CCC OBJECTS ขยะไม่มีบนโลก ถ้ารู้จักวิธีใช้

    
 





เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย




    ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรื่องของ Green หรือ Eco ถือเป็นกระแสสังคมที่มาแรงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยไปไม่น้อย ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องอาหารการกินเท่านั้นที่ได้รับความนิยม เพราะแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ความเป็นสีเขียวก็ล้วนได้รับความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และจากโอกาสในตลาดที่เกิดขึ้นนี้เอง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้สามพี่น้อง ครอบครัวจันทร์คำ อย่าง โอภาส ภัทรพล และ อรรถพล เปิดตัว 'PUNN' ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ CCC OBJECTS ซึ่งมีสโลแกนสะกิดต่อมคนไทยที่ว่า “ขยะหรือวัสดุเหลือใช้ จริงแล้วมันคือ ขยะ หรือแค่เราไม่รู้วิธีใช้”


    “ผลิตภัณฑ์บางชิ้นมีการชูจุดเด่นที่คำว่า รีไซเคิล ผมก็เลยเกิดคำถามกับตนเองว่า แล้วในท้ายที่สุดมันจะเป็นอย่างไรต่อ” อรรถพลค่อยๆ ถ่ายทอดจุดเริ่มต้นของ 'PUNN' ออกมาให้เราได้ฟัง 

 



    “ทำไมเราจะต้องทำให้เกิดคำว่า Recycle หรือว่าขยะขึ้นมา ทั้งที่ผมเชื่อว่า ขยะไม่มีบนโลก ลองย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อนในยุคที่เทคโนโลยียังไม่เฟื่องฟู ทุกคนต่างต่อต้านกากน้ำมัน เพราะทำให้โลกร้อนบ้าง ทะเลเสียบ้าง แต่พอเวลาผ่านไป กากน้ำมันในทุกชั้นอุณหภูมิกลับกลายเป็นสินค้าและแปรเปลี่ยนมูลค่าของขยะเป็นทองขึ้นมาทันที ดังนั้น ผมจึงมองกลับมายังประเทศไทย ด้วยความที่เป็นประเทศแห่งการเกษตร ส่วนประกอบของผลผลิตต่างๆ เหลือทิ้งค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะใบของสับปะรด ผมจึงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น ก่อนจะได้รู้จักกับกระดาษจากใยสับปะรด”

 



    กระดาษจากใยสับปะรดที่อรรถพลกล่าวถึงนั้น คือการนำใบของสับปะรดมาทำเป็นกระดาษ ซึ่งใยของผลไม้ชนิดนี้จะมีคุณสมบัติอันโดดเด่นและสามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ทว่า ผลไม้ส่งออกอันดับหนึ่งนี้ กลับถูกใช้ประโยชน์อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังจะเห็นได้จากใบสับปะรดที่เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นสินค้าที่ไร้มูลค่า


    “ผมนำจุดเด่นของการเป็นกระดาษจากใยสับปะรดที่ไม่มีการปรุงแต่ง ประกอบกับคุณสมบัติที่มีอัตราการซับน้ำได้สูงมาก มาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อย่างที่รองแก้ว ซึ่งหลายท่านอาจจะมองว่า ธรรมดาและมีให้เห็นอยู่จนชินตาในท้องตลาด แต่ถ้าผมถามกลับว่าแล้วที่รองแก้วที่คุณใช้มีคุณสมบัติเหมาะสมแล้วจริงหรือ ไม่ว่าจะเป็นที่รองแก้วกระดาษ เมื่อเปียกน้ำจนยุ่ยสุดท้ายน้ำก็เปื้อนโต๊ะ หรือแม้แต่ที่รองแก้วที่ทำมาจากแก้ว เหล็กหรือว่าไม้ ก่อนจะนำมากลึงเป็นรูปทรงถ้วย แน่นอนว่าโต๊ะไม่เปื้อนอยู่แล้ว แต่เมื่อน้ำละลายจนปริ่มขอบเราก็ต้องคอยเทออกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น สำหรับผม คำว่าที่รองแก้วจริงๆ คือต้องไม่เลอะโต๊ะ และสามารถซับน้ำได้เอง โดยไม่ต้องพะวงอะไรอีก สุดท้ายแล้วจึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้”
 



    นอกจากนั้น อรรถพลยังใส่นวัตกรรมลงไปในชิ้นงาน จากการวิจัยร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) เพื่อคิดค้นน้ำยานาโนป้องกันเชื้อรา และเมื่อผนวกเข้ากับดีไซน์ที่ใช้สีแต่งแต้มความสวยงาม จึงส่งให้ 'PUNN' ทำออกมาได้อย่างไร้ที่ติ ซึ่งถ้าหากนับตั้งแต่ช่วงที่คิดค้นจนปล่อยผลิตภัณฑ์ออกมาสู่สายตาผู้บริโภคก็เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว โดยผลตอบรับที่อรรถพลได้รับนั้นก็ถือว่าน่าพอใจ เพียงแต่ว่ายังไปไม่ถึงฝันตามที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งด้วยนิสัยของชายคนนี้ย่อมไม่มีทางยอมแพ้ ซ้ำยังเป็นแรงกระตุ้นให้เขาหาหนทางที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์ไปสู่ฝัน
 



    “ในแง่ของแนวคิดต้องยอมรับเลยว่าทุกคนประทับใจ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม เพราะผลิตภัณฑ์ของเรามีเรื่องราวและคุณค่าในตัวเอง แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่การขาย เนื่องจากว่าที่รองแก้วไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับลักษณะนิสัยของคนไทย ทุกวันนี้ต้องลองถามตนเองก่อนว่า นอกจากร้านอาหารแล้ว เราใช้ที่รองแก้วในบ้านหรือออฟฟิศกันหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้เวลาในการปูพฤติกรรมคนไทยอีกสักเล็กน้อย ดังนั้น ผมจึงเริ่มตั้งคำถามกับตนเองอีกครั้งว่า ควรทำอย่างไรให้ 'PUNN' ไปถึงฝัน ก่อนจะได้รับคำตอบแล้วว่า ผมจำเป็นต้องพลิกผลิตภัณฑ์ให้มี Application ที่คนไทยใช้ ดังนั้น จึงนำไปสู่การเป็นของชำร่วยในงานแต่งงาน”

 


    ด้วยโทนสีของผลิตภัณฑ์ที่มีหลากหลาย บรรดาคู่บ่าวสาวจึงสามารถเลือกหยิบ 'PUNN' ให้เข้ากับธีมของงานแต่ง โดยเหตุผลที่อรรถพลเลือกเจาะตลาด Wedding เนื่องด้วยของชำร่วยที่ผ่านมาเป็นเสมือนสิ่งแทนความทรงจำของคู่บ่าวสาว แต่ทว่าของแทนใจชิ้นนี้กลับถูกเก็บใส่ลิ้นชักและกลายเป็นขยะในเวลาต่อมา ดังนั้น เพื่อให้ของชำร่วยสามารถใช้งานได้ และเมื่อใดก็ตามที่มองเห็นของชิ้นนี้ก็จะสามารถจดจำช่วงเวลาความสุขของคนคู่หนึ่งได้อย่างไม่ลืมเลือน จึงต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง พร้อมทั้งเป็นการขยายฐานลูกค้าให้รู้จักผลิตภัณฑ์ของเขามากขึ้น


    อย่างไรก็ดี ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยเหลือภาคเกษตรของไทย แม้สิ่งที่อรรถพลทำจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่ก็สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้ จากการรับซื้อใบสับปะรด ซึ่งเดิมทีนั้นเป็นสิ่งเหลือทิ้งหลังจากตัดผลขาย และกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาเมื่อต้องจ้างคนมาเก็บทิ้ง และนอกจากนี้ อรรถพลยังคงพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยแผนการในอนาคตของเขาคือ นำคุณสมบัติการซับน้ำของใยสับปะรดมาพลิกแนวผลิตภัณฑ์จากซับน้ำเปล่าสู่การซับน้ำหอม เพื่อให้คุณผู้หญิงสามารถพกกลิ่นติดตัวได้

 


    “ผมลองวิเคราะห์พฤติกรรมของคน โดยเฉพาะสาวๆ ที่วันหนึ่งอาจจะต้องการมีหลายกลิ่น สมมุติว่าตอนเช้าผู้หญิงคนหนึ่งเลือกฉีดน้ำหอมกลิ่นนี้ เพราะให้ความรู้สึกเป็น Working Woman แต่พอหลังเลิกงาน เธอคนนี้นัดกับแฟนหนุ่มและต้องการเปลี่ยนกลิ่นน้ำหอมให้มีความโรแมนติกขึ้น วิธีที่จะทำได้คือ ผู้หญิงคนนั้นต้องอาบน้ำ ผมเลยเกิดคำถามกับตนเองอีกว่า ในหนึ่งวันคนเราต้องการกลิ่นเดียวหรือว่าหลายกลิ่น แล้วจะมีใครพกเซตน้ำหอม ดังนั้น จุดเด่นในสิ่งที่ผมมีจากที่รองแก้วจึงได้พัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ และผมคาดว่าจะเปิดตัวสู่ตลาดในเร็วๆ นี้”


    แม้ผลิตภัณฑ์ที่อรรถพลพยายามพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นสินค้าที่พบเห็นอยู่ในท้องตลาดบ้างแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับเลยว่า ในแง่ของวัตถุดิบและการใช้ประโยชน์จริง 'PUNN' จาก CCC OBJECTS ถือว่าประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีแนวความคิดอันเปี่ยมไปด้วยมูลค่า เพราะไม่เพียงแต่ความตั้งใจทำผลิตภัณฑ์ดีๆ เพื่อผู้บริโภคเท่านั้น เขายังคิดไปถึงกลุ่มเกษตรกรไทยที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหลายเท่าตัว หากผู้ประกอบการรายอื่นมีแนวความคิดที่เป็นไปในทิศทางเช่นนี้ ก็นับเป็นการช่วยเหลือกระดูกสันหลังของประเทศได้อีกไม่น้อยเลยทีเดียว

Key Success

-    สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคได้จริง
-    นำสิ่งที่คนมองว่าเป็นขยะมาเพิ่มมูลค่า ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักถึงแนวคิดนี้ร่วมด้วย
-    พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีฟังก์ชันที่หลากหลาย
-    มองประโยชน์ของสังคมโดยรวม ไม่ใช่มองแต่ธุรกิจของตนเองเป็นหลัก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.cccobjects.com
www.facebook.com/cccobjects

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน