57 ปีจากซาเล้ง สู่จักรยานร่วมสมัย





เรื่อง/ภาพ : ยุวดี ศรีภุมมา


    รถถีบสองล้อ หรือจักรยาน เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในยุคนี้ที่จักรยานได้กลายเป็นยานพาหนะที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้ปั่น ให้ดูเป็นคนรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อมและรักสุขภาพ เมื่อมองย้อนกลับไป 50 กว่าปีก่อนกว่าที่จักรยานจะดูทันสมัยเฉกเช่นปัจจุบัน ในช่วงนั้นเองที่ประเทศไทยได้มีโรงงานผู้ผลิตรถจักรยานแห่งแรกถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับสมญาเจ้าพ่อซาเล้ง ภายใต้การดำเนินธุรกิจในนาม บริษัท เจเคซี ไบค์ อินดีสตรี้ จำกัด 


    สมเกียรติ อนันต์สรรักษ์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของเจเคซี ไบค์ ได้เล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาในยุคแรกของโรงงานว่า คุณพ่อได้เห็นโอกาสของรถซาเล้งและจักรยานล้อ 28 นิ้วจากเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตจักรยานที่ใหญ่มากในตอนนั้น โดยคุณพ่อนำเอาจักรยานมาแยกชิ้นส่วนเพื่อเป็นต้นแบบและศึกษาการผลิต จนกระทั่งในที่สุดซาเล้งคันแรกก็ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยนับแต่นั้น 


เส้นทางของเจ้าพ่อซาเล้งไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ 

    แม้ว่าในช่วงนั้น เจเคซี ไบค์ จะเป็นผู้ริเริ่มผลิตซาเล้งและรถจักรยานล้อ 28 นิ้ว แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Olympics ผู้นำในยุคนั้นต้องการให้ภาพลักษณ์ของถนนในกรุงเทพมหานครดูสวยงามสะอาดตา จึงกระทบมาถึงผู้ผลิตรถซาเล้งในตอนนั้น ได้ถูกสั่งห้ามขาย ห้ามผลิตรถซาเล้ง หลังจากนั้นเพียงไม่นาน รถซาเล้งก็หายไปจากท้องถนน


    “ในช่วงนั้นที่เขาสั่งห้ามผลิต เพราะต้องการปรับสภาพภูมิทัศน์ในกรุงเทพฯ ให้ดูเจริญรุ่งเรือง ที่บ้านก็กระท่อนกระแท่นเราไม่มีธุรกิจอะไรรองรับเลย เรียกได้ว่าแทบจะเจ๊ง ล้มละลายทีเดียว จนคุณพ่อแอบผลิตก็โดนจับเข้าคุกธุรกิจก็ล้มไปประมาณ 2-3 ปี ลำบากมาก”


    หลังจากมรสุมพัดผ่าน 3 ปีให้หลัง เจ้าพ่อซาเล้งก็กลับมาผลิตจักรยานอีกครั้ง โดยได้หยิบยืมเงินคนใกล้ตัวมาลงทุน จากประสบการณ์ผลิตจักรยานที่ยังไม่เลือนหาย เจ้าพ่อซาเล้งลุกขึ้นสู้และเริ่มใหม่ด้วยการหันมาผลิตจักรยานแบบเต็มตัวกับจักรยานล้อ 28 นิ้วที่รู้จักกันดีในสมัยก่อนว่าจักรยานกุญแจคอ จนได้พัฒนามาเรื่อยสู่จักรยานรุ่นท่าเรือ เป็นจักรยานที่ได้ใจผู้ใช้แรงงานในการบรรทุกสินค้า น้ำแข็งและเตาถ่านหุงต้มในสมัยก่อน จากนั้นพัฒนามาสู่จักรยานล้อ 27 นิ้ว และล้อ 26 นิ้ว ซึ่งเป็นจักรยานธรรมดาที่เชื่อมด้วยทองเหลือง
 


    
จากซาเล้ง สู่จักรยานร่วมสมัย 

    15 ปี ต่อมาก็ได้เข้าสู่ยุคของจักรยานเสือหมอบ ในช่วงนั้นเกิดจากกระแสของ ปรีดา จุลละมณฑล นักปั่นจักรยานเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ส่งผลให้จักรยานเสือหมอบในประเทศไทยโด่งดังขึ้นมาในทันตา

    “ตอนนั้นเสือหมอบกลายเป็นกระแสมาก มาจากกระแสโลกและจากปรีดา ในประเทศไทยตลาดโตมาก ความต้องการใช้จักรยานสูง เราแทบจะผลิตไม่ทัน คู่แข่งเริ่มมีบ้าง แต่เขายังตามเราไม่ทัน ช่วงนั้นเราได้รับความนิยมจากลูกค้าคือจักรยานเสือหมอบล้อ 27 นิ้ว ชื่อยี่ห้อ จากัวร์ กับ อีเกิ้ล แต่เราใช้ชื่อยี่ห้อนี้ได้ไม่นานเพราะติดเรื่องชื่อซ้ำกับรถยนต์และยางรถยนต์”


    ด้วยความที่ชีวิตในวัยเด็กของสมเกียรตินั้นเติบโตและคลุกคลีมากับจักรยาน แม้ว่าตอนแรกสมเกียรติค่อนข้างจะไม่ชอบการประกอบจักรยาน เนื่องจากโดนคุณพ่อบังคับให้ทำ แต่ในที่สุดสายเลือดเจ้าพ่อซาเล้งก็ซึมซับ ทำให้สมเกียรติเรียนรู้การทำจักรยานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมาถึงช่วงที่สมเกียรติเริ่มโตขึ้น พอดีกับที่กระแสของจักรยาน BMX เริ่มเข้ามาหลังจากเสือหมอบ ซึ่งเป็นรุ่นที่สมเกียรติเริ่มก้าวเข้ามาจริงจังในธุรกิจจักรยาน


    “ผมเริ่มเข้ามาช่วงกระแสของ BMX ตอนนั้นเริ่มเป็นหนุ่ม ผลิตเอง ขายเอง ขี่เอง เหตุผลที่เริ่มทำรุ่น BMX เพราะมันเป็นไปตามกระแสโลก จักรยานทุกรุ่นที่เข้ามาในประเทศไทย เข้ามาด้วยกระแสโลก ตอนนั้นกระแสโลกเติบโตและเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จากเดิมที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่และมีคุณภาพ ญี่ปุ่นพัฒนาตัวเองมาผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ เขาเลยขยายฐานมาที่ไต้หวัน ปัจจุบันไต้หวันจึงกลายเป็นประเทศที่ผลิตจักรยานเยอะและมีคุณภาพมากที่สุด”


    จากนั้นสมเกียรติก็เริ่มพัฒนาและผลิตจักรยานรุ่นเสือภูเขา โดยในช่วงเริ่มใช้ชื่อยี่ห้อ เพรสซิเด้นท์ ทอร์นาโด และโกสต์ ซึ่งสมเกียรติจะเน้นจับลูกค้ากลุ่มตลาดล่าง โดยเฉพาะตามแนวชายแดน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการใช้จักรยานสูง 


    “เราเริ่มใช้เพรสซิเด้นท์ ทอร์นาโด และโกสต์ ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ของทอร์นาโดจะอยู่ตามแม่สอด ภาคอีสาน ประเทศลาว กัมพูชา ลูกค้าเขาจะระบุเลยว่าต้องการยี่ห้อทอร์นาโด เพราะผมรู้ว่าพวกเขาชอบอะไร พวกเขาชอบสติกเกอร์ของเรา ที่เราออกแบบ มันเป็นเรื่องของดีไซน์ เราเข้าใจผู้บริโภค”

 
    
เมื่อมีคู่แข่ง กลยุทธ์ปรับตัว 

    ถึงวันที่การผลิตจักรยานแบบเดิมๆ เหมือนในสมัยก่อนจะอยู่ได้ยากขึ้น เมื่อมีเสียงร้องต้องการใช้จักรยานจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ตลาดโตขึ้น ทำให้คู่แข่งก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน สิ่งที่สมเกียรติเริ่มมองหา นั่นคือ ความยั่งยืน การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งเป็นสิ่งแรกที่สมเกียรติเริ่มทำ 


    “4 ปีที่แล้วผมเริ่มใช้แบรนด์ Iconic เป็นแบรนด์ที่ใช้สำหรับจักรยานเสือหมอบและจักรยานฟิกเกียร์ ซึ่งเหมาะสำหรับลูกค้าตลาดบนและกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะฟิกเกียร์ ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนเริ่มผลิตเจ้าแรก ตอนแรกเรามองข้ามฟิกเกียร์ไปเพราะเห็นว่าคันหนึ่ง 3 หมื่นกว่าบาท เลยไม่ได้สนใจ จนมีลูกค้าคนหนึ่งโทรศัพท์มาหา บอกเราว่า ทำฟิกเกียร์สิ  หลังจากนั้นผมโทรศัพท์ไปไต้หวัน ขอ Drawing ผมรู้แล้วว่าข้อดีผมมีอะไร 1.เรื่องสี ผมมีเทคนิคการทำสีเลเซอร์ ใช้คนน้อยกว่าโรงงานอื่น 2.เรื่องการออกแบบ ดีไซน์สติกเกอร์ 3.เรื่องของโครงสร้างจักรยาน ผมมาปรับ มาพัฒนา จนออกขายฟิกเกียร์ มีติดสติกเกอร์ว่า Spin non-stop และ I love Fixed Gear ปกติแล้ววัยรุ่นที่ซื้อ Fixed Gear จะชอบแกะสติกเกอร์ที่มาจากโรงงานออก แต่ของเราเขาไม่แกะ เหมือนว่าเขาจะดูเท่มาก ถ้าได้ขี่ Fixed Gear ของเรา นั่นเป็นความภาคภูมิใจ”


    นอกจากนี้ สมเกียรติยังมีการปรับตัว โดยเริ่มทำจักรยานให้กลายเป็นสินค้าโฆษณา รวมถึงจักรยานเพื่อการทำ CSR ให้กับองค์กรต่างๆ อีกด้วย 


    “ช่วงที่เรากำลังคิดว่าจะนำเข้าจักรยาน Hi-Ended ตอนนั้นสภาพเรายังไม่พร้อม ไม่มีพื้นที่ เราเลยทำ R&D ตัวหนึ่ง เริ่มมองว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจที่มีอยู่ปัจจุบันไปรอด เลี้ยงคนงานได้ดี ก่อนที่จะนำเข้ารถนอกมาแข่งขัน เลยเริ่มพัฒนาจักรยานของเราให้กลายเป็นสินค้าเพื่อการโฆษณา รวมถึงพัฒนาให้สินค้าเข้าไปอยู่ในกลุ่มจักรยานบริจาค ตัวแรกของเราคือจักรยานของ Dtac สั่งเรา 500 คันเพื่อไปบริจาค เราผสานไอเดียกัน เรื่องการออกแบบสติกเกอร์เราถนัดอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็มีอีกหลายองค์กรที่เข้ามาหาเรา ส่วนจักรยานโฆษณา สมมุติเวลาคอนโดฯ จะขึ้นโครงการใหม่ แทนที่จะจ้างคนมาโบกธง ก็เอาจักรยานเรา ติดสติกเกอร์ ติดป้ายโฆษณาและขี่จักรยานในตอนช่วงที่รถติดเช้า เย็น ซึ่งได้ผลกว่าการโบกธงมาก”

 


    
    สำหรับในปัจจุบัน เจเคซี ไบค์ ยังคงดำเนินการผลิตจักรยานอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบ OEM ผลิตภายใต้แบรนด์ของตนเองและส่งขายให้ยี่ปั๊ว รวมถึงผลิตจักรยานเพื่อการโฆษณาและ CSR อีกด้วย โดยในอนาคต สมเกียรติมีแนวคิดริเริ่มในการทำหน้าร้านของตนเองและมีการให้ลูกค้าสามารถเข้าสั่งประกอบจักรยานในรูปแบบของ Customize ให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าแต่ละคนมากที่สุด 


    เมื่อเวลาผ่าน สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือคุณภาพและความเอาใจใส่ที่เจเคซี ไบค์ มอบให้แก่ลูกค้านักปั่นของเขา นอกจากนี้ เจเคซี ไบค์ ยังไม่หยุดนิ่ง แม้ว่าจะดำเนินกิจการมานานแค่ไหนก็ตาม เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เท่าทันกับความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม จักรยานของเขาได้อยู่คู่กับนักปั่นมามากกว่า 50 ปี 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล