สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป พลิกวิกฤตสร้างโอกาสโต

Text : กองบรรณาธิการ


 



     ยอดขายที่หายไปเกินครึ่งแบบไม่ทันตั้งตัว จากวิกฤตวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง แทบทำให้ธุรกิจ “สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป” เกือบจะไปต่อไม่ได้ หากวันนั้น 2 ผู้ก่อตั้งอย่าง พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร และอัญชลี พรมอ่วม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด เกิดถอดใจไม่สู้ต่อ คงจะไม่มีชื่อสมาร์ท ไอดี กรุ๊ปอย่างทุกวันนี้


     เรียกได้ว่า สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป คือต้นแบบความสำเร็จของความเป็นผู้ประกอบการ SME ในยุค 4.0 ที่สร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจด้วยแนวคิดที่แตกต่าง ด้วยการเป็นแบรนด์เทคโนโลยีเพื่อไลฟ์สไตล์ และไม่เคยหยุดนิ่งที่จะก้าวตามเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ตลอด 11 ปี บนถนนสายธุรกิจไอทีของ “สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป” แม้จะเจอขวากหนาม แต่กลับแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากยอดขายที่เติบโตขึ้นทุกๆ ปี 

 



     พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า มาจากการที่ เริ่มพัฒนา Chipset ขึ้นมาจำหน่ายไปผ่านทางเว็บไซต์ จนกลายเป็นโอกาสในการต่อยอดสู่การเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เมาส์ คีย์บอร์ด หูฟัง ฯลฯ ในฐานะ OEM ให้กับหลายแบรนด์ดังทั่วโลก


     “ด้วยความที่เดินทางต่างประเทศบ่อย ได้เห็นว่าอุปกรณ์ไอทีหลายอย่างที่ไทยยังไม่มี ที่สำคัญตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีนักดีไซน์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่นำเข้ามา เราจึงเห็นโอกาส เพราะจริงๆ แล้วจุดต่างของคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์  ดีไซน์ข้างนอกคือจุดขาย เพราะเทคโนโลยีข้างในใกล้เคียงกันหมด ซึ่งเป็นจุดที่เราทำได้ดี และตอนนั้นเราทำเจ้าเดียวเลย แบรนด์ใหญ่ๆ ทุกแบรนด์จึงมาให้เราผลิต  แม้จะมีโอกาสเข้ามาหามากมาย แต่สูตรการทำธุรกิจของเราคือ ทำจากเล็กไปใหญ่ จะไม่ทำอะไรเกินตัว คำนึงถึงพนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ ทุกฝ่ายต้อง Win-Win เพราะคนเหล่านี้จะอยู่กับเราไปตลอด ซึ่งนั่นหมายถึงการเติบโตที่ยั่งยืน”

 



    แต่ใช่ว่าตลอดเส้นทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ในวันที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่คาดไม่ถึง ทั้งจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีการปิดสนามบิน ทำให้คู่ค้ารายใหญ่เป็นห้างค้าปลีกที่บริษัทรับผลิตแบบ OEM แล้วติดยี่ห้อให้ โดยขณะนั้นมียอดขายเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของทั้งหมด สั่งบริษัทให้ผลิตเป็นจำนวนมากแต่ไม่รับสินค้า บริษัทจึงต้องตัดสินใจเดินไปขอยกเลิกออเดอร์ทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหา  และในวันนั้นเองที่ทำให้คนทั้งคู่ตัดสินใจที่จะสู้ด้วยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยหันมาสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว 


     “ตอนนั้นเราสองคนต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจไปรอด ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการดำเนินงานออก เช่น ค่าเช่าตึกสำนักงาน แล้วดัดแปลงบ้านให้เป็นออฟฟิศแทน โดยไม่มีการปลดทีมงานออกเด็ดขาด วางระบบการขนส่ง บริหารสต๊อคสินค้า คาดการณ์ยอดออเดอร์ลูกค้าอย่างแม่นยำ เราทำแผน crisis แล้วมันใช้ได้จริง จนในที่สุดเราใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวทำให้ยอดขายกลับมาเท่าจุดเดิมได้  ผมไม่อายนะแต่กลับรู้สึกภูมิใจด้วยซ้ำที่สามารถแก้ปัญหาได้  สิ่งสำคัญของ SME คือต้องปรับตัวให้ไว และมองภาพแบบองค์รวม เวลาเกิดปัญหาถ้าไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของซัพพลายเชน ก็จะไม่รู้เลยว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว”


     จากการปรับตัวครั้งนั้นส่งผลให้สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป มุ่งพัฒนาแบรนด์โดยชูจุดแข็ง 3 เรื่อง ได้แก่ Design ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของบริษัทอยู่แล้ว ต่อมาคือ Variety ความหลากหลายที่มีให้ลูกค้า และสุดท้ายคือ Warranty รับประกันสินค้าให้ลูกค้านานถึง 2 ปี และประกันความเสียหายสูงสุดถึง 300,000 บาท หากเกิดเหตุอันมาจากสินค้า ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพสินค้า 

 



    นอกจากนี้ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จึงขยายแบรนด์ให้ครอบคลุมได้ตั้งแต่ตลาดบนยันตลาดล่าง มีทั้งหมด 4 แบรนด์ ได้แก่ anitech อุปกรณ์ต่อพวงคอมพิวเตอร์ที่โดดเด่นด้านดีไซน์  เป็นแบรนด์เทคโนโลยีสำหรับไลฟ์สไตล์อย่างแท้จริง  nobi  เป็นแบรนด์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและราคาจับต้องได้ เพื่อเอาไว้สู้กับสินค้าจีนPentagonz  แบรนด์ที่เน้นอุปกรณ์เสริมสำหรับนักเล่นเกมส์โดยเฉพาะ และ    45๐ เป็นแบรนด์ครีเอทีพที่เน้นเรื่องการออกแบบ ผลิตให้ตัวแทนจำหน่ายขายเฉพาะแบรนด์นี้เจ้าเดียว และน่าจับตามองตรงที่ สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ Mai ในปี 2560  ซึ่งจะทำให้ก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็น Regional Brand ในภูมิภาคอาเซียน  


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจนสอง 'สหไทย' พลิกห้างที่ถูกลืม สู่ค้าปลีกยุคใหม่ด้วยดิจิทัล

จาก “ห้างที่ไม่มีใครเหลียวมอง” สู่จุดเปลี่ยนที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นกลับมายืนได้อีกครั้ง สศิษฏ์ ปัญจคุณาธร ทายาทรุ่นที่สองของสหไทย พลิกภาพห้างที่เคยถูกลืมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วย 5 กลยุทธ์ที่ทำให้มีมากกว่า 100 ร้านค้าติดต่อเข้ามาให้เลือก

KUSU เทียนหอมเสมือนจริง ที่มี “รูปทรงหิน” เป็นตัวตึง ฝีมือสุดทึ่งของสถาปนิกไทย

เหมือนจนอยากเก็บ สวยจนไม่อยากจุด กับ KUSU แบรนด์เทียนหอมสุดอาร์ต งานคราฟต์สุดจึ้ง ที่มีลูกเล่นอยู่ที่ “ความเสมือนจริง” ฉีกกฎตลาดของแต่งบ้านและเทียนหอมแบบที่เคยเห็นกันมา แต่กว่าจะถึงวันนี้ ก็ต้องเสียน้ำตา(เทียน) ไปมากมายทีเดียว

เดินเกมแบบไม่ใหญ่ แต่ไปได้ไกล! ถอดสูตรความสำเร็จ Awesome Screen โรงงานเสื้อที่โตสวนกระแส

อยากรู้ว่า Awesome Screen โรงงานรับสกรีนและตัดเย็บเสื้อยืดแบบ OEM ทำอย่างไรให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤต และเติบโตได้อย่างมั่นคงในวันที่โลกไม่แน่นอน ตามไปดู “กลยุทธ์” ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จกันได้เลย