'Chairless steakhous' กลยุทธ์แหวกแนวของร้านสเต๊กญี่ปุ่น



                                                                                                                           
TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 PHOTO : Ikinari Steak


 
     เปิดร้านอาหารแบบ eat in ทั้งที แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้คือโต๊ะเก้าอี้สำหรับให้ลูกค้านั่งรับประทาน เว้นแต่คอนเซปต์ของร้านจะเป็นแบบ  grab n go หรือ take away ถ้าอย่างนั้น การไม่มีโต๊ะเก้าอี้ ก็ยังพอเข้าใจได้ อ้อ! แต่ร้าน take away บางแห่ง เขาจัดเก้าอี้ให้ลูกค้านั่งรอก็มีนะ ไปดูที่ร้านนี้กัน เปิดเป็นร้านอาหาร บริการให้ลูกค้าทานที่ร้านแท้ๆ แต่ไม่มีเก้าอี้สักตัวให้นั่ง ลูกค้าต้องยืนรับประทาน ด้วยแนวคิดแปลกๆ แบบนี้ กลับกลายเป็นว่าลูกค้าต่อแถวยาวเหยียดเพื่อใช้บริการ


     เรากำลังพูดถึง Ikinari Steak เชนร้านสเต๊กที่ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น เจ้าของเป็นเชฟชื่อ Kunio Ichinose เปิดดำเนินการสาขาแรกในโตเกียวเมื่อปี 2013 ใช้เวลาเพียง 3 ปี ก็สามารถขยายเป็น 116 สาขาแล้ว เฉพาะในโตเกียวนั้นมีมากถึง 60 แห่ง ล่าสุดเพิ่งไปเปิดสาขานอกประเทศที่แรกในนิวยอร์ก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีมากๆ เช่นกัน 


     จุดเด่นของ อิคินะริ สเต๊ก อย่างแรกคือเป็นร้านไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างร้านขายเนื้อกับร้านสเต๊ก เมื่อเดินเข้าร้าน สิ่งที่ลูกค้าต้องทำอันดับแรกคือการเลือกชนิดของเนื้อตามต้องการว่าจะเป็นเนื้อติดซี่โครง สันนอก และสันใน ทางร้านจะเฉือนให้เดี๋ยวนั้น โดยลูกค้าต้องสั่งปริมาณ 200-300 กรัมขึ้นไปแล้วแต่ชนิดของเนื้อ ที่ต้องกำหนดขนาดของเนื้อเพราะจะมีผลต่อรสชาติเวลาปรุง ชิ้นเนื้อยิ่งหนายิ่งอร่อย


     อย่างที่สองคือ เป็นร้านไร้เก้าอี้นั่ง มีเพียงโต๊ะที่มีความสูง 1 เมตรให้ลูกค้าวางจานอาหารและยืนรับประทาน มีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่าลูกค้าจะใช้เวลาในร้านเพื่อรับประทานอาหารจนเสร็จเฉลี่ยไม่เกิน 30 นาที หรือถ้ารออาหารนานก็อาจยืดไปถึง 45 นาที ด้วยคอนเซปต์ “เสิร์ฟเร็ว” ทางร้านจึงไม่มีเก้าอี้บริการ ลูกค้าจะได้รีบกิน รีบไป ทำให้ turnover หรือการหมุนเวียนของลูกค้าเร็วขึ้น อย่างร้านในโตเกียว พื้นที่ร้านแค่ 200 ตารางฟุต แต่สามารถบริการลูกค้าวันละ 500 คนโดยประมาณ  


     และสาม ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ลูกค้าติดใจและวนเวียนกลับมาใช้บริการครั้งแล้วครั้งเล่าคือ สเต๊กที่นี่คุณภาพดีเทียบเท่าร้านหรูสไตล์ fine dining แต่ราคาถูกกว่าครึ่ง แถมบริการก็เร็ว ไม่ต้องรอนาน สเต๊กสไตล์ญี่ปุ่นจะถูกเสิร์ฟมาบนจานร้อน และมีหลากหลายซอสให้เลือก แต่ที่เป็น signature ของร้านคือ J-sauce ที่มีส่วนผสมของซอสถั่วเหลือง ส่วนเครื่องปรุงอื่น ๆ ก็มีวางที่โต๊ะให้เลือกรวมถึงวาซาบิด้วย นอกจากสเต๊กแล้ว ทางร้านยังมีอาหารข้างเคียงหรือ side dish ให้เลือก เช่น ข้าวผัดกระเทียม ข้าวผัดพริกไทยดำ สลัด และซุป


     ลูกค้าเป้าหมายของเชฟอิชิโนเสะ คือชนชั้นกลางที่มีรสนิยมในการกินสูง บรรดาพนักงานออฟฟิศที่ชอบทานเนื้อแต่ไม่มีเวลานั่งละเลียด และลูกค้าเดี่ยวที่มาคนเดียว แม้จะมีดีที่คุณภาพอาหารและความอร่อย แต่ร้านอิคินะริ สเต๊กก็พยายามรักษาฐานลูกค้าโดยการทำแคมเปญบัตรสมาชิก Niku Mileage Card ที่เชื่อมข้อมูลกับแอพพลิเคชั่น เมื่อลูกค้าไปใช้บริการแต่ละครั้งจะมีการบันทึกว่าทานไปกี่กรัม ยอดรวมเท่าไร มีการจัด 100 อันดับลูกค้าที่ทานเยอะ คนที่ทำยอดสะสมครบ 3 กิโลกรัม จะได้รับบัตรทอง ส่วนคนที่ทานครบ 20 กิโลกรัม จะได้ถือบัตรแพลตินัม เมื่อมาใช้บริการที่ร้านก็จะได้สิทธิพิเศษต่างๆ ตามที่เงื่อนไขกำหนด 


    นับเป็นไอเดียที่ไม่เลวเลย จากการสอบถามความเห็น ลูกค้าส่วนใหญ่บอกว่าไม่มีเก้าอี้ไม่เป็นไร แค่ได้ทานสเต๊กอร่อยคุณภาพดีในราคาที่ถูกแสนถูกก็ถือว่าคุ้มแล้ว 


ข้อมูล
http://ikinaristeakusa.com/press.html
http://www.lonelyplanet.com/news/2017/03/03/stand-up-steak-japanese-restaurant-new-york/


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล