เบื้องหลังเกมธุรกิจ “ฟูจิฟิล์ม” รอดได้เพราะอะไร?

    บริษัทฟูจิฟิล์มก่อตั้งเมื่อปี 1934 และเป็นเจ้าเดียวที่ผูกขาดตลาดฟิล์มและกระดาษอัดรูปในญี่ปุ่นมานาน และถือเป็นคู่แข่งรายสำคัญของบริษัทอีสต์แมน โกดักจากฝั่งอเมริกา แต่ไม่มีใครคาดคิดว่ากล้องฟิล์มจะอยู่ได้ไม่นาน ความบูมของกล้องดิจิตอลได้ทำลายธุรกิจฟิล์มลงจนแทบสาบสูญ แต่อะไรที่ทำให้ฟูจิฟิล์มไม่เพียงยืนหยัดอยู่ได้ หากยังทำกำไรเป็นล่ำเป็นสัน ขณะที่คู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันมานานอย่างโกดักต้องม้วนเสื่อพับกิจการไป
 


               หากย้อนกลับไปเมื่อปี 1975 หรือเมื่อ 42 ปีก่อน โกดัก เป็นผู้พัฒนากล้องดิจิตอลรายแรกของโลกด้วยซ้ำเพียงแต่บริษัทไม่กระตือรือร้นที่จะออกผลิตภัณฑ์กล้องดิจิตอล เพราะเกรงว่าจะไปแย่งตลาดฟิล์มถ่ายรูปซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ส่งผลให้ยอดขายโกดักร่วงต่ำลงในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เนื่องจากความต้องการใช้ฟิล์มถ่ายภาพลดลงอย่างรวดเร็ว และความล่าช้าในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 


               ต่างจากฟูจิฟิล์มที่ปี 1988 เริ่มผลิตกล้องดิจิตอล พอปีถัดมาก็วางจำหน่ายกล้องดิจิตอลรุ่น  FUJIX DS-X แนวโน้มที่กระแสดิจิตอลจะมาแรงทำให้ ชิเกะทากะ โคโมริ ประธานและซีอีโอฟูจิฟิล์มตัดสินใจว่าบริษัทจำเป็นต้องโต้คลื่นดิจิตอลแม้ว่าจะต้องกลืนเลือดเนื้อของตัวเอง ในที่นี่หมายถึงการทำลายธุรกิจอนาล็อก (ธุรกิจเกี่ยวกับการถ่ายภาพแบบเดิม ๆ) ก็ตาม เพราะหากฟูจิฟิล์มไม่ทำ บริษัทอื่นก็ทำอยู่ดี จึงทำให้ฟูจิฟิล์มเข้าไปจับเทคโนโลยีดิจิตอล 


               ต้นปี 2012 โกดักก็ประกาศล้มละลาย ในขณะที่ฟูจิฟิล์มกลับอยู่รอดปลอดภัย สิ่งที่แตกต่างระหว่างโกดักกับฟูจิฟิล์มคือความสามารถในการปรับตัว ซึ่งฟูจิฟิล์มพร้อมรับมือแต่เนิ่น ๆ เมื่อคลื่นดิจิตอลระลอกแรกซัดเข้ามาช่วงทศวรรษ 1980 ฟูจิฟิล์มก็ปรับท่าที เปลี่ยนมาพัฒนาเทคโนโลยีเอ็กซ์เรย์ด้วยระบบดิจิตอลแล้วจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนจะหันมาพัฒนากล้องถ่ายรูปดิจิตอลอย่างจริงจัง 


              หลังจากนั้น ฟูจิฟิล์มก็วางนโยบายจะรุกตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทที่เคยรับผิดชอบการผลิตกระดาษอัดภาพสีต้องผันตัวเองมาวิจัยเครื่องสำอาง ช่วงเวลานั้น พนักงานบริษัทต่างกังวลว่าบริษัทจะไปรอดหรือไม่ในการจับธุรกิจเครื่องประทินผิวเพราะดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกันเลยกับธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ แต่ความจริงแล้ว กลยุทธ์นี้คือการต่อยอด 


               เกือบ 100 ปีของการก่อตั้งบริษัท ตลอดการทำวิจัย ฟูจิฟิล์มมีวัตถุดิบในครอบครองราว 20,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่พัฒนาขึ้นเป็นส่วนประกอบของการผลิตฟิล์ม แต่ส่วนผสมเหล่านี้ สามารถนำมาผลิตเวชสำอางได้ เช่น คอลลาเจนเจลลี่ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักที่ใช้เคลือบฟิล์ม ฟูจิฟิล์มก็นำมาแปรเป็นส่วนผสมในเครื่องประทินผิว หรือเคมีและกระบวนการที่ใช้ในการปกป้องไม่ให้ภาพถ่ายสีซีดจางก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในเครื่องสำอางเพื่อกระชับผิวป้องกันการหย่อนยาน เป็นต้น 


               ปัจจุบัน ธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพกลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้บริษัทมากที่สุด โดยทำรายได้ปีละกว่า 3,400 ล้านเหรียญ ฟูจิฟิล์มไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ขณะนี้ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนายารักษามะเร็งและโรคที่เกิดจากการเสื่อมของประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์     

            
               กล่าวสำหรับอุตสาหกรรมกล้องดิจิตอล ฟูจิฟิล์มถือเป็นผู้นำในตลาด โดยเฉพาะกล้องดิจิตอล mirrorless ที่ได้รับความนิยมสูง และกล้อง instant camera ที่ถ่ายปุ๊ป! อัดรูปออกมาได้เลย ซึ่งตัวเลขงบการเงินปีที่ผ่านมา ฟูจิฟิล์มทำยอดขายกล้องดิจิตอลและ instant camera ตระกูล Instax ได้ 1.25 ล้านเครื่อง และ 5 ล้านเครื่องตามลำดับ ล่าสุด บริษัทเพิ่งเปิดตัว Instax Square SQ10 กล้องไฮบริดที่ผนวกระหว่างกล้องฟิล์มกับกล้องดิจิตอล คุณสมบัติโดดเด่นคือนอกจากถ่ายภาพพร้อมพิมพ์ภาพออกมา ยังสามารถบันทึกไฟล์ภาพไว้ในตัวกล้องหรือ SD card อีกด้วย   

   
               นอกจากนั้น ด้วยวิถีของคนรุ่นใหม่ที่ชอบถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟน ฟูจิฟิล์มจึงเปิดร้าน Wonder Photo Shop ในย่านฮาราจูกุเพื่อบริการอัดภาพ การเปิดร้านดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนดึงรูปจากมือถือออกมาอัดหรือทำเป็นพวงกุญแจ กรอบรูป เข็มกลัด หมอน เสื้อ และอื่น ๆ  ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 200 ราย 


               แม้ธุรกิจฟิล์มซึ่งเคยทำกำไรให้บริษัทถึง 70% และตอนนี้กำไรหดเหลือไม่ถึง 1% แต่ฟูจิฟิล์มก็ตั้งมั่นจะผลิตฟิล์มสีและกระดาษอัดรูปต่อไป ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาเทคโนโลยีกล้องดิจิตอลอย่างต่อเนื่องเช่นกัน การปรับตัวอย่างรวดเร็วบวกกับความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้ฟูจิฟิล์มซึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการฟิล์มอยู่รอดได้ในยุคที่ดิจิตอลกำลังครองเมือง


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน