'Pana objects' ใส่ดีไซน์ลงเศษไม้สู่สินค้าสุด Cool ไม่เหมือนใคร

 



เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : ชาคริต ยศสุวรรณ์

    ถ้าหากคุณลองสังเกตรอบตัว จะสามารถเห็นได้ว่าเฟอร์นิเจอร์หรือข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัวล้วนแต่มีไม้เป็นส่วนประกอบแทบจะทั้งสิ้น อนึ่ง ไม้เป็นวัตถุดิบที่ดีมีคุณค่าและแข็งแรง เมื่อถูกรังสรรค์ให้ออกมาเป็นของแต่งบ้านก็มักจะทำให้บ้านดูอบอุ่น แต่เมื่อมีไม้อย่างเดียวใครๆ ก็สามารถทำได้ จึงทำให้มีหนึ่งแบรนด์คิดสร้างสรรค์สินค้าที่เป็นมากกว่าไม้ ด้วยการใส่ Story ลงไป ทำให้งานไม้น่าสนใจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

 

    Pana objects แบรนด์ผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างใส่ใจ ได้ถูกเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อน 7 คนที่เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์และมีความถนัดในเรื่องของการออกแบบเป็นทุนเดิม ประกอบกับเมื่อเรียนจบแล้วอยากจะเริ่มต้นสร้างแบรนด์ ทำธุรกิจเป็นของตนเอง จึงได้รวมตัวกัน ในเรื่องนี้ ภัทรพงศ์ พรพนาพงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรกที่ทำนั้น ทุกคนไม่มีประสบการณ์ด้านการผลิตและการทำธุรกิจมาก่อน มีเพียงแค่ความชอบและความสามารถในเรื่องของการออกแบบเท่านั้น 

 


    “ตอนเริ่มต้นก่อนที่แบรนด์จะเกิดขึ้นมา 1 ปี เป็นช่วงที่เราเริ่มศึกษา ลองผิดลองถูก เพราะไม่เคยมีประสบการณ์อะไรมาก่อนเลย ตอนแรกซื้อเครื่องไม้เครื่องมือมาลองทำ ซื้อไม้จากตลาดมา พยายามทำอย่างไรก็ไม่เรียบ ตอนนั้นเราคิดว่า เรามีหน้าที่แค่ออกแบบแล้วค่อยไปหาคนผลิต แต่พอเราไปให้เขาผลิตก็ไม่ได้อย่างที่เราต้องการ ทั้งลวดลายและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และถ้าไปโรงงานใหญ่ สเกลการผลิตเราก็ไม่ได้ เขาผลิตเยอะแต่เราต้องการให้ผลิตแค่นิดเดียวเพื่อมาทดลองตลาด เพราะถ้าสินค้าไม่ดี ขายไม่ได้ เราก็แย่ เราเลยเริ่มคิดว่า เราถนัดเรื่องของการขึ้นรูป ถ้าอย่างนั้นลองหาเครื่องจักรที่สามารถควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และขึ้นรูปได้ด้วย”
 


    ในช่วงแรกที่เริ่มต้น เรียกได้ว่าต้องพบเจออุปสรรค เมื่อเครื่องจักรตัวแรกนั้นเป็นเครื่องจักรที่ไม่ได้มาตรฐานจนทำให้กลุ่มเพื่อนทั้ง 7 คนถึงกับท้อจนอยากจะล้มเลิก

    “ตอนนั้นเราเหมือนยังเด็กๆ อยู่ ไปซื้อเครื่องจักรราคาถูก เน้นประหยัด แล้วมันไม่สามารถทำงานได้อย่างที่อยากทำ เราก็กลับมานั่งคิดว่า ที่ทำไม่ได้เป็นที่เราหรือที่เครื่องจักรกันแน่ โทษตัวเองว่าทำไม่เป็นเอง เป็นดีไซเนอร์แต่จะมาทำงานกึ่งวิศวกรรม มันใช่เหรอ แต่เราก็ลองกลับไปศึกษาจนรู้ว่า ความจริงแล้วที่ทำไม่ได้เพราะเครื่องจักรประกอบไม่ได้มาตรฐาน เลยทำเรื่องคืนเครื่องและคิดว่าจะเอาอย่างไรต่อดี ตอนนั้นก็ท้อเกือบจะล้มเลิก แต่พอไปศึกษาหาข้อมูลก็เจอเครื่องจักรของอีกเจ้าหนึ่ง ที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ราคาแพงกว่าเครื่องเดิม 5 เท่า เราก็เลยลองทำต่อ ซึ่งตอนนี้เราก็ยังใช้งานเครื่องจักรตัวนี้อยู่”
 




    เมื่ออุปสรรคผ่านพ้น แบรนด์ Pana objects ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยยุคนั้นเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีสินค้าแนวดีไซน์เกิดขึ้นเลย Pana objects คล้ายกับเป็นรุ่นบุกเบิกสินค้าแนวดีไซน์ในประเทศไทยเวลานั้น 

    “ตอนที่แบรนด์เกิดขึ้นแรกๆ เมื่อ 4 ปีที่แล้วคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักแบรนด์เรา แต่จะเป็นชาวต่างชาติที่ชอบเสพสินค้าดีไซน์หรือกลุ่มดีไซเนอร์ เพราะคนไทยตอนนั้นยังไม่ค่อยเสพสินค้าพวกแนวดีไซน์เท่าไหร่ เราเริ่มจากการออกบู๊ธเองในปีแรกที่งาน BIG&BIH แต่อาจจะยังผิดที่ผิดทาง ลูกค้าจะยังงงๆ กับเราเพราะเราเน้นการเล่าเรื่องราวของแบรนด์ เรื่องการออกแบบ ยังไม่ได้คิดในแง่ของการตลาดหรือการทำธุรกิจ จนเราได้เข้าโครงการ Talent Thai ที่เป็นโครงการส่งเสริมดีไซเนอร์หน้าใหม่ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยเทรนเราในเรื่องของการทำธุรกิจ ได้พบปะลูกค้า มีออกงานแฟร์ ได้เจอดีไซเนอร์คนอื่นๆ วิธีการคิดต่างๆ ก็เปลี่ยนไปในเชิงธุรกิจมากขึ้น”

 



    สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ไม้มีดีไซน์อย่าง Pana objects นั่นคือ การใช้ไม้ที่โชว์ความเป็นธรรมชาติของไม้มากที่สุด รวมไปถึงการใส่ฟังชันก์และลูกเล่นต่างๆ ลงไปในผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน

    “จุดเด่นแรกของเราคือ เราใช้ไม้จริงในการผลิตทั้งหมด เราจะไม่ย้อมสีไม้ สมมุติเราซื้อไม้ Beech มา สีออกอมชมพู เราก็ใช้สีนี้เลย หรือไม้ Maple เป็นไม้ที่เราใช้เยอะ อย่างผลิตภัณฑ์ตัวไหนเน้นโชว์ลวดลายก็เป็นไม้สีอ่อนที่เราเลือกใช้ ส่วนเรื่องดีไซน์เราพยายามใส่ใจถึงไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ บางทีก็ดูเรื่องพฤติกรรมการใช้งานของคน ดูว่าตรงไหนที่น่าสนใจหรือตอบโจทย์ตลาดได้ เช่น ที่ใส่ Masking Tape เราดูก่อนว่าคุณสมบัติเทปเป็นกระดาษ คนมักจะชอบฉีก อีกอย่างคือเทปตัวนี้มีหลายสี แล้วถ้าเราทำให้กลายเป็นไส้ขนมก็จะเหมือนได้เปลี่ยนรสชาติขนม จึงทำให้เกิดที่ใส่เทปเป็นทรงแซนด์วิชแคร็กเกอร์ไม้ที่สอดไส้ด้วย Masking Tape”

 



    นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ Pana objects โดดเด่นต่างจากแบรนด์อื่น นั่นคือ การใส่เรื่องราว หรือ Story เบื้องหลังของสินค้าชนิดหนึ่งเพื่อให้คนเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงบางอย่างกับสินค้าชนิดนั้น 

    “การใส่เรื่องราวลงไปในสินค้าเป็นโอกาสสำหรับเรา คือ เวลาเรื่องราวที่ใส่ลงไปตรงกับกลุ่มผู้ใช้งาน จะช่วยให้ผู้ที่เขาใช้งานรู้สึกอะไรบางอย่าง เหมือนกับว่าเรารู้จักพวกเขามากขึ้น Connect กัน เพราะฉะนั้นของที่เขาเลือกใช้จะตรงประเด็นที่เขารู้สึกอิน เป็นไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำของเขา เขาจะรู้สึกว่าเจ๋งที่เลือกใช้ เช่น มีสินค้าตัวหนึ่งเราเพิ่งออกใหม่คือที่เปิดขวดโดยใช้เหรียญในการเปิด เราสามารถสร้างมิติเรื่องราวว่า ถ้ามีของสิ่งนี้ในปาร์ตี้จะเพิ่มความสนุกมากขึ้น เลยทำที่เปิดขวดจากไม้ แต่ถ้าใช้ไม้เปิดเลยจะบิ่น จะหัก เราจึงมองหาของที่ใกล้ตัวมาช่วย จึงนึกถึงเหรียญที่ทุกคนต้องมี อย่างเวลาไปซื้อเครื่องดื่มจะได้รับเงินทอนเป็นเหรียญบ้าง ก็เลยคิดขึ้นมาให้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ใส่เหรียญลงไปก็จะกลายเป็นที่เปิดขวด เรื่องราวหรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะซ่อนอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เราแค่จับประเด็นแล้วมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดเรื่องเล่าและความสนุก”
 



    ปัจจุบัน Pana objects เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยมากขึ้นกว่าในยุคก่อน เพราะคนไทยเริ่มหันมาเสพงานดีไซน์มากขึ้น ส่วนในต่างประเทศเวลานี้ Pana objects กำลังตั้งเป้าที่จะส่งออกไปยังตลาดในยุโรป ญี่ปุ่น และไต้หวัน อีกทั้งยังจะมีการพัฒนาสินค้าที่มีเรื่องราวและความสนุกเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคออกมาอย่างไม่ขาดสายแน่นอน 

    เพราะในยุคนี้เพียงแค่ความสวยงามอย่างเดียวคงไม่พอ การใส่เรื่องราวที่น่าสนใจจะช่วยให้ผู้บริโภคหลงรัก    แบรนด์ของคุณได้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ดังเช่นที่ Pana objects ใช้เรื่องเล่าของตัวสินค้าเป็นพระเอกในการนำเสนอ จนทำให้ลูกค้ากับแบรนด์สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างดีเยี่ยม 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.pana-objects.com


 



Keys Success 
1.    ต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำ ศึกษาจนมีความรู้จริง
2.    ทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการสื่อสาร 
3.    ในการลดความเสี่ยงจำเป็นต้องหาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล