TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย หลายคนคิดหารายได้เสริมจากงานประจำ ใครมีฝีมือด้านงานครัว มักลงเอยที่การทำอาหารหรือขนมที่ตัวเองถนัดแล้วนำไปขายที่ทำงานหรือฝากขายตามที่ต่าง ๆ บางคนทำแล้วรุ่ง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่างานประจำ จนลาออกไปทำเป็นอาชีพหลักเลยก็มี แต่ทีนี้ หากจะผลิตในปริมาณเยอะ ๆ และต้องมีตราอย. (องค์การอาหารและยา) ปัญหาที่หลายคนเผชิญคือครัวหรือสถานที่ผลิตสินค้าต้องได้มาตรฐานพร้อมให้เจ้าหน้าที่อย.ตรวจสอบ ซึ่งการสร้าง commercial kitchen หรือครัวอุตสาหกรรมนั้น เป็นอะไรที่ต้องลงทุนสูง
ไปอ่านเจอเรื่องราวของซินดี้ พิคเคอริ่ง แม่บ้านคนหนึ่งในฟลอริดา สหรัฐฯ เห็นว่าไอเดียธุรกิจน่าสนใจ จึงอยากนำมาเล่าสู่กันอ่าน การมีธุรกิจของตัวเองเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของซินดี้ เธอเริ่มจากการทำซาลซ่า (เครื่องจิ้มสไตล์ละตินทำจากมะเขือเทศและเครื่องเทศ) ส่งขายตามร้านอาหารต่าง ๆ ในเมืองที่เธออยู่ ธุรกิจ ซาลซ่าเติบโตด้วยดี ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นทุกที ทำให้ต้องสั่งวัตถุดิบอย่างมะเขือเทศในปริมาณมหาศาล ปัญหาที่ตามมาคือครัวที่บ้านไม่ใหญ่พอจะเก็บวัตถุดิบและไม่รองรับการผลิต เจ้าหน้าที่เริ่มมาตรวจสอบว่าการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซินดี้เลยไปติดต่อขอใช้ครัวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในช่วงที่ยังไม่ถึงเวลาเปิดร้าน แต่ทางร้านคิดค่าเช่าแพงเกินไป
cr : www.yourprokitchen.com
เธอตัดสินใจควักงบก้อนใหญ่ 70,000 เหรียญ สร้างครัวอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานอย.สหรัฐฯ ปี 2008 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ ร้านค้าร้านอาหารปิดตัวลง คนทำงานในแวดวงอาหารต่างตกงาน ซินดี้พบว่าคนเหล่านี้ประสบปัญหาเดียวกับที่เธอเคยเจอมาคือต้องการผลิตอาหารขายแต่ไม่มีครัวอุตสาหกรรมเป็นของตัวเอง บังเอิญว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งมาขอเช่าครัวเธอเพื่อทำแยมขาย หลังจากนั้นก็มีการบอกกันปากต่อปากว่ามีการให้เช่าครัวแบบนี้ด้วยนะ ผู้คนแห่แหนมาใช้บริการเช่าครัวของเธอ ซินดี้จึงเกิดไอเดีย เลิกทำซาลซ่าขายแล้วหันมาบริหารพื้นที่ในครัวและปล่อยเช่า
ธุรกิจใหม่ของซินดี้เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ Your Pro Kitchen บริการเช่าครัวอุตสาหกรรมบนพื้นที่ 3,500 ตารางฟุตและเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ในการผลิตอาหารอาหารคาว-หวาน ลูกค้าของเธอมีหลายกลุ่ม ร้อยละ 30 เป็นกลุ่มธุรกิจจัดเลี้ยง นอกนั้นก็เป็นคนที่เคยเปิดร้านอาหารแล้วปิดกิจการ แต่ยังอยากทำอาหารขายก็มาเช่าครัวทำ คนที่อยากมีธุรกิจอาหารแล้วต้องการชิมลาง ลองทำอาหารออกมาทดลองตลาดก่อน ก็มาเช่า Your Pro kitchen รวมถึงคนที่ทำธุรกิจ food truck ก็อาศัยครัวให้เช่าเตรียมอาหาร หรือแม้กระทั่งรายการอาหารที่มาเช่าพื้นที่ถ่ายทำก็มี
cr : yourprokitchen.com
ครัวให้เช่าของซินดี้เปิดบริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ลูกค้าต้องสมัครสมาชิกก่อน อย่างน้อย 6 เดือน สำหรับสนนราคาบริการแบ่งเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 35 เหรียญ รายเดือนเหมา 8 ชั่วโมง 125 เหรียญ หรือรายเดือนเหมา 32 ชม. 450 เหรียญ ยิ่งเหมาชั่วโมงเยอะ ราคาก็จะยิ่งถูกลง นอกจากให้บริการเช่าครัว Your Pro Kitchen ยังเพิ่มบริการเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการด้านอาหารหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการ โดยให้คำแนะนำตั้งแต่การออกแบบฉลากอาหาร ฉลากโภชนาการ โลโก้ การทำเว็บไซต์ ไปจนถึงกลยุทธ์การตลาด และช่องทางการเสนอสินค้าเข้าร้าน
ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ครัวของซินดี้ไปได้สวย จนเธอสังเกตว่ามีลูกค้าบางคนยอมขับรถข้ามเมืองมาเพื่อใช้บริการ เธอจึงเกิดความคิดขยายธุรกิจไปยังเมืองอื่น ปี 2012 ระบบซื้อขายแฟรนไชส์จึงเกิดขึ้น ปัจจุบัน Your Pro Kitchen มีสาขากระจายในฟลอริดาและรัฐอื่นรวม 12 สาขา จากครัวที่สร้างเพื่อใช้งานเอง กลับกลายมาเป็นธุรกิจหลัก จะว่าไปธุรกิจนี้ค่อนข้างตรงกับแนวคิด economic sharing การนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาปล่อยเช่าทำเงินนั่นเอง
ข้อมูล
www.yourprokitchen.com/locations/
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน