​เทคนิคการจัดการธุรกิจร้านอาหาร สไตล์ กุลวัชร ภูริชยวโรดม

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ฝ่ายภาพนิตยสาร SME Thailand
    
    ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมได้ทั้งสิ้น แนวคิดอันเกิดจากความเชื่อที่ว่า ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ ทำให้ร้านอาหารจานด่วนสไตล์ญี่ปุ่นแบรนด์ ChouNan (โชนัน) โดยมีหัวเรือใหญ่อย่าง กุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ ออริจินัล ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดและการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ในองค์กร เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ จนนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรและธุรกิจได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้คว้ารางวัล SME Thailand Inno Awards 2016 ในสาขาโดดเด่นด้านการบริหารจัดการองค์กรและธุรกิจไปครองได้สำเร็จ



    ปัจจุบัน ChouNan มีทั้งสิ้น 12 สาขาด้วยกัน โดยคอนเซ็ปต์ของร้านจะเป็นอาหารประเภทจานด่วน จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้กระชับมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ของร้านไม่ได้มีขนาดใหญ่ ดังนั้นต้องใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นพื้นที่ครัวต้องทำให้เล็กกว่าครัวของร้านอาหารทั่วไป อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ต้องเลือกใช้ที่มีความคล่องตัวสูงและประหยัดพื้นที่ ในเรื่องนี้ กุลวัชรบอกว่า สิ่งที่เป็นโจทย์ของการทำร้าน ChouNan ตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดีไซน์ร้าน การคิดเมนูใหม่ รูปแบบของการทำการตลาด หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องอยู่ภายใต้หลักการ Lean เพื่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพมากที่สุด 

    “สิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่การใช้เครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วย แต่อยู่ที่การเปลี่ยนกระบวนการคิดก่อน เราพยายามคิดว่า งานที่เราทำวันนี้ พรุ่งนี้จะทำยังไงให้ดีขึ้นกว่าวันนี้  ทุกๆ วันจะมีการนำเสนอไอเดียจากพนักงานหน้าร้าน เพื่อเอามาใช้ในการปรับปรุงการทำงาน อย่างบริษัทเรามีการจัดโครงการ Farm Inno Award คือให้พนักงานส่งผลงานประกวด อาจเป็นความคิดในการเพิ่มมูลค่าของงานที่ทำอยู่ หรือเป็นการลดค่าใช้จ่าย หรือเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร” 



    ถึงตรงนี้ กุลวัชร ยกตัวอย่างผลงานที่พนักงานช่วยกันนำเสนอ เช่น ไอเดียของแผนกจัดซ่อม คือปกติจะมีเตาไฟฟ้าที่เสียแล้วต้องเปลี่ยนบ่อยมาก อายุการใช้งานปีหนึ่งก็เสียแล้ว บางครั้งส่วนกลางไม่สามารถซ่อมได้ก็ต้องทิ้งไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พนักงานเอาเตาไฟฟ้าที่เสียนี้ไปแยกชิ้นส่วนออกทั้งหมด ส่วนไหนที่ดีอยู่ก็เก็บไว้ แล้วเอามาประกอบเป็นเครื่องใหม่ส่งกลับไปให้ที่หน้าร้านใช้งาน ทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุนในส่วนนี้ได้มากถึง 200,000 บาทต่อปี อีกตัวอย่างหนึ่งคือ พนักงานที่ทอดแป้ง โดยทั่วไปเขาก็จะใช้มือในการสลัดแป้งให้เป็นก้อนเล็กๆ ในการทอด ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังต้องถูกน้ำมันกระเด็นโดนตัวด้วย เขาจึงคิดวิธีที่จะช่วยให้การทำงานของเขาดีขึ้น ด้วยการใช้ไม้มาวางเป็นฐานบนปากหม้อทอด แล้วเอาหม้อเก่าๆ อีกใบมาเจาะรูให้ทั่วแล้วนำไปวางบนไม้ พอถึงเวลาทอดก็แค่ตักแป้งใส่ลงไปในหม้อ แป้งก็จะหยดไปตามรูที่เจาะไว้ลงไปในหม้อทอด ซึ่งวิธีนี้ก็จะทำให้พนักงานทำงานได้เร็วขึ้น แถมไม่มีน้ำมันกระเด็นอีกด้วย



    นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความคิดของพนักงานในองค์กร ChouNan เพื่อที่จะใช้ช่วยการทำงานของพวกเขานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเขาย้ำว่า จริงๆ แล้วนวัตกรรมที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ซ้ำซ้อนหรือยุ่งยากเลย เพียงแต่ต้องมองว่า อะไรคือปัญหา และต้องเชื่อว่าทุกปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้ และนวัตกรรมก็จะมาจากความต้องการที่จะแก้ปัญหานั้นๆ หรือพูดง่ายๆ คือ นวัตกรรมเริ่มมาจากความขี้เกียจก็ว่าได้ เพราะคนเราทุกคนอยากทำงานสบาย ไม่ต้องเหนื่อย ยุ่งยาก ก็ต้องพยายามคิดอะไรใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การทำงานนั้นง่ายและสบายขึ้นนั่นเอง

    “การเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร สามารถทำได้ทุกระดับชั้น เพียงแต่องค์กรไหนถ้ายังไม่เคยเริ่มคิดเรื่องนี้เลย ผู้นำต้องออกแรงมากหน่อยที่จะทำให้คนในองค์กรเห็นถึงประโยชน์ของการเพิ่มประสิทธิภาพ และต้องแสดงให้เห็นว่า ผลลัพธ์จากสิ่งที่ทำนั้น ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ตัวของพนักงานเอง เช่น เขาทำงานสบายขึ้น ง่ายขึ้น ดีขึ้นกับตัวเอง แต่ถ้าทำแล้วผลลัพธ์ตกอยู่ที่บริษัทหรือเจ้าของธุรกิจอย่างเดียว พนักงานก็จะไม่สนใจทำ แน่นอนว่าประสิทธิภาพย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนทั้งองค์กร” กุลวัชร กล่าวทิ้งท้าย      
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล