ARHAN Center ผู้ช่วยพลิกโฉมสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าโดนใจผู้บริโภค

Text : กองบรรณาธิการ

 
     


    เมื่อไม่กี่วันมานี้ บริษัท ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ออกมาเปิดเผยถึงยอดขายสินค้าเกษตรไทยที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 9,700 สาขา รวมถึงยอดการจำหน่ายผ่านแคตตาล็อกและออนไลน์ของบริษัท ทเวนตี้โฟว์ ช้อปปิ้งว่ามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ได้แก่ กล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า มะพร้าวน้ำหอม ข้าวโพดฝัก กลุ่มผลิตภัณฑ์มะม่วง กลุ่มผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากทุเรียน


     จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า สินค้าเกษตรสามารถเติบโตและขยายโอกาสได้มาก หากมีการสร้างมาตรฐานที่ดี รวมถึงไอเดียการต่อยอดเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้สินค้าเกษตรเป็นที่นิยมและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ วันนี้เรามีหน่วยงานให้คำปรึกษาด้านนี้มาฝากกันแนะนำกัน ภายใต้ชื่อ ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร หรือ ARHAN Center (Agro-Industry Research with Harmonized Alliance and Network) คณะวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร


    ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าว อธิบายถึงการทำงานของ ARHAN Center ให้ฟังว่าจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสนใจอยากสร้างอาชีพ โดยใช้สินค้าเกษตรเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจอาหาร โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริม ยกระดับ และสร้างมูลค่าให้กับวงการเกษตรกรรมไทย โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านความคิดในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ แนวโน้มความต้องการของตลาด นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ไปจนถึงกระบวนการผลักดันให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด รวมถึงหาตำแหน่งสินค้าที่เหมาะสมให้ด้วย โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในด้านต่างๆ อาทิ นักวิชาการ นักวิจัย นักพัฒนาสินค้าอาหาร นักการตลาด นักออกแบบ รวมถึงกลุ่มซัพพายเออร์เพื่อรองรับการผลิตในด้านต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น


     โดยจุดเด่นที่เป็นวิธีการทำงานของ ARHAN Center คือ จะใช้แนวคิดทางการตลาดนำว่าก่อนที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจผลิตสินค้าอะไรออกมาสักอย่างต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้วย จากทำได้ ขายได้ ไปได้ และโตได้ ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าที่ผลิตออกมา สามารถเติบโต แข่งขัน อยู่รอดในตลาดได้ โดยก่อนที่จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง จะต้องวิเคราะห์มุมมองแนวโน้มความต้องการของตลาดก่อน


     “ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้ประกอบการ มักเริ่มต้นมองจากสิ่งที่ทำได้ก่อน ซึ่งพอทำออกมาแล้ว ก็ยังไม่รู้แนวโน้มการตลาดที่แน่นอนว่าจะขายได้มากน้อยเพียงใด และถึงแม้จะขายได้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะขายต่อไปได้นานเท่าไหร่ สามารถเติบโตได้ยั่งยืนหรือไม่ ในการให้คำปรึกษาหรือบ่มเพาะผู้ประกอบการของเรา เราจะมองความเป็นไปได้และการเติบโตได้ของธุรกิจก่อน แล้วค่อยย้อนกลับมามองว่าจะขายอะไรดี จากนั้นจึงค่อยมาหาวิธีการผลิตว่าจะใช้เทคโนโลยีหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์อะไรมาช่วยได้บ้าง เราค่อนข้างคิดทบทวนอย่างละเอียดไปทีละส่วน โดยเชื่อว่าหากเราคาดการณ์ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว การดำเนินธุรกิจของจะง่ายขึ้น ดีกว่าปล่อยให้มีปัญหาตอนที่ลงมือทำไปแล้ว เพราะอุตสาหกรรม ถึงแม้จะเป็นขนาดเล็ก แต่ก็ต้องมีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง สู้คิดวิเคราะห์ไว้แต่แรกจะดีกว่า อย่างน้อยๆ ถึงสุดท้ายไม่ได้ทำ ก็จะได้รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร”


     จากวิธีคิดดังกล่าวทำให้ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่เข้ามาขอคำแนะนำปรึกษา จนสามารถพัฒนาสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาขายสู่ตลาดได้สูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมาภายในระยะเวลา 3 ปีของการจัดตั้งศูนย์ สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการไปได้แล้วกว่า 200 ราย โดยสินค้าส่วนใหญ่จะถูกวางอยู่ในร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด และห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยผู้จัดการศูนย์วิจัยดังกล่าว กล่าวว่าผู้ประกอบที่สนใจสามารถเข้ามาขอคำปรึกษาได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตั้งแต่ 1.กลุ่มที่มีใจอยากทำ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรเลย 2.กลุ่มที่รู้ว่าต้องการทำอะไร แต่ไม่รู้ขั้นตอน วิธีการ และ3.กลุ่มที่รู้ว่าต้องการอะไร แต่ติดปัญหาในเรื่องของเทคโนโลยี


     “วัตถุประสงค์หลักของเราจริงๆ นอกจากจะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตรให้มีศักยภาพเติบโต แข่งขันในตลาดได้แล้ว เรายังต้องการให้สิ่งเหล่านั้นย้อนกลับไปยังเกษตรกรที่เป็นต้นทางด้วย โดยหวังว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำ ให้กลับมามีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน