ทักทาย จากสินค้าแฟชั่นทอมือ สู่ธุรกิจเพื่อสังคม

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : กฤษฎา ศิลปชัย



     เพราะเชื่อว่าคิดแล้วลงมือทำจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางสู่ความสำเร็จ กัญจิรา ส่งไพศาล ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเปิดบริษัทของตัวเอง ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร เธอใช้ชื่อบริษัทว่า ธิ้งค์อะเดย์ อันหมายถึงคิดไอเดียไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงกับเรื่องราวความสำเร็จของเธอที่กว่าจะมาเป็น “ทักทาย” แบรนด์สินค้าแฟชั่นทอมือจากเส้นใยธรรมชาติที่หลายคนพูดถึงในวันนี้ 




    


    ย้อนกลับไปในวันที่เป็นจุดเริ่มต้น กัญจิราคิดแค่ว่าเธออยากหาผ้าใยไผ่ที่ไม่ยับง่ายมาตัดเสื้อผ้าขาย จนไปพบว่าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังศึกษาการผลิตเส้นใยไผ่ด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ผ้าไม่ยับง่าย แต่โชคร้ายที่ว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่มีใครหยิบมาทำอย่างจริงจัง ซึ่งกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนออกมาเป็นผ้าซับซ้อนยุ่งยาก ที่สำคัญคือต้องเริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เธอต้องลุยเดี่ยวด้วยตัวเอง โดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยในกระบวนการสิ่งทอ


     นอกจากต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และลองผิดลองถูกด้วยตัวเองแล้ว กัญจิราบอกว่าความยากอีกอย่างหนึ่งก็คือโรงงานผลิตตลอดกระบวนการล้วนมีขั้นต่ำในการรับผลิต ซึ่งเธอมองว่าเป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ หรือคนที่อยากเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ไม่สามารถเริ่มต้นได้ แต่เธอก็โชคดีที่ได้เงินทุนจากหลายหน่วยงานมาช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเงินทุนต่อเนื่องโดยไม่มีอะไรผูกมัดนอกจากบริษัทต้องได้คืนทุนกลับมาในระยะเวลาที่กำหนด และต้องรายงานผลประกอบการทุกปี 





     

     ทว่า กัญจิราเริ่มต้นธุรกิจ โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องการขาย หรือเรื่องการตลาดเลย คิดแต่เพียงว่าอยากจะผลิตเสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งช่วงแรกๆ เธอก็ไปหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องการผลิตเส้นใย ปั่นด้าย และทอผ้าออกมาเป็นผืน เมื่อทำสำเร็จและได้ตัดเสื้อผ้าออกมาขาย ผลปรากฏว่าเสื้อผ้าชุดแรกของเธอขายไม่ได้เลย แม้เนื้อผ้าจะดีและมีการตัดเย็บอย่างปราณีตก็ตาม นั่นเพราะ “ทักทาย” คอลเลคชั่นแรกมีราคาแพงลิ่ว เนื่องจากต้นทุนที่สูงตลอดกระบวนการผลิต


    เหตุนี้ผู้บริหารสาวจึงต้องหันกลับใส่ใจกับเรื่องต้นทุน ควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลต่อราคามากนักเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ เธอตัดสินใจลงพื้นที่ไปหาชาวบ้านต่างจังหวัดให้ช่วยทอมือให้ ซึ่งต้นทุนถูกกว่าทอในกรุงเทพฯ มาก หาดีไซน์เนอร์ใหม่ และหาทีมตัดเย็บเอง จนสามารถคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่รับไหว จึงเริ่มคิดถึงเรื่องการขายอย่างจริงจังอีกครั้ง


     กระนั้น ด้วยความที่เข้าใจว่าตลาดในเมืองไทยไม่ตอบรับเสื้อผ้าทอมือจากเส้นใยธรรมชาติ เธอจึงอยากหันไปลองตลาดต่างประเทศบ้าง ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่สถาบันสิ่งทอจัดโครงการโมเดิร์นไทยซิลขึ้น กัญจิราตัดสินใจนำเส้นใยทอผ้าเข้าร่วมประกวดในงานด้วย และได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงผลงานที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่สำคัญงานนี้ทำให้มีแบรนด์ดังอย่าง หลุยส์วิตตอง มาแสดงความสนใจในผ้าทอมือที่เธอสู้อุตสาห์ปลุกปั้นมาจนสำเร็จ ทำให้แผนการตลาดของทักทายเบนเข็มไปสู่เป้าหมายตลาดต่างประเทศแทน แต่ท้ายที่สุดก็พลาดหวังจากการออกบูธที่ญี่ปุ่นประเทศแรก







    กัญจิราจึงหวนกลับมาลองตลาดไทยอีกครั้ง คราวนี้เธอลงทุนไปเปิดบูธแรกที่เกสรพลาซ่า จัดเวิร์คช้อปดึงคนเข้าบูธ ซึ่งครั้งนี้ผลตอบรับออกมาดี มีคนเข้าบูธเยอะจนเธอมั่นใจว่ายังมีคนไทยที่ชอบเสื้อผ้าแนวนี้เพียงแต่ไม่มีใครหยิบขึ้นมาทำให้มันน่าสนใจ จึงลุยตลาดไทยเต็มตัว แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งตลาดต่างชาติไป


     นับจากจุดเริ่มต้นที่คิดเพียงแค่อยากมีธุรกิจของตัวเอง กระทั่งจับพลัดจับพลูเข้าไปอยู่ในวงการสิ่งทอจวบจนปัจจุบัน กัญจิรามีโอกาสได้คลุกคลีกับชาวบ้าน ที่สอนให้เธอได้รู้ว่ากำไรธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของเงินเสมอไป ถึงตอนนี้เป้าหมายของเธอเปลี่ยนไปจากเดิมมาก


    ภาพธุรกิจของเธอในวันนี้ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่โตที่มีพนักงานหลักพันหลักหมื่น หากแต่เป็นธุรกิจเล็กๆ ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการผลิต ที่สำคัญผลประกอบการไม่ใช่ผลกำไรที่ทำให้ธุรกิจเติบโต หากแต่เป็นความแข็งแกร่งของกลุ่มวัฒนธรรมสิ่งทอที่จะสืบสานไปสู่ลูกหลานของไทยต่อไป ซึ่งนอกจากการทำธุรกิจส่งเสริมรายได้ที่เป็นธรรมให้กับชาวบ้าน รวมทั้งการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยแล้ว กัญจิรายังแตกแนวคิดอีกหลายอย่างเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ในสังคมไทย 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จากมะม่วงกวน สู่ซอสมะม่วงหนึ่งเดียวในไทย ไอเดียคู่รักวัยเกษียณ สร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบท้องถิ่น

ซอสทัย ซอสปรุงรสที่ผลิตจากเนื้อมะม่วงหนึ่งเดียวในไทย ที่ช่วยสร้างสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วง

พาหุรัดดอทคอม ปั้นธุรกิจขายชุดไทยยังไง ให้ขึ้นแท่นเป็นร้านตัวท็อป

จากรุ่นคุณทวด ถึงทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ซึ่งบุกเบิกตลาดออนไลน์ ในวันที่ใครๆ ก็ไม่คุ้น แต่ทำไม? พาหุรัดดอทคอม ถึงสามารถก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในนามของเว็บไซต์ร้านขายชุดไทยสำเร็จรูปมาได้อย่างยาวนาน

ไม่ต้องเริ่มใหญ่แค่ “เข้าใจปัญหา” ข้าวดินดี และ Hair Rise 2 แบรนด์ไทยที่ใช้นวัตกรรมสร้างรายได้ 8 หลัก

2 SME ไทยคือ ข้าวดินดี เจ้าของพาสต้าถั่วเขียวออร์แกนิค และ พีทูเอ อินโนเวชั่น Hair Rise สเปรย์ป้องกันผมร่วง สะท้อนว่าไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ มีเงินทุนล้นมือ ถึงจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ทั้งตอบโจทย์ตลาดและช่วยพัฒนาสังคมไปพร้อมกันได้