Text : กองบรรณาธิการ
Photo : ฝ่ายภาพนิตยสาร SME Thailand
Jim’s Burgers & Beers ร้านอาหารสไตล์อเมริกันเล็กๆ ย่านปากซอยอารีย์สัมพันธ์ 3 ที่สร้างนิยามแบบเฉพาะของตัวเองขึ้นมา ด้วยสโลแกนการกิน “เบอร์เกอร์” กับ “เบียร์” สร้างวัฒนธรรมการกินแบบใหม่ให้กับผู้บริโภคคนไทย จากความแปลกใหม่ที่กลายเป็นเอกลักษณ์บวกกับคุณภาพของอาหาร ความหลากหลายของเครื่องดื่มเบียร์จากนานาชาติ บรรยากาศการตกแต่งร้าน จึงทำให้ระยะเวลา 2 ปี สามารถขยายอีก 3 สาขา อะไรทำให้ร้านเล็กๆ แห่งนี้สามารถมัดใจผู้บริโภคยุคใหม่ได้ ไปฟังคำตอบจาก พิสิฐ สุธีโร หนึ่งในสามหนุ่มคนรุ่นใหม่เจ้าของร้านเบอร์เกอร์ชื่อดัง
“เราเริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่จะมาเป็น Jim’s Burgers & Beers ผมกับเพื่อนๆ (ฉัตรกริช รุ่งรัตนกิจกำจร และสุกฤษฎิ์ ผ่องคำพันธ์) เคยทำธุรกิจชานมไข่มุกกันมาก่อน เป็นคีออสเล็กๆ ขายในห้างสรรพสินค้า สร้างแบรนด์กันเอง ทำกันเอง ช่วงนั้นธุรกิจชานมไข่มุกกำลังดัง จนเวลาผ่านไป 2 ปี เรากได้บทเรียนว่า การทำอะไรตามอย่างคนอื่น ถึงแม้จะไปได้ดี แต่ก็ทำให้เราเติบโตค่อนข้างยาก ยิ่งหากกำลังเราไม่พร้อม การเข้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ถ้าไม่ได้ขายดีมากๆ หักลบออกมาแล้วก็แทบไม่เหลืออะไร จากประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เรากลับมาคิดกันใหม่ ถ้าได้ลองทำธุรกิจตัวต่อไปก็อยากทำด้านอาหาร เพราะตลาดกว้าง ที่สำคัญเราจะยังไม่เข้าห้างฯ หากยังโตไม่พอ เลยลองมาคิดกันว่าจะทำอะไรดี เผอิญวันหนึ่งผมไปนั่งกินเบอร์เกอร์กับเพื่อนๆ ที่ร้านแห่งหนึ่งย่านทองหล่อ ลองสั่งเบียร์มากินด้วย ปรากฏว่ามันเข้ากันได้ดีมาก แก้เลี่ยนได้ดี แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดอะไร มองแค่ตัวเบอร์เกอร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นอาหารนิยมกินกันทั่วโลก เป็น Classic foods ที่ใครๆ ก็กิน และมีตลาดที่กว้างมาก เลยตัดสินใจเลือกที่จะทำเบอร์เกอร์กัน”
ในระหว่างศึกษาหาข้อมูลและทดลองทำเบอร์เกอร์สูตรต่างๆ พวกเขาค้นพบว่าไลฟ์สไตล์ของคนไทยกับการกินเบอร์เกอร์นั้น อาจคาบเกี่ยวกันระหว่าง Classic Foods กับ Trend
“เรามองว่าหากเป็นแค่กระแส วันหนึ่งอาจตกลงมาได้ ดังนั้นเราจึงต้องหาโปรดักส์รองอีกตัวมาช่วยดึงไว้ไม่ให้ตก ทำให้ผมนึกถึงการกินเบอร์เกอร์กับเบียร์ เราจึงเลือกที่จะวางคอนเซปต์ร้าน คือ ขายทั้งเบอร์เกอร์และเบียร์ไปพร้อมกัน สร้างเป็นวัฒนธรรมของร้านขึ้นมา พอศึกษาดูลึกๆ ก็พบว่าต่างประเทศเขาก็กินกันแบบนี้ โดยให้เบอร์เกอร์เป็นพระเอก เบียร์เป็นพระรองคอยเสริม วันใดถ้าลูกค้าไม่กินพระเอกผม เขาก็สามารถมากินพระรองผมได้ ซึ่งปัจจุบันมีเบียร์ใหม่ๆ น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะคราฟเบียร์ พวกแบรนด์เล็กๆ เราพยายามรวบรวมมาไว้ที่นี่ จากนั้นก็ออกแบบดีไซน์ทุกอย่างให้เข้ากับคอนเซปต์ที่วางไว้ ตั้งแต่การตั้งชื่อ การสร้างบรรยากาศร้าน ซึ่งของเราจะมีกลิ่นอายความเป็นอเมริกันนิดๆ บางจุดผมเลือกใช้โทนสีขาวดำ เพราะอยากให้มีความเป็นเรโทร เพื่อเรียกกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ชื่อร้านก็ใช้ง่ายๆ ว่าจิมเบอร์เกอร์ แอนด์ เบียร์ ให้รู้เลยว่าเราขายอะไร โลโก้ก็ใช้เป็นรูปผู้ชายไว้หนวดง่ายๆ เลย” พิสิฐเล่าที่มาของร้านให้ฟัง
ด้วยคอนเซปต์ที่แปลกใหม่ บวกกับการพยายามทำทุกอย่างให้ลงตัว รวมไปถึงคุณภาพของอาหาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้จิมเบอร์เกอร์ฯ ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างล้นหลาม ซึ่งเขามองความสำเร็จดังกล่าวน่าจะมาจากหลายองค์ประกอบรวมกัน ทั้งคอนเซปต์ที่โดดเด่นของร้าน รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันเองที่มีการเข้าถึงสื่อข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีทางเลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากที่เคยนิยมไปกินแต่ร้านเชนดังๆ ในห้าง ก็เริ่มหันมาเลือกร้านเล็กๆ ที่มีสไตล์เฉพาะตัวมากขึ้น
“ผมว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคฉลาดขึ้น มีการหาข้อมูลเยอะขึ้น สื่อก็เยอะขึ้น จึงทำให้เขามีทางเลือกมากขึ้น ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกในการที่เขาจะเฟ้นหาร้านดีๆ สักร้านหนึ่งไว้ชวนเพื่อน ชวนแฟนมาลอง ร้านที่เจ๋งจริงๆ มีสไตล์ของตัวเอง อาหารอร่อยจริงๆ ถึงจะชนะใจผู้บริโภคได้ ซึ่งต้องเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่างรวมกัน อย่างถามว่าคนมาจิมเบอร์เกอร์ฯ เพราะเบอร์เกอร์อย่างเดียวไหม ผมมองว่าไม่ใช่ คือ เบอร์เกอร์ผมอร่อยนะ แต่ผมเชื่อว่าแต่ละร้านถ้าตั้งใจทำให้ดีก็อร่อยเหมือนกันหมด อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่การที่ลูกค้าเลือกมาร้านเรา เป็นเพราะเขาชอบในหลายๆ อย่างที่เป็นเรา ผมเรียกรวมพวกนี้ว่า Feeling หรือ ความรู้สึก ซึ่งแต่ละร้านจะมี Feeling ที่สื่อไปถึงผู้บริโภคได้ว่าหากเขาเข้ามาในร้านนี้แล้วเขาจะเจอกับ Feeling แบบไหน ถ้าเขาชอบ Feeling นี้เขาก็จะมาอีก ถ้าไม่ชอบ เขาก็ไม่เลือก ซึ่งขึ้นอยู่เจ้าของร้านแล้วว่าจะควบคุม Feeling ร้านให้ไปในทิศทางไหน ทุกอย่างต้องไปในแนวทางเดียวกัน ต้องทำการบ้านมาให้ดี”
เขายกตัวอย่างว่าถ้าคุณจะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวขึ้นมาสักร้านหนึ่ง แล้วใช้โต๊ะธรรมดาทั่วไป นั่นแสดงว่าคุณสื่อให้ลูกค้ารู้ว่าร้านคุณไม่ได้เน้นตกแต่ง แต่เน้นที่รสชาติ ดังนั้นในมุมของพิสิฐ Feeling จึงเป็นสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจมาก “ผมค่อนข้างดีใจเหมือนกันว่าสิ่งที่เราคิดออกแบบวางแผนไว้มันได้ผล จำได้ว่าตอนจะเปิดร้านใหม่ๆ มีแต่อาอี๊ อาม่าเดินมาทักว่า อย่าเปิดเลย ตรงนี้ที่ไม่ดี เปิดไปก็เจ๊ง แต่มาถึงวันนี้ผ่านไปสองปีคุณลุงที่เป็นแฟนแกกลับเดินมาถามว่า ที่ร้านแจกอะไร ทำไมคนถึงได้มาเยอะตลอด ซึ่งมันคือ การพิสูจน์สิ่งที่เราได้ตั้งใจทำมา”
นอกจากสาขาที่อารีย์สัมพันธ์ 3 ซึ่งเป็นสาขาแรกแล้ว ปัจจุบัน Jim’s Burgers & Beers ยังขยายสาขาเพิ่มอีก 3
สาขา แต่ละสาขาใช้ธีมการตกแต่งที่แตกต่างกันไปเพื่อไม่ให้น่าเบื่อ ได้แก่ เสนานิคม – ห้องขัง, ยศเส – ห้องสมุด และพัทยาเหนือ – สตรีท บาส ซึ่งพิสิฐบอกว่า หากมองในแง่ของการทำธุรกิจ นี่คือ การเติบโตที่ดี แต่ในแง่ของความเป็นเอกลักษณ์ที่มีเพียงหนึ่งเดียว หรือเสน่ห์ของร้านอาจลดน้อยลงไปบ้าง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกอะไร
“ที่พวกผมกล้าขยายสาขาเพิ่มขึ้น เพราะเรามองกันว่าโมเดลนี้ขายได้ แต่พูดตรงๆ ว่าอย่างหนึ่งที่ต้องเสียไปแน่นอน คือ เสน่ห์ของร้านที่มีเพียงร้านเดียว ตอนแรกก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะเลือกอะไรดี แต่สุดท้ายผมมองว่าเราคงไม่สามารถอยู่ดูแลร้านกันเองไปได้ตลอด วันหนึ่งเมื่ออายุมากขึ้น ต้องมีภาระตามมาอีกมากมาย ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจึงคิดว่าสู้ทำไปเลยตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่า แต่ก็ต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น วางระบบให้ดี เพราะระบบ คือ ตัวแทนของเราที่จะดูแลทุกสาขาที่มีให้ออกมามีมาตรฐาน คุณภาพเหมือนกัน เป็นความท้าทาย บททดสอบอีกอย่างที่เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้ จะว่าไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างของเราเหมือนเดิมหมด อาหารเบียร์ คอนเซปต์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ลูกค้า ปกติเบอร์เกอร์ผมขายคนไทย 80 เปอร์เซ็นต์ ต่างชาติ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่พัทยาตัวเลขกลับกัน ต่างชาติ 80 คนไทย 20 ก็ต้องลองพัฒนาไปอีกก้าวให้ได้”
ทั้งหมดนี้คือวิธีคิดและการทำธุรกิจสไตล์คนรุ่นใหม่ที่ทำให้ Jim’s Burgers & Beers ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน