
Cr :Kārlis Dambrāns
จากที่เดินหน้ามาได้อย่างถูกทางด้วยการจับพันธมิตรแบรนด์ดังอย่าง Leica จนสามารถชูจุดเด่นในเรื่องการถ่ายภาพให้หัวเว่ยเป็นชื่อแรกๆ ที่คนนึกถึงเมื่อต้องการจะซื้อสมาร์ทโฟนซักเครื่อง จนใกล้จะถึงจุดหมายการขึ้นแซงหน้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในตลาดมือถือแอนดรอยด์ แต่ก็ต้องมาสะดุดจากปัญหาที่ไม่ควรเกิดขึ้นได้ และซ้ำร้ายไปกว่านั้น การชี้แจงของ CEO ที่ทำให้สถานการณ์ดูแย่ไปกว่าเดิม ในกรณีของ Huawei P10 และ P10+ ที่นำ memory ซึ่งประสิทธิภาพต่ำกว่าและราคาถูกกว่าเข้ามาปะปนในสินค้าหลัก โดยอ้างว่า “เพราะผลิตไม่ทัน จึงต้องทำเช่นนี้” และ “จากที่ทดลองใช้เองก็ไม่เห็นว่าจะแตกต่างกัน” ทำให้เกิดกระแสดราม่าอย่างหนักสะเทือนถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ โดยเฉพาะในตลาดของประเทศไทยซึ่งสินค้าแบรนด์จีนจะถูกมองด้วยความหวาดระแวงก่อนเสมอ
จากกรณีของหัวเว่ย เมื่อเราหันกลับมามองถึงหลักสำคัญของการดำเนินธุรกิจ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องยึดไว้อย่างเหนียวแน่น เพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ นั่นคือ
ความน่าเชื่อถือ
ทุกธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่หากความน่าเชื่อถือลดลงแม้เพียงน้อยนิด ผลกระทบที่ตามมาย่อมใหญ่หลวงกว่าเสมอ อีกทั้งการสร้างความน่าเชื่อถือก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยกตัวอย่างผู้ประกอบการออนไลน์ ซึ่งนักการตลาดบอกว่า ความน่าเชื่อถือคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น ยิ่งถ้าผู้ประกอบการมีหน้าร้านและมีบริการหลังการขายที่ดี ลูกค้าจะยิ่งเพิ่มความไว้วางใจ และแปรเปลี่ยนจากลูกค้าขาจรมาเป็นขาประจำจนกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ได้
การแก้ไขปัญหาอย่างมืออาชีพ
เพราะในโลกนี้ไม่มีใครหรือสิ่งใดที่สมบูรณ์แบบ การมีข้อผิดพลาดจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญคือ เมื่อรู้ว่าผิดพลาด จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เมื่อพบว่าสินค้ามีข้อผิดพลาดที่มาจากฝั่งของผู้ผลิตเอง ทางเลือกของพวกเขาคือ การเสนอเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ถ้าหากข้อผิดพลาดนั้นเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการก็เลือกที่จะเรียกคืนสินค้าทุกชิ้นกลับและชดเชยค่าเสียหายให้กับลูกค้า หรือในกรณีที่ยังต้องการรักษาสัมพันธ์กับลูกค้าอยู่ก็อาจเสนอเป็นสินค้าที่ใกล้เคียง โดยมากเราจะพบกรณีเหล่านี้บ่อยครั้งจากอุตสาหกรรมนานยนตร์ ที่ผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบด้วยการเรียกคืนสินค้า หรือแจ้งให้ลูกค้านำสินค้าเข้ามาเปลี่ยนชิ้นส่วนที่มีปัญหาออกเป็นของใหม่ที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าแก้ไขปัญหาได้
รู้จักมองวิกฤติให้เป็นโอกาส
หลายครั้งที่ธุรกิจต้องเจอวิกฤติในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องยากอีกเช่นกันที่จะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะวิกฤติที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เพราะเราไม่สามารถควบคุมด้วยตัวเองได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติต่างๆ ที่ส่งต่อการดำเนินกิจการ ขณะที่วิกฤติซึ่งเกิดจากปัจจัยภายใน อาจะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ง่ายกว่า แต่ก็ส่งผลกระทบอยู่ดี แต่ให้คิดไว้เสมอว่า ในวิกฤติทุกครั้งมีโอกาสแฝงอยู่เสมอ เพียงแต่คุณสามารถที่จะพลิกให้กลายเป็นโยชน์กับตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี