Text : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
Photo: กฤษฎา ศิลปไชย
จะดีสักแค่ไหน ถ้าไอศกรีมถ้วยโปรดที่อยู่ตรงหน้า นอกจากจะอร่อยแล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องสุขภาพด้วย Polar Harvest ไอศกรีมโฮมเมดแบรนด์น้องหมีแคลอรี่ต่ำ สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในการทำให้ความอร่อยกับสุขภาพสามารถไปด้วยกันได้
พล -พงศ์ณรงค์ จริงจามิกร และ บิว-พีรศิลป์ อัศวเมฆี 2 ใน 5 ผู้ก่อตั้งธุรกิจ Polar Harvest ซึ่งมาเป็นตัวแทนเล่าเรื่องราวของธุรกิจความอร่อยนี้ โดยบอกว่า ความคิดนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ยังเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยความอยากลองอยากรู้ว่า “ถ้าเราทำธุรกิจกันอย่างจริงจัง มันจะไปได้ไกลแค่ไหน แล้วได้เรียนรู้อะไรจากมัน” จึงเริ่มตั้งแต่การไปเข้าคอร์สร่ำเรียนวิทยายุทธ์การทำไอศกรีม ลองผิดลองถูกคิดค้นสูตรด้วยตัวเองจนได้รสชาติที่พอใจ เริ่มทดลองตลาดออกงานวางขายใส่ถ้วยแบบพื้นๆ ตั้งแต่ยังไม่มีแบรนด์ จากก้าวเล็กๆ ก้าวสู่ก้าวจนธุรกิจที่เริ่มต้นจากความนึกสนุก เติบโตมาไกล กลายเป็นแบรนด์ไอศกรีมหมีอารมณ์ดี วางขายเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ตามร้านขนมและร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ในมุมของคนที่ชอบทานไอศกรีม เจ้าของธุรกิจหนุ่ม มองว่า ความหมายที่แท้ของการทานไอศกรีม คือ ช่วงเวลาแห่งความสุข ฉะนั้นในการตีโจทย์ธุรกิจให้แตก จึงไม่ใช่การเปลี่ยนไอศกรีมให้เป็นอาหารสุขภาพ แต่คือการหาจุดพอดีให้เจอระหว่างคำว่าสุขภาพกับความอร่อย เพื่อให้ลูกค้ามีความสุขกับการได้ทานไอศกรีมอร่อยๆ เหมือนเดิม
“ พอได้มาศึกษาจริงๆ ทำให้พบว่า ส่วนผสมหลายอย่างในไอศกรีม ถ้าทานมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น วิปครีมที่มีไขมันสูง เป็นจุดที่ทำให้มองว่า เราจะสามารถปรับเปลี่ยนหรือใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนตรงไหนได้บ้าง เพื่อให้ไอศกรีมของเราเป็นมิตรกับสุขภาพมากขึ้น”
กว่าจะเป็นไอศกรีม Polar Harvest ที่วางขายในวันนี้ ทุกรสชาติผ่านการเทสต์ตลาดมาแล้ว ทั้งกลุ่มคนรักสุขภาพ และลูกค้าทั่วไปได้ลองชิม โดยใช้ช่องทางการออกบูธตามงานต่างๆ เพื่อทดสอบตลาด ซึ่งปัจจุบัน Polar Harvest มีไอศกรีมที่วางจำหน่ายทั้งหมด 9 รสชาติ เจาะลูกค้าแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นรสชาติยอดนิยมสำหรับลูกค้าทั่วไป ได้แก่ รสช็อคโกแลต โยเกิร์ต และสตรอเบอรี่ กลุ่มที่สอง เป็นไอศกรีมธัญพืชสำหรับคนรักสุขภาพ ได้แก่ ฟักทอง มันเทศหวาน และเผือก กลุ่มที่สาม เป็นไอศกรีมเจสำหรับลูกค้าที่ไม่ทานนมวัว ได้แก่ เสาวรส งาดำ น้ำเต้าหู้ ทั้งนี้ ทุกรสชาติจะมีจุดขายของความเป็นไอศกรีมแคลอรี่ต่ำ ปริมาณน้ำตาลน้อยเพียง 4- 8 กรัมต่อถ้วย ซึ่งน้อยกว่าไอศกรีมทั่วไป ไม่เจือสี ไม่แต่งกลิ่นสังเคราะห์ ปราศจากวัตถุกันเสีย ใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากผักผลไม้สดแท้ๆ และไม่มีส่วนผสมของไข่
“ ส่วนผสมหลักๆ ที่เราพยายามลดปริมาณลง คือ วิปครีม โดยใช้วัตถุดิบอื่น เช่น ใส่กรีกโยเกิร์ตทดแทนในรสช็อคโกแลต ซึ่งทดลองปรับสูตรในระดับที่ลงตัว จนกินแล้วไม่รู้เลยว่าใช้โยเกิร์ต ไอศกรีมรสช็อคโกแลตของเรามีแคลลอรี่เพียง 147 แคลอรี่ ต่ำกว่าไอศกรีมในตลาดทั่วไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 200 แคลอรี่ ส่วนรสที่เน้นจุดขายแคลอรี่ต่ำจริงๆ สำหรับคนรักสุขภาพจะเป็นไอศกรีมซอร์เบท์รสผลไม้ ซึ่งไขมันเป็นศูนย์ และใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล แต่ละถ้วยมีแคลอรี่ต่ำเพียงแค่ 47 แคลอรี่”
รสชาติที่มีความโดดเด่นจนถือเป็น Signature คือ รสฟักทอง ซึ่งเพียงตักเข้าปากคำแรกจะสัมผัสได้ถึงรสชาติแท้ๆ ของฟักทองเย็นๆ เป็นส่วนผสมเข้มข้นอยู่ในเนื้อไอศครีม จุดขายไอศกรีมธัญพืชที่ทดลองเปิดตลาดครั้งแรก จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ Polar Harvest ที่สื่อถึงผลผลิตที่เก็บเกี่ยวจากทั่วโลกมาเป็นไอศครีมสุขภาพในถ้วย โดยสร้างสรรค์คาแรกเตอร์หมีโพลาร์อารมณ์ดี ช่วยสร้างการจดจำให้กับแบรนด์ โดยข้อความรสชาติบนฝาไอศกรีม ล้อมรอบด้วยรูปน้ำแข็ง สื่อถึงความเป็น The Frozen Healthiness อย่างไรก็ดี Polar Harvest จึงไม่ใช่ไอศกรีมที่ขายเพียงแค่“สินค้า”เท่านั้น แต่ยังขายทั้ง “คุณค่า”ที่มาพร้อมสุขภาพ บวกด้วยจุดขายของ“เรื่องราว”ที่เล่าถึงความเป็นแบรนด์ได้อย่างมีชีวิต
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน