Text : ขวัญดวง แซ่เตีย
ด้วยอิทธิพลจากผู้เป็นพ่อที่มักจะเอาโมเดลความสำเร็จของนักธุรกิจคนนั้นคนนี้มาเป็นหัวข้อสนทนาบนโต๊ะอาหารยามเช้า ทำให้ โบ - ณชา จึงกานต์กุล ชอบการค้าขายมาตั้งแต่เด็ก เธอมีเป้าหมายชัดอยากเป็นนักธุรกิจ กระนั้นเจ้าตัวกลับเลือกเรียนรัฐศาสตร์การฑูตแทนการเรียนด้านการตลาด หรือการบริหารธุรกิจ ซึ่งเธอมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะสุดท้ายแล้วแก่นของการทำธุรกิจคือเรื่องประสบการณ์
ณชาบอกว่าธุรกิจคันนาของเธอมีจุดเริ่มมาจากเมื่อครั้งที่เธอไปฝึกงานสถานฑูตที่ปักกิ่ง แล้วไปตกหลุมรักวัฒนธรรมจีนจนคิดอยากค้าขายกับคนจีน ตอนแรกเธอยังไม่รู้ว่าจะขายอะไร รู้แค่ว่าอยากทำอะไรก็ได้ที่เล่นกับอารมณ์ ความรู้สึก และกระตุ้นความอยากซื้อของคน กระทั่งมาสังเกตพบว่าทุเรียนไทย ขายในจีนได้ราคาแพงกว่า 10-20 เท่า ซึ่งเธอรู้สึกว่าไทยเรายังมีผลไม้ดีๆ อีกเยอะ น่าเอามาใส่ไอเดียให้กลายเป็นโปรดักส์ใหม่ๆ ที่คนจีนเห็นแล้วต้องว้าว
หลังกลับมาจากเมืองจีน ณชาใช้เวลา 6 เดือนศึกษาเรื่องเทคโนโลยี เรื่องตลาด ดูว่ามีโปรดักส์ตัวไหนที่ใครทำอะไรออกมาแล้วบ้าง เธอเลือกที่จะทำแบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพ เพราะเชื่อว่าคนเราไม่ว่าร่ำรวยเพียงใด เรียนสูงแค่ไหน ไปท่องเที่ยวมาแล้วกี่ประเทศ สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่เรื่องของตัวเอง คือการดูแลสุขภาพ เพราะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่เราจะยอมจ่ายเพื่อลงทุนกับตัวเอง แบรนด์คันนาจึงออกไปในลักษณะสาวเฮลท์ตี้ รักตัวเอง เข้าใจกับความต้องการของร่างกายตัวเอง
Cr : Kunna Snack
สาวโบบอกว่าเธอไม่เคยเข้าครอสเรียนด้านการตลาด หรือการสร้างแบรนด์อะไรมาเลย การทำธุรกิจของเธอเอาความรู้สึกของตัวเองล้วนๆ ใส่ลงไปในทุกรายละเอียดของการสร้างแบรนด์ และการผลิตสินค้า โดยมองว่าหากเธอเป็นผู้ซื้อ เธอต้องการซื้อสินค้าแบบไหน สินค้าตัวแรกของคันนาคือลูกเดือยอบกรอบปรุงรส ซึ่งยังไม่มีในตลาดเนื่องจากกลิ่นสาปที่เป็นจุดด้อยของลูกเดือย หากแต่ความเป็นสมุนไพรที่มีวิตามินสูง เหมาะเอามาทำเป็นของกินเล่นเพื่อสุขภาพที่มีรสชาตอร่อย ซึ่งก็ทำให้สินค้าเปิดตัวของเธอดังเปรี้ยงตั้งแต่วินาทีแรก
ณชาบอกว่าให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกค้าพอๆ กับการเลือกทำตามความรู้สึกของตัวเอง ความสุขของเธอคือการได้รับฟีดแบคจากผู้บริโภค ได้รู้ว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร และเธอสามารถปรับปรุงตรงไหนได้บ้างเพื่อให้ลูกค้าชอบ เหตุนี้เองทำให้สินค้าของเธอเข้าตาโมเดิร์นเทรดกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพรายหนึ่งที่เข้ามาติดต่อ ถือเป็นใบเบิกทางแรกที่ทำให้คันนาได้เข้าไปเรียงรายอยู่ในเชล์ฟสินค้าในห้างดังอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา
Cr : Kunna Snack
ในด้านการทำตลาด สาวโบเชื่อว่าการบอกปากต่อปากเป็นแนวทางแข็งแกร่งที่สุดสำหรับธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งคันนาถือเป็นเจ้าแรกที่ใช้กลยุทธ์นี้จนประสบความสำเร็จ โดยดำเนินการควบคู่กับการออกแบบแพ็คเก็จจิ้งให้ดึงดูดความสนใจ พร้อมกับสื่อชัดตรงกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันตัวผลิตภัณฑ์ก็ต้องเป็นของดีมีคุณภาพจริงตามที่สื่อออกมาบนแพ็คเก็จด้วย นอกจากนี้ยังมีช้อปหน้าร้านที่ห้างเปิดใหม่บนถนนพระรามเก้า เพื่อเป็นสถานที่ให้ลูกค้าเข้ามารู้จักความเป็นตัวตนของคันนาได้มากกว่าเดิม จากที่เคยเห็นผ่านตาในห้าง ซึ่งบางทีก็ถูกตีกรอบด้วยกฎต่างๆ
Cr : Kunna Snack
เคล็ดลับในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของณชา คือการสร้างระบบที่ดี ซึ่งจะทำให้กระบวนการทำงานเดินหน้าโดยมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทำให้ผู้เป็นเจ้าของทำงานเหนื่อยน้อยลง และมีเวลาพัฒนาอย่างอื่นที่ใช้เครื่องจักรไม่ได้ ใช้ระบบไม่ได้ ต้องใช้สมองและประสบการณ์ของเราเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีค่ากว่ากันเยอะ เช่น การออกไปเจอไปเห็นอะไรใหม่ๆ เพื่ออัพเดทตัวเองอยู่เสมอ
ณชาฝากทิ้งท้ายไว้ว่าการจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในมุมมองของเธอ นอกจากเลือกทำในสิ่งที่รักแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องมีวิชั่นครอบคลุมด้วย กล่าวคือต้องคิดให้จบ มองให้ไกล เห็นทุกจุดที่เป็นโอกาสและปัญหา ท้ายที่สุดต้องมีทักษะในการคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะแผนที่คิดว่าดีแล้วแค่ไหน ก็อาจมีปัญหาได้เสมอ ทางที่ดีที่สุดคือปิดประตูตายทุกด้าน ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ตัวเองมีประตูทางออกเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาขึ้นมาจริงๆ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน