Bikexenger รับ-ส่งเอกสารด้วยจักรยาน





เรื่อง/ภาพ กองบรรณาธิการ



หากเป็นในอดีต ใครที่อยากจะได้ความเร็วในการรับ-ส่งสินค้า หรือเอกสารก็ตาม มักจะเรียกใช้บริการจากพี่วินทั้งหลาย เพราะทุกคนตระหนักดีว่า ท่ามกลางการจราจรที่คับคั่งในเมืองใหญ่ ยานพาหนะประเภทสองล้อนี้จะสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี แต่มาในยุคนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปข้างหน้า ดูเหมือนว่าบรรดาพี่วินทั่วๆ ไปนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิตอลแล้ว จึงนำมาสู่บริการใหม่ๆ ที่มีการยกระดับความไฮเทคของการขนส่งด้วยยานพาหนะสองล้อนี้ใหม่

 ยกตัวอย่าง Grab Taxi ที่ผุดบริการใหม่ Grab Bike แอพพลิเคชันสำหรับเรียกรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเหมาะสำหรับธุรกิจ e-Commerce ขนาดเล็กที่ต้องการการขนส่งที่รวดเร็ว อัตราค่าบริการคิดตามระยะทาง เริ่มต้นที่ 35 บาท โดยเบื้องต้นจะเปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการก่อน 

 



แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่ามอเตอร์ไซค์อย่างเดียวที่มีโอกาสในธุรกิจส่งด่วน ยุคนี้ความแรงของกระแสจักรยานก็ไม่น้อยหน้า แม้จะไม่ได้ไฮเทคแต่ก็อินเทรนด์แถมตอบโจทย์การรับ-ส่งที่รวดเร็วได้เช่นกัน เช่นเดียวกับ Bikexenger เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบธุรกิจรับ-ส่งของด้วยจักรยานของเมืองไทยเลยทีเดียว

 
ทั้งนี้ มนตรี ฉันทะยิ่งยง ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้บริหาร บริษัท ไบค์เซนเจอร์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เกิดจากการรวมตัวของเพื่อนที่ชอบปั่นจักรยานเหมือนกัน อยากทำอะไรที่จะช่วยรณรงค์การใช้จักรยานและสร้างรายได้ไปด้วย จนเกิดเป็นกิจการเพื่อสังคมในชื่อ Bikexenger และปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นในรูปแบบธุรกิจมากขึ้น โดยโมเดลของ Bikexenger นั้นคือ การรับ-ส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ด้วยจักรยาน โดยจะแบ่งหมวดเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร และเอกสาร สำหรับอาหารนั้น ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาหาจะเป็นอาหารคลีนและออร์แกนิก ส่วนเอกสารจะเป็นในกลุ่มของการทำธุรกรรมต่างๆ 

 



“ปกติเราจะทำงานแบบ Door to Door คือลูกค้าอยู่ที่ไหนเราจะไปรับที่นั้น ถ้าเป็นกลุ่มร้านอาหาร จะเป็นพวกอาหารคลีน ออร์แกนิก โดยเราจะไปรับจากร้านอาหารโดยตรง แต่ก็ต้องดูด้วยว่า ลูกค้าอยู่ในเขต ในเส้นทางที่ต้องไปได้ เพราะเราจะไม่รับงานแบบดาวกระจาย เนื่องจากระยะทางจะค่อนข้างมากไม่สามารถควบคุมได้ นอกเหนือจากอาหารแล้ว ก็จะเป็นการทำธุรกรรม เช่น ซื้อสินค้าจากร้านที่ไม่มีบริการดิลิเวอรี การรับเช็ค รับจองคิวโรงพยาบาล เป็นต้น” 


ทั้งนี้ จุดแข็งของการขนส่งโดยจักรยาน คือ มีความคล่องตัวสูงในการทำงาน สามารถเดินทางได้เร็ว เสมือนคนเดินไปได้ทุกที่ มีความยืดหยุ่นสูง และที่สำคัญมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เนื่องจาก Bikexenger จะมีการบริหารงานเป็นทีม มีโค้ชเป็นตัวบอกว่าใครจะต้องทำอะไร อย่างไร โดยการใช้ข้อมูลที่มีอยู่จากลูกค้า ข้อมูลของเส้นทาง ข้อมูลในการทำงานที่ผ่านมา มาวิเคราะห์ในการทำงานว่า จะทำงานอย่างไรให้ดีและเร็ว รวมถึงรู้ว่าช่วงเวลาไหนต้องทำอะไร หรือต้องเดินทางไปอย่างไร เพื่อให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 



โดยขั้นตอนของการรับงาน หลังจากรับสายของลูกค้าแล้ว จะต้องมีการยืนยันอีกครั้งเป็นตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นทางไลน์ อีเมล หรือเฟซบุ๊ก เพื่อเช็กความถูกต้องของข้อมูล จากนั้นบริษัทจะส่งข้อมูลให้กับนักปั่น โดยจะส่งงานให้กับนักปั่นที่เป็นเบอร์ 1 ก่อน แล้วค่อยเรียงไปตามลำดับ หรือคนที่อยู่ในโซนที่ถูกกำกับไว้ 


แต่อย่างไรก็ดี การรับ-ส่งสินค้าด้วยจักรยานก็มีข้อจำกัด ในเรื่องของจำนวนและปริมาตร ทำให้ต้องเลือกการรับงานที่เหมาะกับการขนส่งประเภทนี้ด้วย 


 


“ถ้ามาเป็นกล่อง 200 กล่อง มอเตอร์ไซค์อาจจะพอรับได้ แต่จักรยานเอาไปส่งไม่ไหวหรอก 200 ที่ เพราะการทำงานของคนคนหนึ่ง ในการส่งพวกสินค้า 30 ที่ถือเป็นเรื่องยากและโอเวอร์โหลดในการทำงานมากๆ แล้ว เพราะต้องคิดค่าเฉลี่ยในการทำงานของแต่ละที่ด้วยว่า อย่างน้อย 1 ชั่วโมงต้องได้ 4 ชิ้น ทำงาน 8 ชั่วโมงเท่ากับ 32 ผมให้ 30 ชิ้น ซึ่ง 30 ชิ้นเขาแทบไม่มีเวลาหายใจ ไม่มีเวลาหยุดแล้ว ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือแบ่งโซนในการทำงานที่ชัดเจน ผมจะรับทำงานเฉพาะในโซนเขตธุรกิจหรือเขตโซนที่ผมชำนาญเท่านั้น เช่น กรุงเทพฯ ชั้นใน ชั้นกลาง แต่ถ้าให้วิ่งไปทั่ว เราไม่รับเพราะเป็นไปไม่ได้”

 


สำหรับอนาคต  Bikexenger อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี เช่น จักรยาน ใช้แรงปั่นอาจไม่พอ ต้องมีใช้ไฟฟ้าเข้ามาช่วยด้วย เพื่อให้การทำงานได้ดีขึ้น และคนปั่นก็เหนื่อยน้อยลง หรืออาจเป็นการเพิ่มสามล้อ เพื่อช่วยในการขนสินค้าได้มากขึ้น ส่วนคู่แข่งขันนั้นปัจจุบันยังไม่มี และเชื่อว่าไม่มีใครกล้าเปิด เพราะนอกจากจะต้องมีเงินแล้วยังต้องบ้าด้วย ซึ่งมนตรีออกตัวชัดเจนว่า เขาคือคนที่พอจะมีเงินและบ้าที่จะทำงานแบบนี้ให้เป็นมืออาชีพ 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน