ชาตรี ศิษย์ยอดธง จากคนไร้บ้านสู่เจ้าของธุรกิจหมื่นล้าน

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    รายการแข่งขันศิลปะการป้องกันตัวแบบผสมหรือ MMA (Mixed Martial Arts) ที่ยิ่งใหญ่สุดในเอเชียที่จัดโดย ONE Championship เมื่อเสาร์ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ อิมแพค อารีนา เมืองทองธานีเพิ่งเสร็จสิ้นไป ทำให้นึกถึงผู้อยู่เบื้อหลังอีเวนต์ใหญ่ ๆ เช่นนั้น ชาตรี ศิษย์ยอดธง นักธุรกิจหนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นวัย 45 ปีที่หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ แต่ในวงการ MMA  เขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้ง ONE Championship รายการถ่ายทอดกีฬาที่ใหญ่สุดในเอเชีย มีผู้ชมกว่า 1,000 ล้านครัวเรือนใน 70 ประเทศทั่วโลก และเป็นเจ้าของ Evolve ค่ายยิมในสิงคโปร์ที่เน้นฝึกนักกีฬาให้เป็นแชมป์

    ภูมิหลังของชาตรี (นามสกุลจริง ตรีศิริพิศาล ส่วนศิษย์ยอดธง เป็นฉายาที่ได้มาตอนเป็นนักมวย) นั้นน่าสนใจ  เรียกว่าชีวิตระหกระเหิน พลิกผันยิ่งกว่าการนั่งรถไฟเหาะตีลังกาเสียอีก ความลำบากในชีวิตชนิดแทบไม่มีจะกินหล่อหลอมให้เขาเป็นนักสู้และไม่ยอมแพ้ จนท้ายที่สุด เขาก็พลิกชะตาชีวิตสำเร็จ ขึ้นแท่นนักธุรกิจที่ประสบความเร็จ เป็นเจ้าของสปอร์ตเอ็นเทอร์เทนเมนต์มูลค่าเกือบ 1,000 ล้านเหรียญ 


Cr : CNBC.com
    
  ย้อนไปช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีก่อน ครอบครัวชาตรีซึ่งดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยได้รับผลกระทบจากฟองสบู่เศรษฐกิจแตก นอกจากส่งผลให้ธุรกิจล้มละลาย ครอบครัวยังพังทะลาย คุณแม่ชาวญี่ปุ่นได้พาเขาและน้องชายไปปักหลักที่อเมริกา แม้จะได้ทุนเรียน MBA ที่ฮาร์วาร์ด แต่ชีวิตชาตรีช่วงนั้นลำบากเลือดตาแทบกระเด็น กินข้าววันละมื้อ มีเงินใช้จำกัดวันละ 4 เหรียญ บ้านไม่มีอยู่ เขายอมแหกกฎแอบพาแม่มาอาศัยนอนในหอพักของมหาวิทยาลัยด้วย
 
    อย่างไรก็ตาม หลังเรียนจบ ชาตรีตั้งบริษัทไอทีขึ้นมา และขายต่อได้ในราคา 1 ล้านเหรียญ จากนั้นเขาก็เข้าสู่วงการเฮดจ์ฟันด์หรือกองทุนเก็งกำไร จับพลัดจับผลูมีคนเสนอทุนให้ตั้งกองทุนมูลค่า 500 ล้านเหรียญในวอลล์สตรีท คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้ 10 ปีจนร่ำรวยมีเงินหลายพันล้านแต่กลับไม่มีความสุขสักเท่าไร เขาตั้งคำถาม ทำไมต้องใช้ชีวิตไปอย่างหมดเปลือง มีบ้านมีรถมากๆ เหมือนคนอื่น มันเป็นชีวิตที่ไม่ค่อยมีความหมาย 

    ชาตรีตัดสินใจกลับมาปักหลักที่เอเชีย ด้วยความชื่นชอบศิลปะการป้องกันตัว เคยฝึกมวยไทยตั้งแต่เด็ก เคยเป็นครูฝึกมาก่อน เขาจึงตั้ง  Evolve และ ONE Championship ขึ้นที่สิงคโปร์ การแสวงหาความหมายในชีวิตเริ่มขึ้นด้วยการมอบโอกาสให้คนอื่น ชาตรีให้สัมภาษณ์ CNBC ว่า 95% ของคนส่วนใหญ่สนใจที่การใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่คนที่เป็นเศรษฐีจะเน้นการเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองและทำประโยชน์ให้กับโลก การช่วยคนเยอะ ก็ทำให้รายได้เยอะขึ้นมากด้วยเช่นกัน ปัจจุบันยิมของเขามีแชมป์จากลุมพินี-ราชดำเนินมากที่สุดในโลกการให้โอกาสคนอื่นทำให้เขารู้สึกมั่นคงและชีวิตมีความหมายมากกว่าการมีบ้านหลายหลังมีรถหลายคัน 

    ว่าไปแล้วเหมือนเขากำลังดำเนินชีวิตตามปรัชญาลัทธิเต๋าในการใช้ชีวิตอย่างสมถะ เขาไม่สนใจวัตถุนิยม ไม่สะสมบ้านหรือรถ ปี ๆ หนึ่งซื้อเสื้อยืดแค่ 5-10 ตัวราคาตัวละไม่เกิน 20 เหรียญ เขาพยายามดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า สร้างประโยชน์ให้คนอื่น โดยการเป็นผู้นำตามแบบลัทธิเต๋า นั่นคือ servant leader หรือผู้นำแบบรับใช้/ผู้นำที่ให้บริการคนอื่น

     “ถ้าคุณสู้เพียงเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น เวลาท้อแท้ คุณจะยอมแพ้ง่ายมาก แต่ถ้าคุณสู้เพื่อคนอื่น คุณถอยไม่ได้เพราะคนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ลูกจ้าง หรือพนักงาน ที่ชะตาชีวิตของพวกเขาแขวนอยู่ที่คุณ ลองเขียนรายชื่อคนที่ต้องพึ่งใบบุญของคุณดู แล้วความคิดคุณจะเปลี่ยน”  ชาตรีทิ้งท้ายไว้ว่าสำหรับคนที่อยากประสบความสำเร็จ เป็นเศรษฐีหรือเป็นแชมป์คือต้องทำงานหนักชนิดวันละ 18 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ no gain without pain ไม่มีหรอกคนที่รวยจากการไม่ทำงาน

ข้อมูล:
www.cnbc.com/2017/03/06/mma-promoter-chatri-sityodtong-on-making-money.html
www.cnbc.com/2017/03/09/chatri-sityodtong-on-servant-leadership.html


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน