Text : พิชชานันท์ สุโกมล
Photo : nitta
น้ำพริก สินค้าธรรมดาๆ ทำให้ไม่ธรรมดาได้ด้วยฝีมือ ทิวาพร ศิริ เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำพริกผลไม้แบรนด์ “แอมแซ่บ” ซึ่งต่อยอดธุรกิจเดิมของที่บ้านซึ่งเป็นร้านกึ่งของฝาก ขายส่งแคปหมูที่ใหญ่สุดในจังหวัดลำพูน ด้วยความที่เห็นว่ามีเศษที่ได้จากการทอดแคปหมูที่เป็นชิ้นเล็กๆ เหลือเยอะมาก จึงลองเอามาทำน้ำพริกดู โดยทำในลักษณะน้ำพริกแห้งคล้ายๆ ผงโรยข้าว ต่อมาก็เป็นน้ำพริกขิง น้ำพริกข่า โดยแรกๆ ก็ทำอย่างง่ายๆ ไม่ได้มีแพ็คเกจสวยงามอะไร เป็นแบบกระปุกธรรมดาเหมือนในท้องตลาดทั่วไป จนท้ายที่สุดเกิดแนวคิดอยากทำสินค้าให้ฉีกจากตลาดเดิมๆ จึงพัฒนามาเป็น “น้ำพริกลำไย” ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และยังของขึ้นชื่อของ ต.หนองช้างคืน จ.ลำพูนอีกด้วย
ส่วนผสมหลักๆ ของน้ำพริกผลไม้ คือมีพริก หอมแดง กระเทียม ลำไย โดยเอาวัตถุดิบทั้งหมดมาทอดก่อน แล้วจึงผ่านขั้นตอนการสลัดน้ำมัน จากนั้นจึงทำการอบในพาราโบลาโดมซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเอาน้ำมันออกให้ได้มากที่สุด เพื่อสามารถเก็บผลิตภัณฑ์ให้ได้นานมากขึ้น ไม่เหม็นหืน และยังตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มีส่วนผสมของลำไยนี้ ทิวาพรบอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของน้ำพริกผลไม้แบรนด์แอมแซ่บ ที่มีความชัดเจนในการทำแบรนด์ของน้ำพริกผลไม้ที่ไม่มีส่วนผสมเนื้อสัตว์ คนรักสุขภาพและรับประทานอาหารคลีนก็รับประทานได้
จากน้ำพริกลำไย ทิวาพรแตกไลน์ไปที่ผลไม้ชนิดอื่นที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น สับปะรด มะม่วง แอปเปิ้ล และลิ้นจี่ ซึ่งทุกคนจะสงสัยว่าสิ่งที่เธอทำคืออะไร เพราะเป็นของคาวผสมกับของหวาน สิ่งที่ตอบได้ดีที่สุดก็คือการได้ลองรับประทาน ดังนั้นทิวาพรจึงประชาสัมพันธ์ด้วยการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ให้ลูกค้าได้ชิมและมีสินค้าให้ทดลอง
“กลุ่มลูกค้าที่เราเลือกก็คือกลุ่มคนที่กล้าลองของใหม่ ก็เลยจะอยู่ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นแล้วก็กลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานที่ยังเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย เพราะผลิตภัณฑ์ของเรามีไว้ทานกับอะไรก็ได้ เป็นการผสมผสานระหว่างของคาวและของหวาน ทานกับข้าวสวยร้อนๆ ก็ได้ ทานกับขนมปังก็ได้ ใส่ในสลัดหรือขนมจีนก็ได้ โดยเราทำแพ็คเกจจิ้งให้ดูน่ารัก สดใส เอาใจวัยรุ่นที่ชอบแชะก่อนชิม รวมถึงราคาที่เข้าถึงได้ ไม่แพงเกินไป คนก็อยากลองมากขึ้นเพราะไม่ได้แพงอะไร ถ้ารสชาติถูกปากก็จะเกิดการซื้อซ้ำ”
สำหรับอายุการเก็บรักษาน้ำพริกผลไม้แอบแซ่บอยู่ได้นาน 8 เดือน หลักๆ จะขายที่หน้าร้านในจังหวัดลำพูน ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดเชียงใหม่ นอกนั้นจะเป็นการขายผ่านโซเซียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊กและไลน์ ส่วนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะมีตัวแทนจำหน่าย
ปัจจุบันทิวาพรผลิตน้ำพริกผลไม้วันต่อวัน ยังได้จำนวนไม่มาก โดยจะเป็นการผลิตตามออเดอร์เป็นส่วนใหญ่ และยังทำเป็นธุรกิจแบบครอบครัว โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 400 – 500 ขวด ถือว่าเต็มที่แล้ว ดังนั้นในอนาคตหากทิวาพรต้องการขยายตลาดเข้าโมเดิร์นเทรดหรือส่งออก ก็ต้องวางแผนเรื่องการลงทุนอีกพอสมควร เพราะปัจจุบันเธอใช้กระแสเงินสดในการบริหารไม่ได้ลงทุนกู้แบงก์แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลิตภัณฑ์น้ำพริกของทิวาพรก็ได้รับมาตรฐาน อย. และ GMP CODEX ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สามารถส่งออกได้
รูปแบบของน้ำพริกผลไม้ตอนนี้มีอยู่รูปแบบเดียวคือแบบขวดขนาด 80 กรัม ราคา 89 บาท มี 5 รสชาติ คือ ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด มะม่วง และแอปเปิ้ล ซึ่งกลางปี 2560 นี้ ทิวาพรบอกว่ากำลังจะออกแบบเป็นซองเพื่อสะดวกในการพกพา ซึ่งสอดรับกับผลตอบรับที่ค่อนข้างดีในขณะนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน