คุ้มฝ้ายงาม ต่างที่ดีไซน์...ผ้าไทยเมืองนครพนม

 

 

เรื่อง : เรไร จันทร์เอี่ยม

ภาพ : ชาคริต ยศสุวรรณ์
 
 
ผ้าฝ้ายทอมือที่วางอยู่เบื้องหน้านี้ นอกจากจะมีลวดลายที่สวยงามแล้ว ยังบ่งบอกถึงความตั้งใจและความประณีตพิถีพิถันของผู้ที่ลงมือถักทออีกด้วย จากสิ่งนี้เองที่ทำให้ นัทธนาภ์กัล เกริกครรษ์ชญาภ์ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความชื่นชอบในผ้าไทยและมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เดินทางจากขอนแก่น เพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองที่ “นครพนม” 
ถามว่าทำไมต้องเป็นนครพนม คำบอกที่ได้กลับมา นั่นก็คือ นครพนมแห่งนี้ เป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นยอด... 
 
นัทธนาภ์กัล เจ้าของ “ร้านคุ้มฝ้ายงาม” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือ เล่าว่า ก่อนที่เธอจะมาเปิดร้านคุ้มฝ้ายงามอยู่ที่นครพนมนั้น เธออยู่กับป้าที่ขอนแก่น  ซึ่งทำงานผ้าเหมือนกัน ชื่อแบรนด์ว่า “ลีลาฝ้าย” ทำให้เธอเรียนรู้จากประสบการณ์ของป้ามาไม่น้อย จนกระทั่งมาพบว่า ผ้าที่นครพนมนี้สวยมาก และค่อนข้างจะเป็นลายโบราณ ซึ่งลวดลายเช่นนี้ต้องใช้ทั้งเวลาและฝีมือในการทำ เธอจึงเห็นเป็นโอกาส โดยใช้ที่นี่เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิต ส่วนการตลาดนั้น เธอเชื่อว่า ถ้าสินค้าที่มีคุณภาพ การตัดเย็บประณีต รวมทั้งการออกแบบได้โดนใจลูกค้า สามารถที่จะนำไปขายที่ไหนก็ได้
 
 
“ที่นครพนมนี้ มีแหล่งผลิตเยอะมาก ชาวบ้านที่นี่เขาทำงานได้สวยจริงๆ ชาวบ้านน่าสงสารอย่างหนึ่ง คือทำแล้วไม่รู้จะไปขายตรงไหน แปรรูปก็ไม่ได้ ในเมื่อเขาทอเก่ง เราก็ให้ราคาเขานิดหนึ่ง อย่าไปกดเขา เคยมีแม่ค้ามาขายผ้าให้แพงมาก พอเราได้ไปเจอแหล่งผลิตเอง เราเลยไม่ต่อเขา เพราะเรารู้ว่าเขาใช้ทั้งฝีมือและเวลา พอเราเห็นว่าผ้าสวย น่าจะขายได้ ก็เลยคิดต่อว่า ถ้าหากนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวยๆ ดีไซน์เก๋ๆ ลูกค้าเห็นก็น่าจะชอบ เพราะด้วยตัวของผ้าฝ้ายเอง มันสวยด้วยตัวของมันอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะดีไซน์อย่างไรเท่านั้น”
 
 
 
  
จุดเด่นของร้านคุ้มฝ้ายงามนั้น จึงไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวผ้ามีความสวยงาม แต่อยู่ที่การออกแบบดีไซน์ให้สามารถใช้งานได้จริงและถูกใจลูกค้า โดยเจ้าของร้านสาวผู้นี้จะทำหน้าที่ในการออกแบบและวางลายผ้าทั้งหมดด้วยตัวเอง แม้เธอจะไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการออกแบบมาโดยตรง แต่เธอก็อาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 10 ปีของผู้เป็นป้า  มานั่งวิเคราะห์ว่าเสื้อผ้าแบบไหนขายได้ตลอด ซึ่งก็พบว่าเป็นประเภทเสื้อคลุม หรือเสื้อกั๊ก ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไปได้ หรือแม้แต่การไปสอบถามจากช่างตัดเย็บ เพื่อจะได้รู้ถึงความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง จากนั้นก็นำมาผสมผสานกับไอเดียของตัวเธอเอง ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ เพราะต้องการจะใช้เสื้อผ้าจากผ้าไทยสามารถใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ในทุกสถานที่และทุกสถานการณ์ 
 
 
“ตอนนี้ร้านเปิดมาได้ปีกว่าแล้ว การตอบรับค่อนข้างดี ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาซื้อปลีกโดยตรงกับร้านยังเป็นกลุ่มข้าราชการอยู่ แต่ใจจริงแล้วเราอยากให้คนรุ่นใหม่ๆ หันมาใส่ผ้าไทยเหมือนกัน เราจึงพยายามออกแบบให้ไม่เป็นบล็อก เพราะเมื่อใดที่เราออกแบบเป็นบล็อกปั๊บ จะทำให้ผู้ที่สวมใส่ดูมีอายุมากขึ้นทันที ฉะนั้นหลักง่ายๆ ของการออกแบบที่ร้านเรา คือเน้นให้งานออกมาเรียบหรู ดูดี และเบาสบาย” 
 
 
นอกเหนือจากลูกค้าที่มาซื้อปลีกจากร้านโดยตรงแล้ว เธอยังรับทำตามออร์เดอร์และขายส่งให้กับลูกค้าในจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย รวมถึงเดินสายไปจำหน่ายด้วยตัวเองตามจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติค่อนข้างจะชื่นชอบในผ้าไทย จึงทำให้ตลาดในส่วนนี้ของเธอค่อนข้างไปได้ดีทีเดียว

พร้อมกันนี้ นัทธนาภ์กัลกล่าวต่ออีกว่า ในนครพนมไม่ได้มีเพียงแค่ร้านเธอเท่านั้น แต่มีร้านที่เปิดมาก่อนเธอด้วยซ้ำ แต่การที่ธุรกิจของเธอสามารถแข่งขันได้นั้น เพราะเธอพยายามสร้างความต่างให้กับตัวเองเพื่อเป็นจุดขาย โดยเฉพาะเรื่องของการออกแบบ ถือเป็นจุดที่สร้างตัวตนให้กับร้านของเธอได้อย่างชัดเจน นัทธนาภ์กัลบอกว่า เธอไม่จำเป็นต้องลงทุนก้อนโต เพื่อซื้อผ้ามาเก็บไว้ที่ร้าน อย่างที่ร้านอื่นๆ ทำกัน เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการดีไซน์และเน้นคุณภาพการตัดเย็บ เพียงเท่านี้สินค้าก็จะสามารถขายออกไปได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องมีสต๊อกผ้าให้กลายเป็นต้นทุนทางธุรกิจ 
 
 
“เราทำสินค้าด้วยใจ เราไม่ได้มักง่ายว่าจะต้องรีบทำ เชื่อไหมว่าช่างที่มาตัดเย็บงานให้เรา 20 คน เหลือแค่คนเดียว เพราะงานไม่ผ่าน หรือมีบางรายเครียดมากเอางานมาส่งคืนก็มี เพราะไม่กล้าทำ งานคุณภาพดูอย่างไร รอยตะเข็บผ้าจะต้องเนี้ยบ ซึ่งมีช่างอยู่คนหนึ่งเก่งมากเลย ใช้จักรถีบด้วย ซึ่งงานที่เขาทำนั้นจะออกมาดูเป็นธรรมชาติ ต่างจากการใช้จักรโรงงานเย็บ ถึงแม้จะดูสวยเป็นระเบียบ แต่ก็ดูไม่เป็นธรรมชาติ เพราะอะไรที่ดูลงตัวเกินไปมันก็ไม่สวย”
 
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นที่ของจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นชายแดนติดต่อกับประเทศลาว ผู้ประกอบการหัวใสรายนี้ ยังเกิดแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใกล้เคียงในการเป็นอีกหนึ่งแหล่งวัตถุดิบของเธอ เพราะเธอบอกว่า ลาวนั้นมีความหลากหลายในแง่ของวัฒนธรรม ทำให้มีผ้าสวยๆ เป็นจำนวนมาก และขณะนี้เธอมีเพื่อนในฝั่งลาวที่ติดต่อค้าขายด้วยกันแล้ว ดังนั้นจึงนับเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ แม้ลาวจะไม่ได้เป็นเป้าหมายในการทำตลาดของเธอ แต่อย่างน้อยก็เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ดีได้ นัทธนาภ์กัล กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการสนทนา 
 
เมื่อมีวัตถุดิบที่ดีแล้ว เพียงแค่เติมไอเดียลงไป ธุรกิจที่ดูเหมือนจะธรรมดา ก็จะโดดเด่นขึ้นมาได้ทันที
 
ร้านคุ้มฝ้ายงาม
เลขที่ 255/3 ถ.บำรุงเมือง อ.เมือง จ.นครพนม 48000
โทร. 0-4251-1330, 08-0311-1463
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน