รู้จัก 'Donut King' ชายผู้อยู่เบื้องหลังเครือข่ายธุรกิจร้านโดนัทของชาวกัมพูชาในอเมริกา

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์


    โดนัทถือเป็นอาหารยอดฮิตอย่างหนึ่งของชาวอเมริกัน ทานเป็นอาหารเช้าคู่กาแฟ เป็นอาหารว่างหรือขนมหวานก็ได้ แบรนด์โดนัทในอเมริกามีมากมายหลากหลาย แต่ที่ครองตลาดอันดับ 1 ในสัดส่วน 56% คือดังกิ้น โดนัทที่เจาะมาแล้วทุกตลาดในประเทศ ยกเว้นอยู่รัฐเดียวคือแคลิฟอร์เนียที่ดังกิ้น โดนัทเคยรุกเข้าไปช่วงทศวรรษ 1980 เปิดบริการ 15 สาขา และภายหลังทะลอยปิดทุกสาขาในปี 2002 ก่อนจะกลับไปใหม่ในปี 2012 หรืออีก 10 ปีต่อมาหลังจากที่มีการผลัดเปลี่ยนผู้บริหารใหม่

     ตลาดโดนัทในรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นมีความเฉพาะหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนร้านที่ว่ากันว่ามีมากถึง 5,000 กว่าร้าน ส่วนใหญ่เป็นร้านรูปแบบ mom and pop คือร้านที่เป็นธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กไม่มีเครือข่ายหรือสาขา และ 90% ของร้านโดนัทในแคลิฟอร์เนีย เจ้าของล้วนเป็นอเมริกันเชื้อสายกัมพูชาทั้งสิ้น  คำถามคืออะไรที่ทำให้ชาวกัมพูชาอพยพเหล่านี้จับพลัดจับผลูเป็นเจ้าของร้านโดนัทกันแถวราวกับเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่

    ผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาณาจักรโดนัทของชาวกัมพูชาในแคลิฟอร์เนีย (รวมถึงอีกหลายรัฐในสหรัฐฯ) คือ Ted Ngoy หรือชื่อเดิม Bun Tek Ngoy ชายชาวกัมพูชาหลีกหนีการปกครองของเขมรแดงในบ้านเกิดตัวเองเพื่อแสดงหาชีวิตใหม่ในดินแดนแห่งเสรีภาพ เท็ดในวัย 35 ปีเดินทางพร้อมภรรยาและลูก 3 คนมาถึงอเมริกาที่นิวพอร์ทบีช รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1975 โดยไม่มีเงินติดตัวเลยสักแดงเดียว เขาได้งานเป็นภารโรงที่โบสถ์แห่งหนึ่ง โดยทำควบคู่กับงานที่ปั้มน้ำมัน ระหว่างนั้นเท็ดสังเกตเห็นร้านโดนัทที่ใกล้ปั๊มน้ำมันมีลูกค้าเดินเข้าออกตลอดเวลา จึงเกิดความสนใจ และนั่นก็เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาได้ลิ้มรสชาติโดนัท

    เท็ดหาช่องทางเข้าไปฝึกงานที่ Winchell’s Donut House ซึ่งเป็นเชนร้านโดนัทชื่อดังมีสาขากว่าพันแห่งโดยแลกค่าจ้างแค่เดือนละ 500 เหรียญ แต่ได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนการผลิตและบริหารร้าน ท้ายที่สุดเขาก็ได้ทำงานที่ Winchell’s ในตำแหน่งผู้จัดการร้าน จนวันหนึ่งมีคนประกาศขายร้านโดนัทชื่อ Christy’s เขาไม่ลังเลที่จะซื้อกิจการนั้นมาบริหารเอง เพียงปีเดียวหลังอพยพเข้าอเมริกา เท็ดก็กลายเป็นเจ้าของร้านโดนัทร้านแรก ปีถัดมาก็เปิดสาขาที่ 2 หลังจากนั้นก็มีอีกนับสิบ ๆ สาขาตามมา


เท็ดกับร้านโดนัทร้านแรกของเขาใน La Habra
Cr.https://story.californiasunday.com/ted-ngoy-california-doughnut-king


    สิ่งที่ทำให้เท็ดประสบความสำเร็จในธุรกิจโดนัทคือรู้จักปรับเปลี่ยน แทนที่จะทอดโดนัททีละเยอะ ๆ ครั้งเดียวในตอนเช้าแล้ววางขายไปตลอดวัน เท็ดเปลี่ยนมาใช้วิธีทอดทีละน้อย ทอดไป ขายไปเพื่อให้ลูกค้าได้ลิ้มขนมรสชาติสดใหม่ ในการขยายสาขา เท็ดใช้วิธีเซ็งร้านโดนัทที่เจ้าของอยากเลิกกิจการเพื่อจะได้ไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่ โดยเขาจะไปสังเกตการณ์ตั้งเช้ายันเย็นเพื่อนับจำนวนลูกค้าที่เข้าร้าน ดูว่ามีคนเดินผ่านหรือรถขับผ่านมากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็คำนวณรายได้ และทำสัญญาเช่าอย่างน้อย 20 ปี หลังจากเปิดสาขาใหม่ เท็ดจะเข้ามาดูแลเป็นเวลา 1 เดือนให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางและเพื่อให้แน่ใจว่าสูตรขนมต้องคงเดิมเพราะลูกค้าอเมริกันไม่ชอบการเปลี่ยแปลง

    ธุรกิจโดนัทในแคลิฟอร์เนียรุ่งเรืองถึงขีดสุดในทศวรรษ 1990 ช่วงพีคสุด เท็ดเคยเป็นเจ้าของร้านโดนัทมากสุดถึง 70 สาขา ส่งผลให้เขากลายเป็นเศรษฐีและได้รับฉายา “Donut King” หรือราชันแห่งธุรกิจโดนัท เขาได้เผื่อแผ่อาชีพการงานไปยังพี่น้องร่วมชาติ ชาวกัมพูชาที่ทะยอยอพยพมายังอเมริกาใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ภาษา งานที่ใช้แรงงานในร้านโดนัทที่เจ้าของเป็นคนชาติเดียวกันดูจะเหมาะที่สุด ลูกจ้างหลายคนที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้ประกอบการเอง เท็ดก็ไม่รีรอจะให้ความช่วยเหลือ ทำให้ชาวเขมรจำนวนมากกลายเป็นเจ้าของร้านโดนัท 


เท็ดในปัจจุบัน กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่กัมพูชา
Image by Gulio Di Sturco
https://story.californiasunday.com/ted-ngoy-california-doughnut-king


    ชีวิตของเท็ดฟังดูน่าจะลงเอยอย่างมีความสุขตามแบบ American dream หรือสิ่งที่ผู้อาศัยบนผืนแผ่นดินอมริกาฝันอยากเป็นคือประสบความสำเร็จ มั่งคั่ง และมีชีวิตที่ดี แต่นั่นแหละ เท็ดบอกว่า หลังจากที่ตั้งตัวได้ ชีวิตก็มีแต่ “งาน เงิน และโดนัท” เขาก็อยากแสวงหาสีสันในชีวิต การเดินทางไปลาสเวกัสและได้รู้จักบ่อนคาสิโน ทำให้นับแต่นั้นมา ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป เท็ดติดการพนันอย่างหนัก ผีพนันที่เข้าสิงทำให้ครอบครัวเขาแตกแยกต้องเลิกกับภรรยา เขาขายบ้าน และทะยอยขายร้านโดนัท จนสุดท้ายก็ไม่เหลืออะไร กลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์อีกครั้ง ปัจจุบัน เท็ดในวัย 74 ปีกลับไปปักหลักในกัมพูชา ยึดอาชีพนายหน้าค้า/เช่าที่ดิน ทำให้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง เขายังเป็นที่ปรึกษาให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ของกัมพูชาที่ต้องการริเริ่มธุรกิจ โดยให้คะแนะนำและชี้แนะแนวทางจากสายตาของนักธุรกิจที่ล้มลุกคลุกคลานมาก่อน นี่คือชีวิตของ Bun Tek Ngoy หรือ Ted Ngoy ผู้สร้างงาน สร้างอาชีพให้ชาวกัมพูชา เจ้าของตำนานอาณาจักรโดนัทที่เคยรุ่งเรืองในอเมริกา 


ข้อมูล:
www.phnompenhpost.com/7days/story-man-they-called-doughnut-king
www.extracrispy.com/culture/1032/the-most-american-doughnut-is-cambodian
www.story.californiasunday.com/ted-ngoy-california-doughnut-king    

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน