​ธุรกิจที่เริ่มต้นจากคำถามกวนๆ ของ CEO วัย 13

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    จากเงินลงทุนเบื้องต้น 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ฮาร์ท เมน เด็กหนุ่มจากรัฐโอไฮโอไม่คาดคิดว่าธุรกิจเทียนหอมที่เขาริเริ่มเมื่อ 7 ปีก่อนตอนที่เขาอายุเพียง 13 ปีจะประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย จากเด็กนักเรียนเกรด 8 ปัจจุบันฮาร์ทซึ่งอยู่ในวัย 20 ยังคงนั่งเก้าอี้ซีอีโอบริษัท Man Cans ผู้ผลิตเทียนหอมกลิ่นพิเศษพร้อมควบสถานะนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคนต์ สเตท 

    เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน ถือว่าฮาร์ทประสบความสำคัญอย่างมาก นั่นเป็นเพราะความคิดสร้างสรรค์และความกล้าที่จะลงมือทำ ฮาร์ทเริ่มต้นจากการเห็นน้องสาวทำเทียนหอมขายเพื่อหาเงินให้โรงเรียน เขาจึงตั้งคำถามว่า “ทำไมเทียนหอมที่ขายจึงมีแต่กลิ่นหวานๆ อย่างกลิ่นวานิลลา กลิ่นดอกไม้ มีใครคิดจะทำเทียนหอมสำหรับผู้ชายบ้างไหม” ฮาร์ทยอมรับว่า เขาตั้งคำถามกวนๆ เพื่อแหย่น้องสาวไปอย่างนั้นเอง แต่พ่อแม่กลับยุให้เขาทำจริงๆ



    ด้วยความที่อยากหารายได้เสริมเพื่อซื้อจักรยานวิบากคันละ 1,200 ดอลลาร์ฯ ที่หมายตาไว้ เขาจึงยอมทุบกระปุกนำเงินเก็บ 100 ดอลลาร์ฯ และหยิบยืมจากพ่อแม่อีก 200 ดอลลาร์ฯ รวมเป็น 300 ดอลลาร์ฯ ลงทุนทำเทียนขาย นอกจากวางแผนไว้ว่ากลิ่นของเทียนต้องแตกต่างจากทั่วไปและเจาะกลุ่มผู้ชาย ภาชนะที่บรรจุเทียนก็ต้องไม่ใช่แก้ว เซรามิกหรือวัสดุเหมือนคนอื่น แต่ต้องเป็นอะไรที่รีไซเคิลได้และหาได้ง่ายทั่วไป ขณะที่นั่งในครัว ฮาร์ทเหลือบเห็นกระป๋องซุป จึงเกิดไอเดียว่าจะนำกระป๋องซุปนี่แหละมาทำบรรจุภัณฑ์เทียนหอมเพราะขนาดกำลังเหมาะ

    ฮาร์ทติดต่อซื้อวัตถุดิบ เช่น แว็กซ์ และเคมีต่างๆ ที่สร้างกลิ่นจากซัพพลายเออร์ เก็บกระป๋องซุปที่ใช้แล้วมาล้างทำความสะอาด และลงมือทำเทียนในครัว เขาแบ่งกลิ่นเทียนออกเป็น 3 หมวดหมู่คือ กลิ่นอาหาร กลิ่นธรรมชาติ และกลิ่นที่ทำให้นึกถึงอดีต กลิ่นที่เขาออกแบบมาได้แก่ กลิ่นพิซซา กลิ่นกาแฟ กลิ่นดิน กลิ่นหญ้าเพิ่งถูกตัด กลิ่นกองไฟ กลิ่นถุงมือหนัง และกลิ่นไปป์ เป็นต้น 

    ฮาร์ทขายเทียนหอมให้เพื่อนๆ คนรู้จัก และเปิดเว็บไซต์ www.man-cans.com จำหน่ายทางออนไลน์ นอกจากนั้น ยังนำเทียนไปเสนอขายตามร้าน ฮาร์ทโชคดีที่ร้านค้าส่วนใหญ่รับเทียนเขาไว้ขาย อาจด้วยเป็นของแปลก และราคาไม่แพง แค่กระป๋องละ 5 ดอลลาร์ฯ


 
    ระยะเวลาไม่ถึงปีจากยอดขาย 300 กระป๋องต่อสัปดาห์ แต่หลังจากที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเสนอเรื่องราวของเขา อีกทั้งสำนักข่าวเอพีนำไปเผยแพร่ ทำให้ฮาร์ทเป็นที่รู้จัก ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากไม่กี่ร้อย เป็นครึ่งหมื่นชิ้นในชั่วข้ามคืน เมื่อออร์เดอร์เพิ่ม ฮาร์ทจึงขยับขยายสถานที่ผลิตจากในครัวที่บ้าน เป็นการเช่าพื้นที่โกดังและจ้างคน 5 คนมาช่วยผลิต และใช้วิธีบริจาคซุปกระป๋องให้โรงทานเพื่อคนจรจัดหลายโรงทานใน 4 รัฐ ได้แก่ โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย มิชิแกน และเวสต์เวอร์จิเนีย หลังจากนั้นก็ทยอยเก็บกระป๋องเปล่าจากโรงทานเหล่านั้นมาใช้ เรียกได้ว่ากระป๋องใส่เทียน Man Can ทุกกระป๋องมาจากการบริจาคซุปให้ผู้ยากไร้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจไป

    อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เติบใหญ่ขึ้นทำให้ Man Can ต้องเปลี่ยนวิธีการ คือหันไปจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทบีเวอร์ ครีก แคนเดิ้ล โค ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้พิการเป็นผู้ผลิตเทียนให้ และยกเลิกการบริจาคซุปแล้วใช้กระป๋องที่ผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อการนี้ ถึงตอนนี้ เทียนหอม Man Can ก็วางจำหน่ายใน 150 ร้านค้าทั่วประเทศ ในราคาชิ้นละ 10 ดอลลาร์ฯ  โดยทุก 1 กระป๋องที่ขายได้จะถูกหัก 75 เซนต์บริจาคให้โรงทานเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน ที่ผ่านมา Man Can บริจาคซุปไปแล้วกว่า 1 แสนกระป๋อง และให้เงินช่วยเหลือราว 35,000 ดอลลาร์ฯ



     ในปีที่ผ่านมา Man Can จำหน่ายเทียนประมาณ 260,000 กระป๋อง ที่น่าสนใจคือสัดส่วนลูกค้าระหว่างชายกับหญิงคือครึ่งต่อครึ่ง โดยกลิ่นที่ได้รับความนิยมที่สุด ได้แก่ กลิ่นหญ้าเพิ่งถูกตัด กลิ่นกองไฟ กลิ่นที่ขายดี คือกลิ่นเบคอน กลิ่นรูทเบียร์ กลิ่นดิน และกลิ่นบาร์บีคิว จากที่ขายทางออนไลน์ และกระจายตามร้านค้า Man Can ยังเพิ่มช่องทางการขายคือรับผลิตเทียนหอมเพื่อเป็นสินค้าระดมทุน และผลิตให้องค์กรต่างๆ อีกด้วย 

    ฮาร์ทเพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปี 2015 เขาจึงรามือจากธุรกิจ โดยให้พ่อกับแม่ช่วยดูแลเป็นหลัก เพื่อที่เขาจะทุ่มเทให้การเรียนเต็มที่ แม้จะยังไม่ละทิ้งธุรกิจนี้ แต่ฮาร์ทตั้งเป้าแล้วว่าต้องเรียนให้จบและอาจมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทาย เช่น การทำธุรกิจเอเย่นต์นักกีฬา จากเด็กเกรด 8 ขี้อาย ไม่กล้าพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ประสบการณ์ในฐานะนักธุรกิจรุ่นเยาว์บ่มเพาะให้ฮาร์ทมีความมั่นใจขึ้น 
“ความจริงผมขี้อายมาก แต่การทำธุรกิจทำให้ผมได้ออกจาก ComfortZone ได้เปิดโลกทัศน์และมั่นใจมากขึ้น” นอกเหนือจากการให้สัมภาษณ์สื่อ ฮาร์ทยังเดินสายเป็นวิทยากรตามโรงเรียนต่างๆ บอกเล่าประสบการณ์ในการทำธุรกิจให้นักเรียน 400-500 คนฟัง   

    ล่าสุดเขาได้รับรางวัลผู้ประกอบการอายุน้อยแห่งปี ประจำปี 2558 จากสมาพันธ์อาชีพอิสระแห่งชาติ และยังร่วมกับเครก เมน คุณพ่อของเขา เขียนหนังสือ “One Candle, One Meal” ถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจ และผลักดันคนอื่นให้ริเริ่มธุรกิจเป็นของตัวเอง 
“ผมได้รับอีเมลจากเด็กวัยเดียวกับผมจำนวนมากที่เขียนมาถาม เขียนมาขอคำแนะนำ ซึ่งผมเองก็พยายามจะตอบคำถามให้ดีที่สุด และผมมักจะบอกพวกเขาว่าอย่าจำกัดตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองยังไม่โตพอที่จะสร้างความแตกต่าง หาโอกาสทางการตลาดให้เจอ แล้วคุณจะได้ลูกค้า และคืนกำไรสู่สังคม แล้วสังคมจะสนับสนุนคุณ”
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล