ปิดจ๊อบดราม่าทุเรียนไทยส่งออก ด้วยนวัตกรรม Active Coating

Text กองบรรณาธิการ



     ข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการค้าทุเรียนส่งออก รวมถึงเกษตรกรสวนทุเรียนที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน เมื่อคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรมลดกลิ่น-ลดการแตกผลทุเรียนสด ที่สามารถชะลอการสุกของทุเรียนแก่ขณะขนส่งได้นานถึง 2 สัปดาห์และจะสุกพร้อมขายได้ทันทีเมื่อถึงปลายทาง รวมถึงต่ออายุการเก็บรักษาได้เท่าตัว และยังสามารถขจัดปัญหาเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์ของผลทุเรียนเมื่อสุก และปัญหาทุเรียนแตกขณะขนส่งหรือส่งออกต่างประเทศได้ 100% โดยสามารถคงคุณภาพและรสชาติของเนื้อทุเรียนภายใน 






   
     รศ. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า “ทุเรียน” ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย จนได้รับการขนานนามเป็น ราชาผลไม้ เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกผลทุเรียนสดสูงขึ้นในทุกๆ ปี โดยล่าสุด ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 17,468 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 31.87 % (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2560) โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจาก ประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน เกษตรกรในหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาสำคัญในการส่งออก คือ กลิ่นไม่พึงประสงค์ของผลทุเรียนเมื่อสุก และผลแตกขณะขนส่งหรือวางจำหน่าย ณ ประเทศปลายทาง ซึ่งในแง่ของมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกนั้น ผลทุเรียนจะต้องได้ทรงมาตรฐาน อยู่ในสภาพสมบูรณ์ รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ GAP เป็นต้น 


     “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้พัฒนา “นวัตกรรม Active Coating ลดกลิ่น-ลดแตกของผลทุเรียนสด” นวัตกรรมการเคลือบผลทุเรียนสดด้วยเทคนิค Active Coating ภายใต้การดูแล senior project ของ ประกาสิทธิ์ ชุ่มชื่น นักศึกษาปริญญาตรี ร่วมพัฒนาจนสามารถชะลอการสุกของผลทุเรียนแก่ ขณะขนส่งได้นานถึง 2 สัปดาห์ และจะสุกพร้อมวางขายได้ทันทีเมื่อถึงปลายทาง อีกทั้งยังสามารถต่ออายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ได้เท่าตัว เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเลือกตัดผลทุเรียนแก่เพิ่มขี้นเพื่อการส่งออก แทนผลอ่อนที่เมื่อไปถึงปลายทางไม่มีคุณภาพการบริโภค หรือไม่สุกตามปกติ หรือเกิดปัญหาผลแตกเมื่อถึงปลายทาง เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออกทุเรียนไทย ให้สามารถก้าวสู่ตลาดในระดับพรีเมียมได้มากยิ่งขึ้น”




 

   
     ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีทางการเกษตร สู่การพัฒนาวัสดุห่อหุ้มผลทุเรียน (Active Coating) ใน 2 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเตรียม Active Coating และ 2) ขั้นเคลือบผิวทุเรียน นำผลทุเรียนมาเคลือบด้วย Active Coating ที่เตรียมดีแล้วให้ทั่วทั้งผล เพื่อป้องกันเปลือกทุเรียนแตกระหว่างทาง ก่อนนำไปบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์พิเศษ


     รศ. วรภัทร กล่าวว่า จากการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมลดกลิ่น-ลดแตกของผลทุเรียนสดเป็นเวลาถึง 2 ปี พบว่า เทคนิคการเคลือบผลทุเรียนด้วยเส้นใยจากพืช สามารถลดการแพร่กระจายกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของทุเรียน และป้องกันการแตกของผลได้ 100% เมื่อเทียบกับทุเรียนที่ไม่ได้ห่อหุ้มผล อีกทั้งยังคงคุณภาพของเนื้อทุเรียนภายในได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญของวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนานวัตกรรมเกษตรยุคใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรในยุค 4.0 ได้อย่างตรงจุด ในค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ซึ่งมีต้นทุนโดยเฉลี่ยเพียง 2-3 บาทต่อผล


     อย่างไรก็ดี นวัตกรรมดังกล่าวยังไม่ได้เปิดจำหน่ายสูตรในเชิงพาณิชย์ แต่สำหรับเกษตรกรสวนทุเรียนสามารถขอรับคำปรึกษาได้ฟรี ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเกษตรกรสวนทุเรียนที่ต้องการผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการส่งออกโดยตรงแบบไม่ผ่านคนกลาง หรือแม้แต่ SME ที่ทำธุรกิจส่งออกทุเรียน ก็ได้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ด้วยเช่นกัน  



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ขายแค่มาม่า ก็ยืนหนึ่ง! มาม่าฟ้าธานี ธุรกิจเล็กที่สร้างตำนานได้

แม้ว่าจะขายเพียง "มาม่า" ซึ่งเป็นสินค้าธรรมดาเพียงอย่างเดียว แต่ "มาม่าฟ้าธานี" กลับได้รับที่นิยม และประสบความสำเร็จอย่างมาก ความสำเร็จนี้สามารถวิเคราะห์ได้จากหลายปัจจัยที่น่าสนใจ

แผ่นดินไหววงการอาหารไทย 2025 SME รับมือยังไง? แบรนด์ใหญ่บุกตลาดแมส

จากกลยุทธ์สงครามราคาของแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ที่แข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดแมส ในยุคเศรษฐกิจไม่แน่นอนเช่นนี้ ผู้ประกอบการรายย่อย จะเรียนรู้และรับมืออย่างไร?

Egg Shield ครีมกันแดดจากเปลือกไข่ เจ้าแรกของโลก ต่อยอดวัสดุเหลือใช้ ดีต่อสิ่งแวดล้อม

 รู้ไหม? ว่าเปลือกไข่ที่เหลือทิ้ง สามารถช่วยปกป้องแสงแดดได้ ล่าสุดทำเป็นครีมกันแดดออกมาจำหน่ายแล้ว จากฝีมือผู้ประกอบการไทยคนรุ่นใหม่ ภายใต้แบรนด์ “Egg Shield” แปลว่า เกราะป้องกันจากเปลือกไข่ เป็นเจ้าแรกของโลก