​Study room Café เทรนด์ธุรกิจที่กำลังฮอตในญี่ปุ่น

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์



Cr.benkyo study room café

    ดราม่ากันบ่อย ๆ กับเคสที่นักเรียน นักศึกษาในบ้านเราชอบไปนั่งตามร้านกาแฟ หรือร้านฟาสต์ฟู้ดเพื่ออ่านหนังสือหรือติวข้อสอบ ส่งผลให้ที่นั่งไม่พอ ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการก็มาตั้งกระทู้บ่นกันบ่อย ๆ หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นร้านเหล่านี้ ไปอ่านในห้องสมุดหรือที่บ้านไม่ดีกว่าหรือ อันนี้คิดว่าเหตุผลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ที่ญี่ปุ่น เห็นเทรนด์คาเฟ่ประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแล้วก็นึกถึงเรื่องที่เป็นดราม่าในบ้านเราไม่ได้

    ธุรกิจจะพูดถึงคือ คาเฟ่ห้องเรียนหรือ study room café ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มคนทำงาน พนักงานออฟฟิศทั่วไปเป็นหลัก อย่างที่ทราบกันว่าคนญี่ปุ่นนั้นทุ่มเทให้กับการทำงานและการแข่งขันเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานนั้นสูงมาก ทุกคนจึงพยายามพัฒนาศักยภาพของตนโดยการสอบเลื่อนขั้น สอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตในสายงานที่ตัวเองจบมา เช่นนักบัญชี วิศวกรและอาชีพอื่น ๆ แต่ที่นิยมที่สุดคือการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ     พนักงานเหล่านี้โดยมากอาศัยในเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว เกียวโต และโอซาก้า และล้วนแต่จริงจังกับการอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบ แต่ปัญหาคือพวกเขาไม่มีสถานที่ที่ตอบโจทย์ เช่น ห้องพักที่อาศัยอยู่อาจจะคับแคบ บรรยากาศไม่ชวนให้อ่านหนังสือ ครั้นจะเช่า co-working space ราคาก็แพงเกินไป ถ้าจะไปห้องสมุดก็ไม่สะดวกด้วย เช่น เวลาไม่อำนวย คนแน่นไม่มีที่นั่ง อาหารเครื่องดื่มห้ามนำเข้าไป ติวเป็นกลุ่มไม่ได้ และบรรยากาศในห้องสมุดดูแล้วเครียดเกินไป 

    การผุดธุรกิจ study room café จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด คาเฟ่ห้องเรียนอาจมีความละม้ายคล้ายเหมือน co-working space ตรงที่บริการพื้นที่ใช้งานพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย มีล็อคเกอร์ให้เก็บทรัพย์สินหากต้องออกการเบรคเพื่อออกไปสูบบุหรี่หรือเข้าห้องน้ำ มีอาหารและเครื่องดื่มบริการ แต่สิ่งที่คาเฟ่ห้องเรียนต่างจาก co-working space คือพื้นที่ใช้สอยมักแบ่งเป็น 3  แบบคือ แบบส่วนตัวที่กั้นเป็นคอก ๆ สำหรับผู้ต้องการสมาธิเวลาอ่านหนังสือ แบบห้องประชุมเล็ก ๆ สำหรับติวกันหลายคน และแบบพื้นที่ส่วนกลางเพื่อผ่อนคลายหรือพักสายตา 

    นอกจากนั้น ผู้ใช้บริการต้องสมัครสมาชิกและจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน หลังจากนั้นจะไปใช้บริการเมื่อใดก็ได้ตามเวลาเปิด-ปิดของคาเฟ่ สำหรับสนนราคาเริ่มต้นที่ 6,000 เยนหรือราว 1,845 บาท ไปจนถึง 10,000 เยน (3,075 บาท) ต่อเดือน แล้วแต่คาเฟ่ แต่โดยรวมแล้ว ค่าบริการย่อมเยากว่า co-working space แน่นอน จึงไม่แปลกที่คาเฟ่ประเภทนี้จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ 

    รายงานระบุว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนคาเฟ่ห้องเรียนในโตเกียวเพิ่มขึ้นจากเดิมคิดเป็นร้อยละ 30 โดยปัจจุบันมีประมาณ 113 แห่ง ส่วนในโอซาก้า เพิ่มจากเดิมร้อยละ 40 มาอยู่ที่ 96 แห่ง บริษัท Bookmarks Inc. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคาเฟ่ห้องเรียนรายใหญ่ภายใต้ชื่อ Benkyo café และมีสาขากระจาย 21 แห่งมีแผนจะขยายธุรกิจเพิ่มอีก 6 แห่งภายในปี 2019 ฮิโรชิ โยมามุระ ผู้ก่อตั้งคาเฟ่ล่าว่าสมาชิกที่มาใช้บริการเป็นกลุ่มที่มุ่งมั่นฝึกภาษาต่างประเทศ ขณะที่เจ้าของ Jishuu Café ในโอซาก้ามองว่าตลาดคาเฟ่ประเภทนี้มีศักยภาพและยังเติบโตได้อีก ทางคาเฟ่จึงเตรียมเปิดบริการเพิ่มอีก 4 แห่งและจะขยายให้ครบ 20 สาขาเพื่อครอบคลุมพื้นที่โอซาก้าสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการ ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 30 และทำงานหลากหลายสาขา ทั้งการเงิน ไอที และสาธารณสุข

      คาเฟ่ห้องเรียนอาจจะไม่ใช่ไอเดียแปลกใหม่อะไร เพราะในหลายประเทศ เช่น เกาหลี อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่อเมริกาก็มีบริการเช่นกันแต่อาจยังไม่แพร่หลาย ในบ้านเราอาจมีคาเฟ่ที่เจาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา แต่ถึงขั้นจัดสรรพื้นที่ให้ลูกค้าอ่านหนังสือแบบส่วนตัวและคิดค่าบริการรายเดือนในราคาที่เป็นมิตร คิดว่ายังไม่มี เชื่อว่าไอเดียนี้น่าจะได้รับการตอบรับดีไม่น้อยโดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ 


ข้อมูล
http://asia.nikkei.com/Business/Consumers/More-Japanese-adults-are-hitting-the-books-at-study-cafes


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน