OBHOM อบเค้กง่ายๆ สไตล์ DIY

 


เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : เจษฎา ยอดสุรางค์, OBHOM




    ขนมเค้ก ถือเป็นเมนูขนมหวานที่ใครหลายคนโปรดปราน เชื่อว่าสำหรับคนที่ชื่นชอบขนมหวานประเภทนี้ ครั้งหนึ่งถ้าได้ลงมือทำด้วยตัวเอง น่าจะยิ่งเพิ่มความอร่อยได้เป็นเท่าตัว หรือหลายๆ คนอาจจะอยากทำเค้กด้วยตัวเอง เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่คนที่รักในเทศกาลต่างๆ แต่อย่างที่ทราบกันดี ด้วยกระบวนการทำที่ค่อนข้างยุ่งยากและมีหลายขั้นตอน รวมถึงยังต้องใช้อุปกรณ์ที่เฉพาะเจาะจง การทำเค้กด้วยตัวเองจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้ OBHOM จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบรับความต้องการที่มีอยู่ โดยสร้างสรรค์เป็นชุดทำขนมเค้กแบบ DIY ฉะนั้นไม่ว่าใครก็สามารถทำเค้กได้ แม้ว่าจะไม่มีพื้นฐานการทำขนมมาก่อนเลยก็ตาม 
 


    OBHOM (อบหอม) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการทำขนมเค้กและคัพเค้กแบบ DIY ที่สามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้เตาอบ เพียงแค่นำเข้าไมโครเวฟเท่านั้น สำหรับไอเดียชุดทำขนมเค้กแบรนด์ OBHOM นั้นเริ่มต้นมาจาก 3 พี่น้องในครอบครัว “ชวพัฒนากุล” ซึ่งประกอบไปด้วย จตุพล, ฐิติวรรณ และ กมลธรณ โดยครั้งนี้นิตยสาร SME Thailand ได้มีโอกาสพูดคุยกับจตุพลและกมลธรณถึงความเป็นมาและความน่าสนใจของ OBHOM ทั้งนี้ จตุพลพี่ชายคนโตได้เป็นผู้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ OBHOM ว่า มาจากความอยากที่จะเริ่มต้นธุรกิจสนุกๆ ด้วยกันของพี่น้อง เพื่อเรียนรู้ตลาดและการทำธุรกิจในโลกแห่งความจริง
 


    “ด้วยความที่แต่ละคนเริ่มเรียนจบ อยากทำธุรกิจเสริมขึ้นมาสนุกๆ ผมว่าเป็นโอกาสที่ดีให้น้องๆ ได้เรียนรู้ธุรกิจ เลยคุยกันว่าจะทำอะไรกันดี ด้วยความที่คุณแม่ชอบทำขนมเค้ก เค้กที่คุณแม่ทำ สูตรคุณแม่จะอร่อย แถมช่วงนั้นใกล้ปีใหม่เลยมาลองคิดดูว่า ถ้าเราจะทำให้เค้กเป็นความรู้สึกเหมือนการให้ของขวัญ เราจะทำอย่างไรให้มาผนวกกันได้ ความรู้สึกของขวัญมันคือ Passion ของการให้ ความรู้สึกมาจากตรงนั้น ถ้าอะไรที่เป็นงาน Craft คนจะยิ่งชอบ ได้รับแล้วรู้สึกดี ถ้าทำเค้กเองแล้วได้ให้คนอื่นเป็นของขวัญจะเกิดความรู้สึกที่ดี เลยคิดโจทย์มาว่า ถ้าสมมุติเราทำชุดเค้กที่ให้เขาทำแล้วสามารถให้คนอื่นเป็นของขวัญได้ล่ะ แล้วอย่างชุดทำเค้กในตลาดทั่วไป จะต้องมีการใช้อุปกรณ์ทำเค้กที่พร้อมแล้วระดับหนึ่ง ต้องมีเตาอบ เครื่องตี เลยพยายามหลุดกรอบตรงนี้ว่า คนที่จะทำไม่ต้องทำขนมเป็นก็ได้ แค่อยากจะทำ มีแค่ไมโครเวฟก็ทำเค้กได้แล้ว”

 

    ถึงตรงนี้ กมลธรณกล่าวเสริมว่า การทำเค้กคล้ายเป็นความฝันของหญิงสาวทุกคน แต่การทำเค้กจริงๆ แล้วต้องใช้อุปกรณ์หลายชิ้น มีการทำที่ซับซ้อน จึงพยายามทำให้ OBHOM เป็นชุดเค้กที่ทำได้ง่าย อร่อยและมีความสนุกจากการทำเค้กจริงๆ 

    “แท้จริงแล้ว ตัว Product ของเรา คือ Experience ประสบการณ์และช่วงเวลา เค้กเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ออกมา ฉะนั้นเค้กจะอร่อยหรือไม่อร่อยก็ตาม สิ่งที่ได้แน่นอน คือความสนุกในการทำ ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ได้ทำจะ Happy ทุกคน”
 


    สำหรับชุดทำเค้กของ OBHOM จะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ OBHOM Bag ซึ่งจะเป็นถุงกระดาษ มีส่วนผสมของการทำเค้ก มีคู่มือการทำเค้ก มีถ้วยตวง ถุงบีบครีม กับ OBHOM Gift เป็นถุงผ้า จะมีเพิ่มจาก OBHOM Bag คือกล่อง ฝาคัพเค้ก ถุงผ้า และของแต่งหน้าคัพเค้ก นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถเลือกได้ว่าต้องการทำเค้กแบบ 1 ปอนด์ คือ Classic Chocolate Cake หรือต้องการทำคัพเค้ก ซึ่งมีให้เลือกขนาด 8 ถ้วย หรือแบบพิเศษ 16 ถ้วย เหมาะสำหรับการจัดงานเลี้ยง โดยจะมีทั้งหมด 3 รสชาติด้วยกัน คือ ช็อกโกแลต ชาไทย และรสส้ม ระยะเวลาตั้งแต่เตรียมอุปกรณ์ อบเค้ก แต่งหน้าเค้ก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถยิง QR Code จากโทรศัพท์มือถือด้านหลังกระดาษวิธีทำก็จะได้เป็น VDO สอนทำใน YouTube อีกด้วย 

 

    โดยกลุ่มลูกค้าของ OBHOM จะมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก จตุพลได้เล่าว่า ในตอนแรกพวกเขาตั้งเป้าหมายว่าลูกค้าของ OBHOM เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่มีเวลาว่างและมีความรักแบบ Puppy Love ทำขนมเค้กให้คนรัก แต่เมื่อสินค้าออกสู่ตลาดจริงๆ แล้ว OBHOM ได้กลุ่มลูกค้ามากกว่านั้น
 

    “นอกจากกลุ่มเป้าหมายที่เรามองไว้แต่แรกว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาแล้ว ก็ยังมีกลุ่มที่เราไม่คาดคิดด้วย เช่น คุณแม่ลูกอ่อน เพราะเหมือนเขาต้องการให้ลูกได้เรียนรู้ ได้ทำกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการ ทำกิจกรรมในวันหยุดร่วมกัน ใช้เวลากับลูก หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่อยากจะทำขนมเค้กกับหลานก็มี ลูกค้ามาจากทั่วสารทิศ จากต่างประเทศก็มี เช่น ญี่ปุ่นเป็นคนไทยที่อยู่ที่นั่น ลูกค้าเราหลากหลายมากเพราะสินค้าเราค่อนข้างเป็น Viral ในตัวเอง เวลาคนทำเค้กเสร็จ ตามพฤติกรรมคนในยุคนี้ก็จะถ่ายรูป แชร์ลงบน Social คนอื่นก็จะได้เห็นสินค้าเราด้วย ซึ่งมัน Impact มาก”

 

    แม้ว่า OBHOM จะดูเป็นสินค้าที่เน้นประสบการณ์และความสนุกสนานของผู้ทำขนม แต่เบื้องหลังการทำธุรกิจต่างก็ต้องพบเจออุปสรรคบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับในเรื่องนี้ กมลธรณได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าในการทำขนม 

 

    “บางทีเราก็มีกลุ่มลูกค้าที่ทำเค้กไม่สำเร็จ เพราะเขาอาจจะไม่ได้อ่านวิธีทำที่เราให้ไป เททุกอย่างรวมกันเลย เกิดปัญหาเยอะตรงนี้ บางทีทำออกมาแล้วหน้าตาไม่สวยแต่ว่ารสชาติยังอร่อย หรือบางทีคนอ่าน อ่านแล้วไม่เข้าใจ เช่น ในคู่มือการทำ เราคิดว่าลูกค้าอ่านรู้เรื่องแล้วแต่ลูกค้าอาจจะไม่เข้าใจ แบบเรามีถ้วยตวงไปให้ เวลาเราเขียนว่าให้ใส่ 3 ถ้วยตวง ปรากฏเขาใช้ถ้วยตวงของที่บ้าน น้ำท่วม ไม่พอดีกัน เราเลยเปลี่ยนมาใช้คำว่าถ้วยอบหอม เรียกว่าก็ต้องค่อยๆ ปรับไป เราก็จะคอยแก้ไขไปเรื่อยๆ สื่อสารกับลูกค้า”
 


    ในอนาคต OBHOM จะมีการออก Product ให้รสชาติมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มจากเค้กและคัพเค้ก ให้มีคุ้กกี้หรือบราวนี่อีกด้วย แต่ยังคง Concept เดิม นั่นคือ การทำที่ไม่ยุ่งยากและซับซ้อน ใช้ไมโครเวฟอบแบบเดิม

 

    เพราะผู้คนในยุคปัจจุบันชอบความสะดวกสบายและชอบงาน Craft การได้อบขนมเค้กแสนอร่อยด้วยตนเองแบบไม่ต้องยุ่งยาก แถมยังกลายเป็นของขวัญที่มอบให้คนอื่นได้ OBHOM จึงกลายเป็นแบรนด์ที่โดนใจคนยุคนี้เป็นอย่างมาก 
 



Keys Success
1.    ต้องฟังเสียงของลูกค้า Customer Feedback สำคัญเป็นอย่างมาก
2.    ต้องรู้ว่าช่องทางไหนที่ลูกค้าเราจะเลือกซื้อ 
3.    ต้องรักษามาตรฐานเดิมให้ได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ 
4.    ต้องใส่ใจ Service การให้บริการที่ดีกับลูกค้า 

OBHOM
www.facebook.com/obhom
https://obhomstore.ecwid.com

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน