Text : กองบรรณาธิการ
จากที่ดินบนเขาห่างจากทะเล ทำเลที่ทุกคนต่างส่ายหัวว่าจะเอาไปทำอะไรได้ วีระชัย ปราณวีระไพบูลย์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของภูเก็ต กลับนำมาสร้างเป็นโรงแรมแนว Lifestyle Hotel พร้อมกับกางตำราเดินหน้าสร้างแบรนด์แบบครบทฤษฎี เพียงไม่นาน Foto Hotel โรงแรมสำหรับคนรักการถ่ายภาพก็เป็นที่รู้จัก ภาพทุกซอกมุมของโรงแรมถูกนำไปแชร์กันสนั่นบนโลกโซเชียล ชักชวนให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลมาเข้าพักไม่ขาดสาย
Cr : Foto Hotel
ความสำเร็จนี้ วีระชัยบอกว่ามาจากพลังของการสร้างแบรนด์ ที่ย้อนมาสร้างชื่อให้เขาดังไกลยิ่งกว่าตอนทำธุรกิจอสังหาฯ ที่สร้างรายได้หลักพันล้านเสียอีก เขาเล่าว่าก่อนหน้านี้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเริ่มจากทำบ้านให้ชาวต่างชาติเช่าระยะยาวนาน 30 ปี ในราคาพอๆ กับซื้อ ซึ่งสามารถขายได้หมดภายในเวลา 2 สัปดาห์หลังสร้างเสร็จ หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยเบ็ดเสร็จ ปัจจุบันทำมาแล้วร่วม 20 กว่าโครงการ มูลค่าบริษัทเป็นพันล้านบาท ช่วงพีคสุดของธุรกิจ บริษัทมียอดขายพุ่งไปถึง 700 ล้านบาท
Cr : Foto Hotel
ทว่าในปีเดียวกันนั้นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์โผล่พรวดเข้ามาขย่มขวัญเขากับหุ้นส่วนจนเกือบตัดสินใจปิดบริษัท นั่นเป็นที่มาของความคิดที่อยากจะแตกไลน์มาทำธุรกิจโรงแรมเพื่อเป็นแหล่งรายได้สำรองหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาอีก แต่ด้วยว่าที่ดินที่มีอยู่ในมือส่วนใหญ่เป็นทำเลที่อยู่ห่างไกลชุมชน ไม่ติดถนน ไม่ติดทะเล เพราะเดิมทีซื้อมาเพื่อใช้ในการสร้างบ้านให้ชาวต่างชาติอยู่ ซึ่งโดยมากมักชอบความสันโดษ เมื่อนำมาสร้างโรงแรมจึงไม่ตอบโจทย์ของนักท่องเที่ยว และเป็นประเด็นที่ทุกคนทักจนเขาต้องคิดหนักเพื่อสร้างจุดขาย
Cr : Foto Hotel
นี่เองที่ทำให้วีระชัยต้องสร้างโรงแรมที่มีคอนเซ็ปต์ชัดและแตกต่าง เขาบอกว่า Foto Hotel ถือเป็นธุรกิจแรกที่เขาทำแบรนด์ดิ้งอย่างเต็มรูปแบบ โดยศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียด พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่จะเป็นสปาแอนด์รีสอร์ทเหมือนกันหมด เขาต้องการสร้างความต่างให้กับโรงแรมของตัวเอง จึงเลือกที่จะสร้าง Foto Hotel ให้เป็นโรงแรมแห่งการถ่ายรูป มี Personal branding คือ ต้องสร้างสรรค์ มีความเป็นภูเก็ต และต้องถ่ายรูปสวย โดยใช้โทนสีขาว-ดำ สร้างเอกลักษณ์ในการตกแต่ง ใช้เรื่องราวการถ่ายภาพบอกตัวตนแบรนด์ และนำเอาจุดด้อยของทำเลมาสร้างจุดเด่นที่กลายเป็นจุดขาย เช่น การนำเอาอ่างอาบน้ำไว้บนระเบียงด้านนอกซึ่งแขกสามารถนอนแช่น้ำชมวิวได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องกลัวใครแอบมอง
Cr : Foto Hotel
ด้วยองค์ประกอบที่ลงตัวเหล่านี้เมื่อประกอบเข้ากับจังหวะที่หลังเปิดโรงแรมได้ไม่นาน กระแสโซเชียลเน็ตเวิร์คก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพล ทำให้ Foto Hotel แจ้งเกิดอย่างรวดเร็ว วีระชัยวิเคราะห์ความสำเร็จของตัวเองว่าเป็นเพราะ Foto Hotel ใช้แบรนด์ดิ้งได้ค่อนข้างครบตามทฤษฎี เขามี Brand Manual ตั้งแต่วันแรกที่เปิด มีองค์ประกอบตั้งแต่ Brand Essence ที่กำหนดให้ทำทุกอย่างเพื่อสร้างความทรงจำที่แตกต่างให้กับลูกค้า มี Brand Personality กำหนดให้พนักงานทุกคนรู้ว่าต้องมีคาแรตเตอร์อย่างไร รู้ว่าลูกค้าเป็นใครและคิดอะไร มี Brand Attribute ทุกอย่างถูกเซ็ตไว้หมด ขณะที่ Brand Representative ใช้แมสคอทหมีเป็นทูตสัมพันธ์ที่สร้างความจดจำให้กับแบรนด์
Cr : Foto Hotel
อีกหนึ่งเหตุผลในความสำเร็จ ที่ทำให้ Foto Hotel เป็นแบรนด์เล็กพิชิตแบรนด์ใหญ่ แถมเป็นความสำเร็จจากฝีมือบริหารของคนท้องถิ่น ขณะที่โรงแรมใหญ่ๆในภูเก็ตส่วนใหญ่จะเป็นคนจากที่อื่นมานั้น วีระชัยบอกว่าเป็นเพราะการใส่วิชั่นเข้าไปในแบรนด์ ซึ่งหากวิชั่นชัด และวัดผลได้ จะทำอีกกี่แบรนด์ก็สำเร็จ โดยผู้บริหารหนุ่มได้นำเอาสูตรสำเร็จที่ได้จาก Foto Hotel มาสร้าง Blue Monkey ในคอนเซ็ปต์และกลุ่มเป้าหมายที่ต่างออกไป โดยกำหนดให้เป็น City Hotel ที่เหมาะกับการขยายสาขา รูปแบบการสร้างแบรนด์ของ Blue Monkey จึงเน้นสร้างผลกำไรเพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการที่อยากมีโรงแรมแบบนี้ แต่ไม่มีโนว์ฮาวมาร่วมลงทุนในลักษณะของการซื้อเชนโรงแรมจากเขาไป เป็นวิธีคิดที่ทำให้วีระชัยยังคงขยายธุรกิจต่อได้โดยไม่ต้องใช้เงินทุนเลย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน