Narwhal สร้างแบรนด์ธุรกิจจากน้ำดื่ม

 


เรื่อง : Miss.nim
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย



    จากสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ใครเลยจะคิดว่า น้ำดื่มขวดเล็กๆ ที่เราใช้ดื่มกินเป็นประจำนี้ จะสามารถช่วยสร้างแบรนด์ธุรกิจ และให้เป็นที่จดจำแก่ลูกค้าได้ไม่แตกต่างจากการจัดกิจกรรม CSR ติดป้ายโฆษณา แถมมีประโยชน์ไปในตัว จนกลายเป็นกระแสนิยม ใครๆ ก็สามารถมีแบรนด์น้ำดื่มของตัวเองได้ 



    แนวคิดดังกล่าวนี้ ทำให้ สิริวัฒก์ รัตนรังสิมันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาร์วาฬเวิลด์ เซอร์วิส จำกัด ชายหนุ่มวัย 25 ปี ในฐานะเจ้าของโรงงานผลิตน้ำดื่ม เพื่อจัดจำหน่ายตรานาร์วาฬ ย่านจังหวัดนนทบุรี หันมาให้ความสำคัญและมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าหน่วยงาน องค์กร เพื่อรับผลิตแบรนด์น้ำดื่ม เพื่อช่วยตอบโจทย์ในการสร้างแบรนด์ ประชาสัมพันธ์องค์กรให้เป็นที่รู้จัก ยกระดับธุรกิจให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น 

 



    ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน สิริวัฒก์เล่าว่า เขาเริ่มต้นธุรกิจผลิตน้ำดื่มเล็กๆ ตั้งแต่ศึกษาอยู่ปี 4 คณะวิศวระบบควบคุมและเครื่องมือวัด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากพนักงานเริ่มต้นเพียง 4 คน ซึ่งนับรวมเขาด้วย ณ ปัจจุบันเขาสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 30 คน โดยเริ่มต้นจากการผลิตน้ำดื่มในยี่ห้อของตัวเองชื่อว่า “นาร์วาฬ”’ (วาฬชนิดหนึ่ง มีเอกลักษณ์ที่ฟัน ซึ่งมองดูคล้ายกับเขายื่นออกมาเหมือนสัตว์ในเทพนิยายอย่างม้ายูนิคอน) กระจายส่งขายย่านจังหวัดนนทบุรี จากร้านค้า ร้านอาหาร ค่อยๆ เขยิบขึ้นเป็นร้านขายส่ง จนถึงการรับจ้างผลิตแบรนด์น้ำดื่มให้กับบริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่สนใจอยากมีน้ำดื่มแบรนด์ของตัวเอง   

 



    “เราเริ่มต้นมาจากเล็กๆ ผลิตน้ำดื่มของตัวเองขาย จนกระทั่งมองเห็นลู่ทางรับจ้างผลิตน้ำดื่มให้กับองค์กรหน่วยงานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนิยมทำกันมากขึ้น จากเริ่มต้นผลิตให้ไม่กี่แบรนด์ ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจทำให้เราตัดสินใจขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น กระทั่ง ณ ปัจจุบันเรามีสัดส่วนการผลิตน้ำดื่มแบรนด์ตัวเองและรับจ้างผลิตแบรนด์น้ำดื่มให้กับองค์กรต่างๆ อยู่ที่ 50 : 50”


 


    โดยโรงงานผลิตน้ำดื่มนาร์วาฬใช้กรรมวิธีผลิตน้ำดื่มที่เรียกว่า Reverse Osmosis เป็นระบบกรองที่มีความละเอียดสูงมาก คุณภาพเทียบเท่ากับน้ำกลั่น จากนั้นผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสงอุลตราไวโอเลตและโอโซน จนได้เป็นน้ำดื่มที่บริสุทธิ์ปราศจากแร่ธาตุและสารปนเปื้อนใดๆ



    สิริวัฒก์เล่าว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่สนใจเข้ามาติดต่อผลิตแบรนด์น้ำดื่มของตัวเอง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 1.คนที่อยากทำธุรกิจจำหน่ายน้ำดื่มเลย จะมาจ้างผลิตเพื่อนำไปจัดจำหน่ายในแบรนด์ของตัวเอง 2.กลุ่มร้านอาหาร โรงเรียน หรือสหกรณ์ กลุ่มเหล่านี้เขามีการจำหน่ายน้ำดื่มอยู่แล้วซึ่งเป็นแบรนด์ต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด ก็อยากจะเปลี่ยนมาผลิตน้ำดื่มเป็นของตัวเอง เพราะแทนที่จะขายแบรนด์คนอื่น สู้มาขายสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเองดีกว่า ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังช่วยในการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจหรือองค์กรควบคู่ไปด้วย และ 3.กลุ่มองค์กรที่จ้างผลิต เพื่อนำไปใช้ภายในองค์กรเอง หรือใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ 
 




    ทั้งนี้ ในมุมมองความคิดเห็นของสิริวัฒก์ เขามองว่า การสร้างแบรนด์น้ำดื่มของตัวเอง เพื่อนำมาส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจหรือองค์กรเป็นสิ่งที่คุ้มค่าน่าลงทุน เพราะน้ำเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใครๆ ก็ต้องกินต้องใช้ ในเมื่อต้องซื้อกินอยู่แล้ว การได้มีน้ำแบรนด์ของตัวเองด้วยก็น่าจะดี แต่สำหรับการจ้างผลิต เพื่อนำไปจัดจำหน่ายเพียงอย่างเดียว เขามองว่าไม่น่าจะคุ้มค่า เนื่องจากมีต้นทุนผลิตที่สูงกว่า เพราะไม่ได้ผลิตด้วยตัวเอง อีกทั้งการแข่งขันธุรกิจน้ำดื่มในปัจจุบันก็สูงเพิ่มขึ้นทุกที

 


    “ผมเห็นด้วยสำหรับกลุ่มที่จ้างผลิต เพื่อนำไปเสริมภาพลักษณ์ให้กับองค์กร นำไปใช้แจกลูกค้า สนับสนุนในการจัดกิจกรรมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคมต่างๆ หรือ CSR เมื่อเรามีแบรนด์น้ำของตัวเอง เราก็สามารถส่งไปช่วยเหลือได้เลย เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไม่ต้องยุ่งยาก เสียเวลาในการแพ็กของ ติดป้ายชื่อบริษัท และน้ำก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้อยู่แล้ว หรืออย่างบางหน่วยงาน ร้านอาหาร โรงเรียน ที่ต้องซื้อหาน้ำเพื่อนำมาจัดจำหน่ายอยู่แล้ว หากจะผลิตแบรนด์น้ำดื่มของตัวเองออกมาขายก็น่าจะดี นอกจากได้ประชาสัมพันธ์แบรนด์ของตัวเองแล้ว ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เพราะผลิตเองยังไงต้นทุนก็ถูกกว่า แต่สำหรับกลุ่มที่จ้างผลิตแบรนด์ของตัวเอง และนำไปจัดจำหน่าย ผมมองว่าน่าจะเติบโตได้ยาก เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่าแบรนด์น้ำดื่มที่ขายกันทั่วไป ดังนั้น กำไรคุณจะต่ำมาก อีกทั้งทุกวันนี้โรงงานผลิตน้ำดื่มมีเกิดขึ้นเยอะมาก และแต่ละแห่งก็มักมีแบรนด์ของตัวเอง ดังนั้น เขาจึงสามารถทำได้ถูกกว่า ยังไม่นับรวมการกระจายสินค้าที่มากพอ จึงจะสู้กับแบรนด์อื่นๆ ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากอยากผลิตน้ำดื่มแบรนด์ของตัวเอง ผมแนะนำให้สร้างโรงงานผลิตขนาดย่อมเหมือนกับในพื้นที่ต่างจังหวัดหลายแห่ง ก็มีแบรนด์น้ำดื่มของชุมชนตัวเอง”

 




    สำหรับขั้นตอนการรับจ้างผลิตน้ำดื่มภายใต้แบรนด์ของตัวเองนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ 1.การออกแบบและผลิตฉลาก 2.การผลิตน้ำดื่ม หลังจากมีการผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีการดำเนินขอ อย.ให้ด้วย


    “เราเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญในการผลิตน้ำดื่ม แต่เราก็มีซัพพลายเออร์มืออาชีพรับออกแบบและผลิตฉลาก เมื่อลูกค้าได้ฉลากที่ต้องการแล้ว จึงจะไปสู่ขั้นตอนการผลิตน้ำดื่มและเลือกบรรจุภัณฑ์ พร้อมขอเลข อย.ให้ด้วย จึงเรียกได้ว่าเป็น One Stop Service มาที่เดียวก็สามารถได้แบรนด์น้ำดื่มของตัวเองกลับไป” สิริวัฒก์กล่าวทิ้งท้าย


 



ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำดื่มแบรนด์ของตัวเอง

    1. ค่าบล็อกฉลากแต่ละสี ประมาณบล็อกละ 3,500 บาท

    2. ฉลากผลิตภัณฑ์ขั้นต่ำ 50,000-100,000 ชิ้น (คิดเป็นหน่วยสตางค์ตกชิ้นละประมาณ 10-20 สตางค์) 

    3. ค่าผลิตน้ำดื่ม ขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 300 โหลขึ้นไป (ราคาขึ้นอยู่กับรูปแบบขวดและปริมาณการสั่ง)

    -  เพียง 30,000 บาทก็สามารถเริ่มต้นผลิตแบรนด์น้ำดื่มของตนเองได้ (คิดจากปริมาณต่ำสุดของทุกอย่าง)
    - ค่าบล็อกสีเดียว    3,500 บาท
    - ค่าพิมพ์ฉลาก        50,000 ชิ้น x 0.2 = 10,000 บาท
    - ค่าน้ำดื่ม 300 โหล (เฉลี่ยขวดละ 4 บาท) 3,600 x 4 = 14,400 บาท

    หมายเหตุ การคำนวณดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่า หากมีทุนจำนวนหนึ่งก็สามารถเริ่มต้นผลิตแบรนด์น้ำดื่มของตนเองได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีการสั่งเพิ่ม เนื่องจากฉลากยังเหลืออีกจำนวนมาก ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับว่าผลิตน้ำออกมาในต้นทุนราคาโหลละ 100 บาทเลยทีเดียว

    - ไซส์น้ำดื่มที่องค์กรหน่วยงานนิยมนำมาใช้แจกลูกค้าหรือสร้างกิจกรรม คือ 350 ml. หากเป็นร้านอาหาร สหกรณ์ ที่สร้างแบรนด์ด้วยและจัดจำหน่ายด้วย ไซส์ที่นิยม คือ 500-600 ml.


ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.narwhalws.com
โทร. 08-1559-9453



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี




RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน