จากพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้ชื่อว่ามีดินดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขาไฟเก่าในเขตอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ กวินกิตติ์ รัตนพงษ์ภูวดล เกษตรกรวิถีอินทรีย์ก็ได้สร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวเหนียวที่ปลูกมาทำเป็น ‘ข้าวเม่า’ ขนมพื้นบ้านของไทยที่ทำมาจากข้าวเปลือกที่ยังไม่แก่จัด นำมาคั่วและตำให้แหลกจนได้เป็นเนื้อข้าวสีเขียวอ่อน จากนั้นจึงนำไปปรุงเป็นอาหารในรูปแบบต่างๆ อาทิ ข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่าทอด ด้วยเอกลักษณ์ ความโดดเด่นของผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุมากมาย จึงทำให้ได้ข้าวเม่าหอมมันแสนอร่อยจนเกิดการร่ำลือบอกต่อปากต่อปาก
กวินกิตติ์เล่าว่าข้าวเม่าเป็นอาหารที่นิยมทำรับประทานกันอยู่แล้วในอำเภอนางรอง และจากความได้เปรียบดังกล่าวจึงทำให้เขาคิดอยากสร้างแบรนด์ขึ้นมา เพื่อทำให้ข้าวเม่าจากดินภูเขาไฟเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นจากการพัฒนากระบวนการผลิตจากใช้แรงงานคน ก็หันมาใช้เครื่องมือในการคั่วและตำข้าว ทำให้สามารถเพิ่มการผลิตได้มากขึ้นทันต่อความต้องการของตลาด ซึ่งหลังจากเริ่มต้นพัฒนาธุรกิจได้ไม่นานเขาได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมหลักสูตร Next Step NEC 2017 : เจาะลึกกลยุทธ์การตลาด 4.0 กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้สามารถมองเห็นลู่ทางธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
กวินกิตติ์คิดเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและทันสมัยมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้น คือ การทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเช้าอย่างซีเรียลหรือธัญพืชอบกรอบที่สามารถกินกับนมได้ง่ายๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์เอง รวมถึงตลาดต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้เขายังวางแผนที่จะพัฒนาที่ดินแหล่งปลูกข้าวและผลิตข้าวเม่าให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของข้าวเม่า ตั้งแต่แปลงปลูกมาจนถึงกรรมวิธีการผลิตเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและตัวแบรนด์เอง ซึ่งเขาเชื่อแน่ว่าด้วยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะของผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบดีมาตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจของพื้นที่เองจะสามารถทำให้แบรนด์ข้าวเม่าของเขาประสบความสำเร็จ เติบโตต่อยอดออกไปยังตลาดที่กว้างขึ้นได้ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากมายไม่จำกัดเฉพาะในเมืองไทย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี