ภาพ จิรพงศ์ ไชยอัมพร
จากความนิยมชมชอบในแซ็คโซโฟน ปิยพัชร์ ธัญญะกิจ จึงเริ่มต้นพัฒนาเครื่องดนตรีด้วยตัวเองภายใต้คอนเซ็ปท์” ใครๆก็เป็นเจ้าของได้” จากความพยายามกว่า 6 ปี ในการสร้างต้นแบบโดยใช้นวัตรกรรมปัจจุบัน แซ็คโซโฟนซึ่งผลิตโดยโพลีเมอร์ แบรนด์ ไวเบรโต เข้าไปตีตลาดเครื่องดนตรีระดับโลกอย่างยุโรปและญี่ปุ่นได้เป็นผลสำเร็จ
ปิยพัชร์ ธัญญะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวเบรโต จำกัด เล่าว่าส่วนตัวเป็นคนชอบเล่นดนตรีโดยเฉพาะแซ็คโซโฟน แต่มีข้อสงสัยว่าทำไมเครื่องดนตรีชนิดนี้ถึงไม่เป็นที่นิยมของคนไทย ต่อมาจึงพบว่ามีสาเหตุสามข้อคือ
หนึ่ง..มีราคาค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 30,000บาท ขึ้นไปจนถึงหลักแสนบาท สอง..มีน้ำหนักมากประมาณเกือบสามกิโลกรัม เด็กตัวเล็กๆไม่สามารถที่จะแบกเล่นได้เวลานานๆ สาม..คือการดูแลรักษา เนื่องมาจากทำจากทองเหลืองจึงต้องดูแลรักษาอย่างดีถึงจะไม่บุบ
เขาค้นหาความรู้เพิ่มเติมทำให้รู้ว่าแซ็คโซโฟนมีต้นทุนการผลิตที่สูงเนื่องจากต้องใช้ช่างที่มีฝีมือและความชำนาญสูงในการเชื่อมแผ่นทองเหลืองเข้าด้วยกัน ช่างที่มีฝีมือส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรปซึ่งมีค่าแรงสูงมาก โจทย์ที่ตามมาคือจะทำอย่างไรให้ตัดแรงงานฝีมือออกจากการผลิตให้ได้ ต่อไปคือต้องหาวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและมีความคงทนไม่เสียง่าย
“ผมเรียนจบมาทางด้านนิเทศศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการดนตรีเลยและงานประดิษฐ์เลย เมื่อต้องการจะผลิตแซ็คโซโฟนของตัวเอง ปัญหาคือคนไทยไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย ทำให้ต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด”
ปิยพัชร์ ตัดสินใจผลิตเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญนั่นคือส่วนลิ้นที่ใช้เป่าก่อน เพื่อให้เป็นชิ้นส่วนต้นแบบที่มีราคาต่ำที่สุดก่อนและนำต้นแบบนั้นไปทดสอบเสียงกับแซ็คโซโฟนปกติ ปรากฎว่าได้ผลเป็นอย่างดีจึงทำให้มีกำลังใจ
“เมื่อผมผลิตชิ้นส่วนต้นแบบขึ้นมาและสามารถเป่าให้มีเสียงเหมือนกับชิ้นส่วนแซ็คโซโฟนทั่วไปได้ นั่นคือการเปิดประตูบานใหญ่สำหรับผมเลยทีเดียว เหมือนกับเป็นแสงสว่างให้เรากล้าที่จะเดินต่อ ที่สำคัญคือเป็นเสาหลักให้เราเกาะ ถ้าเกิดมีปัญหาในขั้นต่อไปก็จะย้อนกลับมาหาต้นแบบไว้ก่อน”
โจทย์ที่เขาตั้งไว้สำหรับแซ็คโซโฟนที่กำลังจะทำขึ้นคือ จะต้องเป็นเครื่องดนตรีที่ทุกคนสามารถหาซื้อได้ ราคาเริ่มต้นจะต้องไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ต้องมีวีการเล่นที่เหมือนกับแซ็คโซโฟนปกติทุกอย่าง ที่สำคัญต้องมีเสียงที่มีคุณภาพ
ความยากในการผลิตคือชิ้นส่วนที่มีมากกว่า300 ชิ้น และจะต้องมีความแข็งแรงพอ สุดท้ายมาจบที่การใช้ “โพลีเมอร์” เป็นวัสดุ เนื่องจากมีความเที่ยงตรงสูงสามารถนำไปขึ้นรูปได้ดี โดยเลือกส่วนผสมที่สมดุลระหว่างความแข็งแรงกับความยืดหยุ่น ขั้นตอนการผลิตจะผ่านแม่พิมพ์เพื่อที่จะตัดต้นทุนเรื่องแรงงานฝีมืออกไปให้มีราคาต่ำที่สุด
“เราใช้เวลากว่า 6 ปีในการพัฒนาสินค้าจากต้นแบบจนได้เป็นรูปร่างและเพิ่งจำหน่ายจริงเมื่อปีที่แล้ว ระหว่างทางเราได้รับสนับสนุนจากสำนักงานนวัตรกรรมแห่งชาติในการผลิตต้นแบบ ทางนั้นเขาตอบรับที่จะช่วยเหลือเราเนื่องจากมีความเป็นนวัตรกรรมจริงๆ ในโลกนี้ยังไม่มีใครทำแบบนี้ออกมา”
เวทีเปิดตัวแซ็คโซโฟนจากโพลีเมอร์ที่เขาผลิตขึ้นคืองานแสดงสินค้าเครื่องดนตรี Music Masse ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่เยอรมันนี โดยเป็นการจัดงานผ่านผู้จัดจำหน่ายที่ยุโรปซึ่งมาพบโดยบังเอิญผ่านเวบไซท์และให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีความแปลกใหม่ ผลตอบรับคือมีผู้เข้ามาทดลองสินค้ากว่า4แสนราย ส่วนใหญ่จะตื่นเต้นกับราคาขายที่ถูกมาก
ตอนแรกจะมีคนเดินมาถามว่าเหมือนของเล่นมากจะเป่าจริงได้ไหม แต่พอทุกคนได้ลองเป่าแล้วพูดเป็นเสียงเดียวว่าคุณภาพของเสียงที่ออกมามีความนุ่มนวลและมีความลดหลั่นของระดับเสียงเทียบเท่ากับแซ็คโซโฟนราคาแพง
“ปัจจุบันตลาดหลักของเราคือญี่ปุ่นและยุโรป อื่นๆก็มีสหรัฐฯและในเอเชีย เป็นการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนในแต่ละประเทศส่วนประเทศไทยยังมีเล็กน้อยเท่านั้น เรายังเป็นรายแรกและรายเดียวในโลกที่ผลิตแซ็คโซโฟนแบบนี้ได้ซึ่งได้ไปจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ตอแนรกเราคาดหวังว่าลูกค้าจะเป็นกลุ่มมือใหม่ทั้งหมด แต่ไปๆมาๆพบว่าครึ่งหนึ่งเป็นมืออาชีพที่ชอบในเสียงที่เป่าออกมาแต่ราคาต่ำมาก อย่างเช่นลูกค้าญี่ปุ่นหาซื้อไม่ได้ถึงกับบินมาซื้อที่ไทยด้วยตัวเอง”
ขั้นตอนการผลิต ในการออกแบบชิ้นส่วนจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมด จากนั้นจะนำไปขึ้นรูปผ่านแม้พิมพ์โดยใช้คนให้น้อยที่สุดเพื่อความเที่ยงตรง ขั้นตอนการประกอบเท่านั้นถึงจะใช้คน
ขณะนี้สินค้าของบริษัท มีเพียงสองรุ่นคือรุ่น A1ซึ่งเป็นโพลีคาร์โบเนตผสมและ A1S ซึ่งเป็นโพลีเมอร์ล้วนๆซึ่งจะมีเสียงที่คมกว่า และยังมีแซ็คโซโฟนประเภทเดียวคือแบบอัลโต้ ซึ่งเป็นแบบมาตราฐานที่ผู้คนนิยมมากที่สุดและเหมาะสมกับคนที่เริ่มต้นหัดเล่น แผนงานในอนาคตจะมีการเพิ่มไลน์สินค้าให้มีแซ็คโซโฟนแบบอื่นๆเช่นโซปราโน่ซึ่งมีเสียงแหลมและเทนเนอร์ที่มีเสียงทุ้มออกสู่ตลาด
ด้านตลาดในประเทศตอนนี้ได้แต่งตั้งดีลเลอร์แล้ว คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเริ่มทำการตลาดในประเทศอย่างจริงจังได้ เขาเชื่อว่าผู้เล่นดนตรีในประเทศจะค่อยๆซึมซับและได้รับความนิยมเหมือนกับเครื่องดนตรีประเภทอื่น เพราะได้ทดลองกับสินค้าที่มีราคาไม่สูงมาก
ปิยพัชร์ ยอมรับว่าการส่งเสริมนวัตรกรรมในประเทศไทยยังไม่ได้รับการเอื้อหนุนเท่าที่ควรเหมือนกับในต่างประเทศ แต่มุมมองส่วนตัวคิดว่าเอสเอ็มอีไทยมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องนำนวัตรกรรมมาใช้กับธุรกิจเพื่อที่จะสู้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้
“ผู้ผลิตแซ็คโซโฟนระดับโลกเขามีอายุเป็นร้อยปี ส่วนเราเริ่มต้นได้หกปี ถ้าเราทำแซ็คโซโฟนทั่วไปคงจะสู้เขาไม่ได้ แต่เพราะเรามีนวัตรกรรมทำให้เป็นข้อได้เปรียบและยากที่จะมีคนอื่นเลียนแบบได้ทัน บริษัทของเราจึงขับเคลื่อนด้วยนวัตรกรรมมากกว่าโฆษณา การตลาด เป็นอย่างเดียวที่ทำให้คนอื่นหันมาสนใจ ผมเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถที่จะทำได้ไม่ว่าจะธุรกิจอะไรก็ตาม นวัตกรรมสามารถนำชื่อเสียงมาให้เราได้ ” เขากล่าวปิดท้าย
สนใจสินค้าติดต่อได้ที่ www.vibratosax.com 02-519-7603