Healthy Glove ต่อยอดยางพาราไทย ตีตลาดโลก






เรื่อง/ภาพ : ยุวดี ศรีภุมมา


    เชื่อหรือไม่ว่า ราคายางพาราดิบกับราคายางพาราแปรรูป หรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มแล้วนั้น ราคาต่างกันถึง 5-10 เท่าตัวเลยทีเดียว และเหตุผลนี้เองที่ทำให้นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงแห่งภาคใต้ได้เห็นช่องว่างในตลาดถุงมือยาง และได้ต่อยอดยางพาราธรรมดาให้กลายเป็นถุงมือยางระดับ Global กับแบรนด์ Healthy Glove

 


    นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงที่ว่านี้ ก็คือ เจษฎา รักษ์ศรีทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มศรีทอง กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของภาคใต้ที่ดำเนินธุรกิจโดยเน้นการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่มีในภาคใต้ ได้แก่ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยเริ่มต้นดำเนินธุรกิจแรก คือโรงงานน้ำยางข้นในปี พ.ศ. 2543 จากนั้นก็ได้ขยายสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ และโรงงานไฟฟ้าจากชีวภาพและชีวมวล จนกระทั่งล่าสุดในปี พ.ศ. 2556 ได้เริ่มต้นสร้างโรงงานถุงมือยาง พร้อมกับการสร้างแบรนด์ Healthy Glove ขึ้นมาภายใต้บริษัท เฮลตี้ โกล์ฟ จำกัด 


 

    “ธุรกิจดั้งเดิมของเราทำเกี่ยวกับแปรรูปสินค้าเกษตรอยู่แล้ว ทั้งโรงงานน้ำยางข้น โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานไฟฟ้า ประกอบกับเราได้มีการวางแผนระยะยาวสำหรับกลุ่มธุรกิจเราว่า จะทำผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากยิ่งขึ้น และลดการใช้ปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด เราเห็นว่าตลาดถุงมือยังมี Margin สูง ในขณะที่ผู้เล่นยังมีน้อย เราจึงเริ่มต้นทำโรงงานถุงมือยาง ตอนแรกเราไม่มีประสบการณ์ในการทำถุงมือยางมาก่อน แต่เราได้บุคลากรที่มีความสามารถและคลุกคลีอยู่ในวงการทำถุงมือมาช่วย เราจึงเริ่มเดินไลน์การผลิตเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราได้ขยายกิจการโรงงานถุงมือด้วยการ Takeover โรงงานถุงมือที่หาดใหญ่ ทำให้การผลิตถุงมือของเราเติบโตแบบก้าวกระโดด”

 

    ความได้เปรียบของ Healthy Glove ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น นั่นคือ ต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นจุดที่เจษฎาคาดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะนำทรัพยากรและวัตถุดิบที่มีอยู่ในกลุ่มธุรกิจศรีทอง เพื่อมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและลดการใช้ปัจจัยภายนอกให้มากที่สุด นับว่าเป็นสิ่งที่เจษฎาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก 
 

    “เมื่อตอนที่เราบอกคนอื่นว่าจะทำโรงงานถุงมือยางนะ คนรอบข้างก็ตกใจว่าทำไมเราถึงกล้า เพราะเคยมีคนไทยทำถุงมือยางแล้วแต่หลายคนก็ไม่สำเร็จ แต่ถามว่าทำไมศรีทองถึงกล้า เหตุผลของเราก็คือ เพราะเราเน้นอาศัยปัจจัยภายนอกต่ำ ทำให้ต้นทุนเราต่ำกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของวัตถุดิบ เรามีโรงงานทำน้ำยางข้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำถุงมือยาง และเรามีเชื้อเพลิงที่ใช้ในการอบถุงมือ การที่เราใช้สิ่งที่เรามีอยู่ทั้งหมด ทำให้เราลดเรื่องของค่าขนส่งได้อีกด้วย จุดนี้เองที่ทำให้เราสามารถแข่งกับผู้เล่นรายอื่นๆ ของตลาดโลกได้”

 

    แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่า Healthy Glove จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศไทย แต่หากเทียบกับตลาดโลกแล้วก็ยังมีผู้เล่นในหลายๆ ประเทศที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะประเทศมาเลเชีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลก 

    “ตอนนี้ผู้เล่นหรือคู่แข่งที่อยู่ในตลาดถุงมือมีไม่เยอะ คู่แข่งที่เกิดใหม่น่าจะยาก มีผู้เล่นรายใหญ่ๆ อยู่ประมาณ 10 กว่ากลุ่ม น่าจะผลัดกันขึ้นและลงอยู่ในกลุ่มนี้ รวมถึงเราเองด้วย ฟังผมพูดเหมือนจะง่ายแต่ความจริงแล้วทำยากมาก เพราะการผลิตถุงมือรายละเอียดเยอะมาก ไหนจะมีประเภทถุงมือที่หลากหลาย รายละเอียดขั้นตอนการผลิต ถ้าผิดพลาดนิดเดียวต้นทุนก็ไปแล้ว ผู้เล่นรายใหญ่อย่างมาเลเชียตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหาในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตอนนี้เราได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนที่ต่ำกว่า”
 

    นอกจากนี้ ธุรกิจถุงมือยางยังเป็นธุรกิจที่เป็น International จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการแข่งขันด้วยการตัดราคา แต่จะเน้นแข่งขันในเรื่องของการผลิตสินค้าที่มีความแตกต่าง หลากหลาย หากว่าใครสามารถเพิ่มความพิเศษให้กับถุงมือยางได้มากกว่าก็จะได้เปรียบ 
 

    “การทำธุรกิจถุงมือแต่ละบริษัทจะมีความเป็นมืออาชีพมาก เราไม่แข่งกันที่ราคาแต่จะแข่งด้วยคุณภาพของสินค้าและการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งต้นทุนเราได้เปรียบอยู่แล้ว ส่วนในเรื่องของการผลิต ต้องยอมรับว่าถุงมือยางเป็นสินค้าที่มีความละเอียดและแบ่งย่อยในแต่ละประเภทได้เยอะมาก ส่วนใหญ่จะใช้ทางการแพทย์ ก็มีทั้งถุงมือผ่าตัด ถุงมือทำคลอด ถุงมือตรวจโรค ถุงมือเอกซเรย์ ยังไม่รวมถุงมือที่ใช้ทำอย่างอื่น รายละเอียดในการผลิตเยอะมาก ถ้าใครมีเครื่องจักรที่ไม่สามารถรองรับตรงนี้ได้ก็เสียโอกาส 
 

    “อย่างเราเองก็ลงทุนในช่วงแรกค่อนข้างสูง ทำให้เครื่องจักรเราสามารถผลิตสินค้าที่มีความพิเศษได้ดี ถุงมือยางที่เป็นมาตรฐานเราทำอยู่แล้วแต่เราผลิตได้หลากหลายกว่านั้น เรามีถุงมือพิเศษเยอะมาก ทั้งถุงมือสีดำใช้ในร้านทำผมของอเมริกา ถุงมือเอกซเรย์ ถุงมือยาวพิเศษ ซึ่งการทำถุงมือแบบพิเศษจะต้องใช้เทคนิคเยอะแต่มูลค่าก็สูงตามไปด้วย จากถุงมือปกติเราขายได้ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถุงมือเอกซเรย์เราขายได้กว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเกือบสามเท่าตัว”

 

    สำหรับตอนนี้ Healthy Glove เน้นการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นตลาดหลัก เนื่องจากความต้องการใช้ถุงมือยางของทั้ง 2 ภูมิภาคนั้นสูงมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตลาดในอนาคตคือฝั่งเอเชีย เช่น จีน ซึ่งเจษฎาคาดว่าในอีก 4- 5 ปีข้างหน้า จีนจะเติบโตแซงยุโรปเพราะประชากรเยอะกว่า อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า แม้ถุงมือจะถูกจัดกลุ่มเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นการยกระดับมาตรฐานของการใช้ชีวิต ทำให้อัตราการใช้ถุงมือหลักๆ ก็ยังคงเป็นฝั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความต้องการใช้ถุงมือตอนนี้อยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์จากความต้องการทั่วโลก ส่วนยุโรปอยู่ที่ กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นจะกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ 
 


    “กลยุทธ์ของเราจะไม่ทุ่มไปที่ตลาดใดมากๆ เรากระจายความเสี่ยง โดยแชร์ประมาณ 3-4 ตลาดเท่าๆ กัน โดยเราแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. สร้างแบรนด์ 2. OEM 3. ส่งออกให้ Importer รายใหญ่ที่นำเข้าถุงมือ เพราะบางประเทศเราเข้าเองไม่ได้ ต้องเล่นไปตามเกมตลาด ความต้องการใช้ถุงมือทั่วโลกในตอนนี้อยู่ที่ 220,000 ล้านชิ้น แต่ว่ากำลังการผลิตของแต่ละแบรนด์ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่สูงขนาดนั้นได้ ทำให้ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจถุงมือในตอนนี้”
 

    สำหรับเป้าหมายในอนาคตของ Healthy Glove นั้น เจษฎาได้ตั้งเป้าการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4,000-5,000 ล้านชิ้นต่อปี มาเป็น 7,000-8,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งคาดว่าน่าจะติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก อีกทั้งมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี และคาดว่าในปี พ.ศ. 2560 จะติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าว่าจะมีการขยายธุรกิจของบริษัท เฮลตี้ โกล์ฟ ด้วยการเปิดบริษัทในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายและเพิ่มโอกาสสำหรับตลาดในภูมิภาคนั้น

    และนี่คือตัวอย่างที่ดีของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร ที่สามารถสร้างทั้งโอกาสและยอดขายได้อย่างมหาศาล 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี


RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน