากลุ่มย่อย ใน 4 ด้าน ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบแฟชั่น การออกแบบกราฟฟิก และการออกแบบดิสเพลย์โดยนักออกแบบมืออาชีพ พร้อมคัดเลือกวิสาหกิจ 25 กิจการพัฒนาต่อยอดสู่ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ต้นแบบบรรจุภัณฑ์ หรือต้นแบบชิ้นงานผ่านกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ต่อไป
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ.คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งนักออกแบบและนักศึกษาที่สนใจค้นหาประสบการณ์เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย อีกทั้งยังจะช่วยส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานของทรัพยากร วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน พร้อมเป็นเครื่องมือที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภควัยทำงาน นักท่องเที่ยว และนักลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อันจะเป็นหนทางในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาค ซึ่งเมื่อโครงการฯแล้วเสร็จยังคาดการณ์ไว้อีกว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าจากการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ให้สินค้าได้ประมาณ 3-5 เท่าของสินค้าปกติ และคาดว่าจะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบน 1 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5–10
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันสินค้าและบริการไทยให้เป็นที่ยอมรับและสร้างมูลค่าในช่องทางตลาดให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าที่มีการออกแบบและความน่าเชื่อถือที่สามารถแข่งขันได้ในระดับเวทีโลก อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาการดำเนินการส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ข้างต้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพบว่ายังมีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมและหลายพื้นที่ที่กำลังประสบกับปัญหาการออกแบบอยู่เป็นจำนวนมาก โดยปัญหาหลักที่พบมีทั้งการขาดทักษะแนวความคิดสร้างสรรค์และไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการด้านการออกแบบ จำนวนบุคลากรด้านการออกแบบที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ ขาดการเชื่อมโยงและโอกาสในการพบปะระหว่างกัน นักออกแบบที่มียังขาดความรู้ความเข้าใจในการสื่อสารหรือดึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการส่งผลให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ รวมถึงกลุ่มที่เป็นนักคิดรุ่นใหม่ยังขาดโอกาสในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้สู่การปฏิบัติในสถานการณ์จริง
สำหรับในปัจจุบันทั้ง 4 จังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 มีผู้ประกอบการกว่า 160,000 ราย (ที่มา สสว.) มีกลุ่มอุตสาหกรรมหลักได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้างและเซรามิก มีมูลค่าอุตสาหกรรมกว่า 1.24 แสนล้านบาท และมียอดการเติบโตในพื้นที่กว่าร้อยละ 0.2-0.5 ต่อปี
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-245361-2 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี