ทำแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นไม่ยาก Oh-My-Dress รับจัดให้!

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย







     ถ้าพูดถึงธุรกิจออนไลน์ที่มีคนนิยมทำกัน หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นติดโผมาเป็นอันดับต้นๆ แน่นอน ซึ่งแม้จะมีคู่แข่งอยู่มากมาย แต่ตลาดก็ยังคงไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะยังไงแฟชั่นก็ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจอยู่ทุกยุคทุกสมัย และการเริ่มต้นธุรกิจในปัจจุบันก็ทำได้ไม่ยาก จากรูปแบบบริการรับตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อสร้างแบรนด์ที่มีให้เลือกมากมาย หนึ่งในนั้นมีชื่อของ Oh-My-Dress ร้านรับตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นครบวงจรรวมอยู่ด้วย


    




     Oh-My-Dress แจ้งเกิดมาได้ปีกว่าๆ จากแนวคิดของ กานต์ธิดา ประณีต หรือ แจง สาวน้อยวัย 23 ปีที่อยากขยายแตกไลน์ธุรกิจร้านรับออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า “รพีพร” ของคุณแม่รพีพรรณ ประณีต ซึ่งเปิดดำเนินการมา 30 กว่าปี ให้เป็นธุรกิจรับผลิตเสื้อผ้าแฟชั่น เพื่อสร้างแบรนด์แบบครบวงจร โดยมองเห็นแนวโน้มตลาดที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่หันมาสนใจผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ของตัวเองกันมากขึ้น
    






    “เห็นแม่มีประสบการณ์ทำงานด้านออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้ามานาน มีฝีมือดีระดับหนึ่ง จึงอยากช่วยหางานมาให้เพิ่ม และเดี๋ยวนี้คนก็หันมาทำแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นตัวเองเยอะขึ้น จึงมองว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจ เลยลองคุยกับแม่และสร้างเพจขึ้นมา โดยแจงเป็นคนรับงาน ทำการตลาด และบริหารจัดการ ส่วนงานผลิตมอบให้เป็นหน้าที่ของแม่”


    




    โดยบริการของ Oh-My-Dress เริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษารับออกแบบแพทเทิร์น ขึ้นตัวอย่าง จนถึงกระบวนการผลิต ค่าบริการออกแบบแพทเทิร์นและขึ้นตัวอย่างจริง เริ่มต้นที่ 1,000 – 2,500 บาท แล้วแต่ความยากง่ายของแบบ จากนั้นจึงมาสู่ขั้นตอนการผลิต โดยแบ่งค่าบริการตัดเย็บตามเกรดความยากง่ายของงานและจำนวนการผลิตเช่นกัน ได้แก่ งานเกรด A 1,000 บาทขึ้นไป (ชุดเดรส ชุดทำงาน +งานละเอียดเหมือนงานวัดตัวตัด รับผลิต 10 ตัวขึ้นไป) เกรด B 500-800 บาท (ชุดลำลอง ชุดเดรส รับผลิต 30 ตัวขึ้นไป) และเกรด C หรืองานเหมาโหลประตูน้ำ 30 กว่าบาทจนถึงร้อยกว่าบาท (เสื้อยืด+ชุดลำลอง เน้นขายถูก เย็บเร็ว รับผลิต 300 ตัวขึ้นไป)


    




    “จุดเด่นของ  Oh-My-Dress คือ รับผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นครบวงจร เราสามารถทำงานได้ทุกระดับ ตั้งแต่งานเนี้ยบมากๆ อย่างเกรดเอขายขึ้นห้าง ไปจนถึงเสื้อผ้าประตูน้ำที่ผลิตจำนวนเยอะๆ ทำให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกระดับ เรามีทั้งส่วนที่รับผลิตเองในงานเกรดเอและบี ส่วนงานเกรดซีเราจะหาช่างผลิตให้ แต่จะควบคุมคุณภาพ เช็คงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งความจริงแล้วหน้าที่หลักของธุรกิจรับผลิตเสื้อผ้า คือ การบริหารจัดการงานให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ โดยหาช่างที่ถนัดในงานแต่ละแบบมาผลิตให้กับลูกค้า ลูกค้าบางคนไม่เข้าใจ คิดว่ามีแบบแล้ว ไปหาช่างเย็บเองน่าจะถูกกว่า แต่ความจริงแล้วเขาต้องเจอกับปัญหาหลายอย่าง เพราะมีรายละเอียดจุกจิก ตั้งแต่การไปเลือกซื้อผ้า การทำแพทเทิร์น การคำนวณผ้าก่อนตัดออกมาเป็นไซส์ต่างๆ เอางานไปส่งให้ช่างเย็บ ไปรับงาน ตรวจงาน จนถึงแพ็กใส่ถุง ซึ่งสิ่งที่เราได้ ก็คิดเพียงแค่ค่าดำเนินการเท่านั้น แต่ที่เรารับ เพราะอยากช่วยลูกค้าที่เพิ่งเริ่มต้น อีกอย่างการใช้ผู้มีประสบการณ์มาคุยงานกับช่างทำให้ได้งานมากกว่า คุยแล้วจบ ไม่ต้องทำความเข้าใจกันนาน”


    




    แม้จะรับจ้างทำธุรกิจผลิตเสื้อผ้า แต่สิ่งหนึ่งที่แจงและแม่คอยเตือนลูกค้าอยู่เสมอ คือ ความพร้อมในการทำธุรกิจ ทั้งเงินทุน และตลาดที่รองรับ


     “ทำธุรกิจตรงนี้ มีคนมาจ้างให้ทำงานก็ดี แต่บางทีเราก็ต้องช่วยให้คำแนะนำเขาด้วย อย่างบางคนเข้ามาอยากทำเสื้อยืดหลายร้อยตัวเลย แต่เงินทุนก็ไม่ได้มีมาก ตลาดก็ยังไม่รู้จัก เราจะแนะนำให้เขาลองเริ่มจากเล็กๆ ไปก่อน อย่างเสื้อผ้าประตูน้ำซื้อ 3 ตัวเขาก็ให้ราคาส่งแล้ว ลองไปดูก่อน ถ้าไปได้ดี มีตลาดแล้วค่อยมาสั่งผลิตกับเรา ทุนจะได้ไม่จมด้วย ดีกว่ารับทำให้ 300 กว่าตัว แล้วตลาดไม่ชอบ เหลือแล้วจะทำยังไง เงินเราก็อยากได้นะ แต่ก็ต้องช่วยดูความเป็นไปได้ให้กับเขาด้วย”

 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน