'Too fast to sleep' คาเฟ่ของคนไม่หลับไม่นอน

 

     แจ้งเกิดจากการตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ผู้ไม่หลับไม่นอน “Too fast to sleep” ร้านกาแฟคอนเซ็ปต์ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงย่านสามย่าน จึงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปี นับตั้งแต่เปิดบริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 


จากไอเดียสนุกๆ ของดาราหนุ่ม “ต่าย” นัฐฐพนท์ ลียะวณิช และคุณอา “เอนก จงเสถียร” นักธุรกิจเจ้าของบริษัทเอ็มเอ็มพี ผู้ผลิตฟิล์มถนอมอาหาร M Wrap โดยแรงบันดาลใจของฝ่ายคุณอาซึ่งเคยมีประสบการณ์สมัยเรียนปริญญาโท หาที่ดีๆ อ่านหนังสือไม่ได้ต้องไปอ่านตามออฟฟิศหรือบ้านเพื่อนซึ่งแต่ละที่ล้วนไม่สะดวกในการใช้เวลาอ่านหนังสือนานๆ 


“Too fast to sleep” จึงเกิดขึ้นเพื่อทดแทนสิ่งที่เคยต้องการในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา โดยเชื่อว่าสถานที่อ่านหนังสือจำเป็นมากไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา สมัยไหนก็ตาม

 

ต่าย นัฐฐพนท์เล่าว่า เดิมคุณอา (อเนก จงเสถียร) ทำธุรกิจเปิดศูนย์อาหารสามย่านสเตชันอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีแผนจะขยายเปิดร้านกาแฟรูปแบบใหม่ จึงอาสาขอเข้ามาช่วยดูแลออกแบบดีไซน์คอนเซ็ปต์ทั้งหมด โดยคุณอารับบทบาทดูแลการบริหารด้านธุรกิจ   


“ตอนแรกที่คิดไว้คือเปิดเป็นร้านกาแฟ แล้วกลางคืนเปิดเป็นกึ่งๆ บาร์กึ่งๆ คาเฟ่ แต่ไปๆ มาๆ กลุ่มเป้าหมายใหญ่กลายมาเป็นนักศึกษา จึงเหมาะที่จะทำเป็นร้านกาแฟมากกว่า” 


“แรงบันดาลใจของผมคือชอบอะไรที่เป็นห้องสมุดมีหนังสือเยอะๆ ชอบวัสดุที่เป็นไม้ ชอบสีน้ำเงิน เดินเข้ามาแล้วรู้สึกนั่งสบายๆ คอนเซ็ปต์ คือ คล้ายอยู่ในโรงเรียนหน่อยๆ เหมือนไฮสคูล มีโลโก้เป็นนกฮูกใส่แว่นเหมือนตื่นตลอดเวลา”


ตัวอาคารของ “Too fast to sleep” ออกแบบในลักษณะคล้ายกล่องขนาดยักษ์  พื้นที่ภายในแบ่งเป็นสองชั้นโดยใช้สีน้ำเงินเข้มเป็นสีหลัก และวัสดุอย่างไม้สร้างความอบอุ่น ชั้นล่างแบ่งเป็นโซน Living Room ห้องนั่งเล่นชั้น 1 เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00-24.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา12.00-24.00 น. และโซน Secret Chamber ที่ออกแบบด้วยคอนเซ็ปต์ห้องใต้หลังคา เป็นคาเฟ่สำหรับนั่งรับประทานอาหาร ดื่มไวน์ ดื่มค็อกเทล เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00-24.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-24.00 น.

 

ส่วนพื้นที่ด้านบนแบ่งเป็นโซน Library ห้องอ่านหนังสือชั้น 2 เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และโซน Balcony ห้องระเบียงชั้น 2 เปิดให้บริการเวลา 15.00-24.00 น.

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ คือ  เรื่องการตกแต่งภายในซึ่งเจ้าของร้านตั้งใจให้ดูเหมือนห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือ มีที่นั่งสบายๆ ที่สามารถเอนตัวได้เมื่อต้องการและมีเอกลักษณ์ของร้านเป็นหนังสือสีน้ำเงิน ซึ่งถูกใช้เป็นสิ่งตบแต่งแทบจะทุกส่วนของร้าน แถมยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไอทีและอินเทอร์เน็ตแบบครบครัน รวมทั้งเครื่องดื่มและอาหารจานด่วนไว้บริการ 


ด้วยทำเลที่ได้เปรียบของ “Too fast to sleep” ซึ่งอยู่ใกล้สถานที่รถไฟใต้ดินสามย่าน และอยู่ตรงข้ามจามจุรีสแควร์ อยู่ใกล้สถาบันการศึกษาและโรงเรียนกวดวิชา อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำให้มีฐานลูกค้าเป็นเด็กรุ่นใหม่จำนวนมาก เด็กกลุ่มนี้ปรับตัวเร็ว ชอบลองของใหม่ และมีกำลังจับจ่าย

   “เวลาสามทุ่มที่นี่จะเป็นเวลาที่พีก มีลูกค้าแน่นร้านที่สุด ช่วงเปิดร้านแรกๆ มีปัญหาโต๊ะไม่พอนั่ง ทำให้ต้องกำหนดให้นั่งได้คนละหนึ่งชั่วโมงเพื่อให้คนอื่นได้มีโอกาสเข้ามาใช้บริการ เข้ามาแล้วไม่จำเป็นต้องสั่งอาหารก็ได้แล้วแต่ลูกค้า แต่นิสัยคนไทยจะขี้เกรงใจ ส่วนใหญ่เข้ามานั่งอ่านหนังสือก็จะต้องสั่งเครื่องดื่ม เมนูที่ขายดีกลับเป็นพวกน้ำผลไม้แทนที่จะเป็นกาแฟเพราะวันหนึ่งรับประทานได้หลายแก้ว” 

ที่มาของคอนเซ็ปต์ “Too fast to sleep” พระเอกหนุ่มต้นคิดไอเดีย บอกว่า “เพราะคอนเซ็ปต์ร้านเราคือเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง คือมันเร็วเกินไปหรือเปล่าที่คุณจะนอน สำหรับหลายๆ คนที่กลางคืนแล้วไม่รู้จะไปไหนก็จะมีร้านเราที่นี่อยู่เป็นเพื่อนคุณตลอด...”

 


“ถ้าให้นิยามถึงคำจำกัดความของ “Too fast to sleep” สำหรับผมคิดว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ฉีกรูปแบบร้านกาแฟในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ทั้งการลงทุนออกแบบตบแต่งร้านแบบห้องสมุด ขนาดของร้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 300 ตารางเมตร สามารถรองรับลูกค้าได้มากกว่า 100 คน รวมถึงรูปแบบการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงซึ่งยังไม่ค่อยมีร้านกาแฟลักษณะนี้ในเมืองไทย” 

    "ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่สมัยนี้รู้จักตัวเองมากขึ้น กล้าที่จะยอมรับว่าตัวเองชอบอะไรและชัดเจนว่าตัวเองเป็นผู้บริโภคในกลุ่มไหน ดังนั้น แค่คุณทำอะไรมาแล้วโดนใจคนสักกลุ่มหนึ่ง คุณก็จะมีลูกค้าเป้าหมายของคุณที่เป็นกลุ่มเฉพาะและเหมาะกับร้านของคุณ”


เป้าหมายต่อไป เจ้าของร้านหนุ่มมีไอเดียอยากตบแต่งร้านเพิ่มเติมให้ตรงกับความตั้งใจที่อยากทำเป็นแกลเลอรี่จัดแสดงและขายผลงานศิลปะ รวมทั้งจัดเทศกาลงานศิลป์รวมทั้งฉายหนังแอนิเมชั่น หนังอาร์ตฝีมือคนไทยรุ่นใหม่ นอกจากนี้ หากมีเวลาอยากขยายสาขาร้าน “Too fast to sleep” แห่งที่สองในทำเลอื่นๆ ตามมาในอนาคตอีกด้วย  

หลายคนอาจสงสัยและมีคำถามว่า ลงทุนขนาดนี้แล้วจะมีผลกำไรได้อย่างไร จะคุ้มกับการลงทุนหรือ? คำตอบสำหรับคำถามนี้ ตอบได้เพียงว่า “กำไรที่แท้จริง คือ ความสุขก็คุ้มแล้ว” 


  “ถามว่าอยู่ได้ไหม รายได้คืออยู่ได้ แต่มันคงไม่ได้ทำเงินอะไรมากมายประเภททำสองปีได้ขับรถพอร์ช เป็นธุรกิจที่เราทำด้วยความชอบและความสุขที่อยากจะทำมากกว่า ผมเชื่อว่าคนทำร้านกาแฟส่วนใหญ่กำไรไม่ค่อยมากหรอก แต่มันเป็นความสุขมากกว่า เวลาที่คนเข้ามาร้านแล้วมีความสุขเข้ามาคอมเมนต์ร้าน คือ ทุกคนรักมัน แค่นั้นผมโอเคแล้ว” 


  “ที่นี่เราบริหารเรื่องคนโดยแบ่งการทำงานเป็นสองกะ และดูแลต้นทุนแต่ละเมนูเป็นเท่าไหร่ และควรตั้งราคาสำหรับร้านเราเท่าไหร่เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของเราสามารถซื้อได้ มีความถี่ที่จะบริโภคและมาที่ร้านได้บ่อยๆ ระดับราคามีตั้งแต่ถูกจนถึงแพง เริ่มต้นตั้งแต่ 80 บาทไปจนถึงหลายร้อยบาท”  

 

  “ผมมองว่าการทำธุรกิจคือการบริหารให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายและรายได้มันอยู่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก อันนั้นใช่แต่คุณต้องเรียนรู้และพยายามวางมันเป็นพื้นฐานของการทำงาน แต่อย่าไปคิดย้ำๆ จนซีเรียส ผมเคยเป็นอย่างนั้นมาพักหนึ่งตอนทำธุรกิจอื่น กลุ้มใจกับยอดตัวเลขจนพลอยดึงเนื้องานให้ไม่ดีไปด้วย” 


  “ผมคิดว่าทุกอย่างถ้าเริ่มต้นจากความสุข มันจะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี และประสบความสำเร็จอย่างที่เราคาดไม่ถึง” ต่าย นัฐฐพนท์ ให้แง่คิด 

 

ที่มา : วารสาร K SME Inspired

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน