TWIN SHOP SATUN ฉีกภาพลักษณ์โชห่วยแบบฉบับไม่ซ้ำใคร

 


เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์
ภาพ : TWIN SHOP SATUN 



    โชห่วยกำลังจะตาย นั่นคือความเชื่อของคนส่วนมากที่หลั่งไหลไปตามสิ่งที่พบเห็นในสังคม แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะหยุดความคิดของ กรกช ยีอาร์ ปลัดเทศบาลตำบลเจ๊ะบิลัง ประจำจังหวัดสตูล ที่ถึงแม้จะรับบทบาทของข้าราชการ แต่ด้วยฝันที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง เขาจึงเริ่มมองหาลู่ทาง ก่อนจะมาจบด้วยร้านโชห่วย แต่แน่นอนว่าจะให้เป็นร้านโชห่วยธรรมดาก็คงทำธุรกิจได้ไม่ยั่งยืนเท่าไหร่นัก ดังนั้น กรกชจึงจับร้านของเขาใส่ดีไซน์ พร้อมตั้งเป้าให้เป็นเสมือนแลนด์มาร์กประจำจังหวัด ภายใต้ชื่อ TWIN SHOP SATUN 
 



    “คำว่าโชห่วย ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงก็คือความมืด ความรก และความสกปรก ซึ่งนั่นก็อาจจะจริงสำหรับบางร้านที่ยังไม่ปรับตัว แต่สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่ ดังนั้น TWIN SHOP SATUN ที่ผมตีโจทย์ออกมาจะต้องมีความแตกต่างและภาพลักษณ์ที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านสายงานที่เป็นข้าราชการ ส่งผลให้เรื่องของงานออกแบบผมไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่นัก ส่วนนี้จึงได้มีการไปปรึกษากับคุณสุทธิพงษ์ สุริยะ แห่ง Karb Studio จนได้ออกมาเป็นร้าน TWIN SHOP SATUN โชห่วยในแบบฉบับที่ไม่ซ้ำใคร”


    โดยดีไซน์ที่กรกชร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจับใส่ในร้านโชห่วยนั้น สิ่งสำคัญอย่างแรกเลยคือ สี ที่ต้องโดดเด่น เพื่อให้ผู้บริโภคที่สัญจรไปมาในเส้นทางนั้น รู้สึกสะดุดตา

 


    “เริ่มจากดีไซน์เรื่องสี ด้วยความที่เราลองวิเคราะห์ SWOT ในเบื้องต้น ทำให้พบว่าทำเลร้าน ไม่ได้ถือว่าเป็นทำเลทองในเขตภาคใต้ ถ้าหากผู้คนไม่ได้ตั้งใจมาเที่ยวสตูล หรือว่าเดินทางไปเที่ยวประเทศมาเลเซีย ก็จะไม่ผ่านเส้นทางที่ร้านตั้งอยู่ เช่นนั้นเพื่อเป็นการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเห็นเรา ผมจึงต้องใส่ดีไซน์เรื่องสีให้สะดุดตามากที่สุด โดยทาสีเหลืองทั้งตึก พร้อมกับใช้สัญลักษณ์ดอกไม้ประจำชาติ ซึ่งเหตุผลที่ใช้ก็เนื่องด้วยผมมองเป้าหมายในระยะยาว ถ้าหากวันหนึ่งเราสามารถสร้างโมเดลนี้ให้นิ่งได้ ผมตั้งใจจะขยาย TWIN SHOP SATUN ไปทั่วทั้งประเทศและกระจายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย”
 


    เมื่อภายนอกที่โดดเด่นด้วยสีสัน เชิญชวนให้จอดรถแวะชมโชห่วยแลนด์มาร์กประจำจังหวัดสตูล ภายในก็มีการตกแต่งที่สวยงามไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกรงนกเขาสีเหลืองทองอร่ามมากมายที่ถูกนำมาตกแต่งร้าน ได้สร้างความโดดเด่นสะดุดตา ทั้งยังสลัดภาพโชห่วยแบบเก่าทิ้งอย่างสิ้นเชิง เพราะกรกชนำความทันสมัยของมินิมาร์ทเข้ามาประยุกต์ โดยยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของโชห่วยเช่นเดิม
 

    “ภายในร้าน ผมเลือกใช้สีดำล้วนเลยครับ นั่นก็เนื่องด้วยสีดังกล่าวสามารถที่จะหยุดแม่สีทั้งหมดได้ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะนำสินค้าที่มีสีสันหลากหลายมากแค่ไหน หากผนังเป็นสีดำหมดแล้วเราใช้ไฟส่องลงไปที่ผลิตภัณฑ์ นั่นจะช่วยดึงสินค้าให้มีความโดดเด่นขึ้นมาได้ ทั้งยังไม่ทำให้ร้านดูมืดจนเกินไปแต่กลับให้บรรยากาศที่มีความอบอุ่นแทน"

 

    "ส่วนเรื่องของระบบการจัดการภายในร้าน ผมก็ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้ตั้งใจจะให้เป็นโชห่วยแต่ระบบการบริหารจัดการเราควรทำให้ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นระบบบาร์โค้ดหรือการบริหารจัดการสต๊อก เนื่องจากร้านของผมจะเน้นขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่รับประทานได้ ดังนั้น สต๊อกจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะผมเองตั้งใจว่าสินค้าทุกชิ้นจะนำเข้ามาใหม่ทุก 2 อาทิตย์ ไม่มีการสต๊อกค้างไว้เป็นเดือน ซึ่งผมกล้าการันตีได้เลยว่า คนที่เข้ามาซื้อสินค้าผมจะได้แต่ของที่สดและใหม่”

 

    ตามที่กรกชได้กล่าวมาว่าร้านของตนจะมีแต่สินค้าที่รับประทานได้ ในส่วนนี้เขาให้เหตุผลไว้ว่า เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะทำให้ลูกค้าจดจำ เนื่องจากมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน คล้ายกับโมเดลของร้าน ล.เยาวราช ที่กรุงเทพฯ เพียงแต่ว่าของตนนั้นจะมีเฉพาะของกินที่มีทั้งแบรนด์ทั่วไปและภายใต้แบรนด์ของเขาเอง

 


    “การที่เราเจาะจงไปเลยว่าภายในร้านขายสินค้าประเภทไหน นั่นก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยให้ลูกค้าจดจำตัวตนของเราได้ พร้อมกันนั้นยังมีอีกหนึ่งหมัดเด็ดที่ผมเตรียมไว้มัดใจลูกค้า ก็คือการติดต่อขอซื้อของกินขึ้นชื่อจากชุมชนต่างๆ ซึ่งผมเน้นเลยว่าจะต้องเป็น OTOP ระดับ 5 ดาวเท่านั้น แล้วค่อยนำมาใส่เป็นแบรนด์ของเรา ทั้งนี้ก็เพราะในอนาคตถ้าหากว่าร้านของผมนิ่งและเริ่มมีชื่อเสียง เราจะเริ่มส่งสินค้าเหล่านี้กระจายไปยังร้านค้าตามที่ต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งผมไม่ได้ติดต่อไว้แค่ภายในจังหวัดสตูลเท่านั้น แต่ยังติดต่อขอซื้อสินค้า OTOP ไปยังจังหวัดที่ใกล้เคียง และนำมาเป็นจุดขายภายในร้านคล้ายกับเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาซื้อ โดยในช่วงแรกจะมีสินค้าภายใต้แบรนด์ของผมอยู่ในร้าน 10 เปอร์เซ็นต์ก่อน และในอนาคตจะค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนไปเรื่อยๆ ซึ่งโมเดลในลักษณะนี้เท่าที่ศึกษามาในประเทศไทยยังไม่มีใครเริ่มต้นทำ”



 

    แม้หลายคนจะพูดว่าโชห่วยไม่มีอนาคต และพร้อมจะตายได้ตลอดเวลา แต่ชายคนนี้กลับไม่เชื่อและมีความกระตือรือร้นที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอยู่เสมอ ไม่แน่ว่าในอนาคต TWIN SHOP SATUN อาจจะเป็นโมเดลโชห่วยที่สร้างปรากฏการณ์ สามารถขยายสาขาไปได้ไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกันนั้น กรกชยังได้ฝากถึงผู้บริโภคให้ช่วยกันอุดหนุนสินค้าหรือธุรกิจของคนไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้นได้ และไม่เพียงแต่ผู้ซื้อเอง ในส่วนของผู้ขายก็ควรที่จะปรับตัวอยู่ตลอด อย่าทำธุรกิจที่เมื่อ 30 ปีประสบความสำเร็จอย่างไร วันนี้ก็ยังทำเช่นเดิม เพราะโลกนั้นหมุนไปค่อนข้างเร็ว ดังนั้น การหาความรู้ ศึกษาตลาดและไม่หยุดที่จะพัฒนาจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรมีติดตัวไว้

 


Key Success

-    ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดหรือว่าถูก แต่เราต้องลองไปเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจสักที
-    อยู่หน้าร้านด้วยตนเอง คอยพูดคุยและสอบถามลูกค้า เพื่อนำทุกคำติชมมาปรับปรุงตัวอยู่เสมอ
-    อย่ามองข้ามจุดเริ่มต้นเล็กๆ เช่น การทำ SWOT ซึ่งจะช่วยให้เราวิเคราะห์ตนเองได้ดีที่สุด ทั้งยังช่วยกลบจุดบอดให้ธุรกิจได้เป็นอย่างดี

Facebook  : TWIN SHOP SATUN ค้าปลีก/ช้อปปิ้ง/ของฝากสตูล

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน