​The Zalvo Arena ธุรกิจที่เป็นมากกว่าแค่สนามฟุตบอล

 


เรื่อง กองบรรณาธิการ

หากพูดถึงเทรนด์กีฬาที่กำลังมาแรง หนึ่งในนั้นย่อมมีชื่อของฟุตบอลอย่างมิต้องสงสัย นอกจากกระแสความคลั่งไคล้ที่เหล่าแฟนฟุตบอลยกทัพไปเชียร์สโมสรทีมโปรดข้างสนามมากมาย ยังต่อยอดให้เกิดธุรกิจกีฬาใหม่ๆ เพื่อรองรับความนิยมในกีฬาประเภทดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วประเทศ


ดังเช่น ที่จังหวัดหัวเมืองใหญ่ทางภาคอีสานอย่างอุดรธานี ก็มีธุรกิจสนามฟุตบอลหญ้าเทียม The Zalvo Arena ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนในพื้นที่ ช่วยตอกย้ำเทรนด์กีฬาฟุตบอลได้เป็นอย่างดี โดย ศราวุธ คุณปิติลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง The Zalvo Arena เปิดเผยว่า สนามฟุตบอลแห่งนี้เริ่มต้นมาจากความรัก และความสนุกสนานในการเล่นกีฬาฟุตบอลตั้งแต่สมัยเรียนของเขากับเพื่อนๆ จนกระทั่งเรียนจบกลับมาดูแลธุรกิจครอบครัวที่จังหวัดอุดรธานี พบว่าสนามฟุตบอลที่เปิดให้บริการอยู่ในขณะนั้น ยังตอบโจทย์คำว่า ธุรกิจกีฬาได้ไม่เต็มที่นัก ทั้งวัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ครบวงจรอย่างที่ควรจะเป็น จึงได้ริเริ่มสร้างพื้นที่ที่ตอบโจทย์เพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้คนที่รักในการเล่นฟุตบอล

 



“จุดเด่นของสนาม The Zalvo Arena คือ เราได้เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์คุณภาพสูงมาให้บริการในราคาที่เหมาะสม การวางแผนที่ดีที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง เพื่อให้การเล่นเต็มอรรถรสและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกค้า เช่น คุณภาพของหญ้าเทียมที่เราเลือกใช้เป็นหญ้าเทียมคุณภาพสูง ระดับเดียวกับสนามซ้อมฟุตบอลของสโมสรฟุตบอลที่อังกฤษใช้ เป็นต้น ตลอดจนมีการทบทวนและปรับปรุงการทำงาน และการให้บริการลูกค้าอยู่เสมอในทุกๆ สัปดาห์”


จากประสบการณ์ที่เขาเคยใช้บริการสนามฟุตบอลมาหลายแห่ง ศราวุธได้นำมาปรับให้เข้ากับสภาพสังคมและความต้องการของผู้คนในจังหวัดอุดรธานี พร้อมวางแผนการกระตุ้นตลาดโดยใช้ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ สื่อวิทยุ สื่อทีวีท้องถิ่น รวมทั้งการเข้าติดต่อกับกลุ่มองค์กรธุรกิจและหน่วยงานราชการ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ในโรงเรียนต่างๆ หรือการเข้าเป็นผู้สนับสนุนของทีมฟุตบอลประจำจังหวัด เพื่อเข้าถึงประชาชนทั่วไปที่ชอบฟุตบอลในวงกว้างขึ้น 

 



“เราเน้นทำการตลาดเชิงรุก โดยให้ลูกค้าเห็นถึงคุณภาพที่มากกว่า และได้ทำการตลาดครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งประชาชนทั่วไป พนักงานบริษัท กลุ่มองค์กร นักเรียนนักศึกษา และเยาวชนที่สนใจเรียนวิธีการเล่นฟุตบอลอย่างถูกวิธี โดยแต่ละกลุ่มเราจะเลือกใช้วิธีการทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป แต่เน้นว่าเราต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกกลุ่มลูกค้าให้ได้ และทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกว่า สนามนี้เป็นสนามของพวกเขามากกว่าของเรา”


นอกจากนี้ ทางผู้บริหาร The Zalvo Arena ยังมองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มากกว่าแค่ผู้มาใช้บริการสนามฟุตบอล นั่นก็คือ กลุ่มผู้ติดตาม เช่น คนรัก ครอบครัว และเด็กๆ ที่มากับผู้ปกครอง จึงได้ต่อยอดสร้างเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ขนาดย่อมที่พรั่งพร้อมไปด้วยสถานที่อำนวยความสะดวกอย่างร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงห้องน้ำสำหรับสุภาพสตรีไว้คอยให้บริการ และยังขยายธุรกิจด้วยการเปิดเป็นโรงเรียนสอนฟุตบอลอีกด้วย ส่งผลให้ The Zalvo Arena กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนเพื่อสุขภาพแห่งใหม่ที่ได้รับความนิยมจากชาวอุดรธานีทุกเพศทุกวัยอย่างรวดเร็ว

 



สำหรับภาพรวมธุรกิจกีฬา และธุรกิจด้านสุขภาพในจังหวัดอุดรธานี ศราวุธกล่าวว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้วต้องถือว่ามีการขยายตัวอย่างมาก และเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีธุรกิจเกิดขึ้นครบวงจรสุขภาพตั้งแต่ อาหารเพื่อสุขภาพ สิ่งอำนวยความสะดวกในการออกกำลังกายต่างๆ สถานที่ออกกำลังกายทุกรูปแบบ เช่น ฟิตเนส ศูนย์กีฬาทางน้ำ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อตลาดหรือกลุ่มผู้บริโภคมีการขยายตัว ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและการกีฬาก็เกิดขึ้น และเติบโตเพื่อมารองรับเช่นเดียวกัน


ทั้งนี้ ศราวุธยอมรับว่า แม้ในปัจจุบันผู้คนทั้งในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่หัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดต่างหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้นทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยสภาพสังคมที่เป็นสังคมเมืองมากขึ้นในปัจจุบันทำให้กีฬาประเภทปัจเจก หรือกีฬาที่สามารถเล่นคนเดียวขยายตัวได้กว้างกว่ากีฬาประเภททีม เขาจึงต้องปรับตัวโดยใช้กลยุทธ์การต่อยอดพัฒนาธุรกิจด้วยการขยายสนามฟุตบอลเพิ่มขึ้น และชูจุดเด่นเน้นฟังก์ชันการใช้งานที่ใช้วัสดุพรีเมียมคุณภาพดี พร้อมทั้งเตรียมหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ เช่น แบรนด์ผู้ผลิตชุดกีฬาเพื่อผลิตสินค้าให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการที่สนามโดยเฉพาะ

    


“เรามั่นใจว่าที่ผ่านมาและในขณะนี้เรากำลังนำเสนอสนามฟุตบอลที่ดีกว่าสนามที่กลุ่มลูกค้าเคยใช้บริการ ผมจะใช้หลักการเปรียบตัวเองเป็นลูกค้า ตั้งแต่ลูกค้าคิดอยากเล่นฟุตบอล ลูกค้าจะต้องเจออะไรและต้องการอะไรบ้าง จากนั้นผมจะตอบโจทย์นั้นๆ ให้มากกว่าที่ลูกค้าต้องการอยู่เสมอ และที่สำคัญ เราทำการสำรวจตลาดไม่ใช่เพียงครั้งเดียวก่อนทำธุรกิจ หากแต่เราสำรวจความต้องการ สำรวจความรู้สึก และสำรวจอารมณ์ของตลาด และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดให้ได้นั่นเอง”


ในอนาคตศราวุธหวังว่า กระแสรักสุขภาพและการออกกำลังกายที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจะยังคงอยู่และมีแนวโน้มมากขึ้น เพราะเยาวชนในปัจจุบันที่ได้รับการปลูกฝังการออกกำลังกายก็จะกลายเป็นตลาดหลักในอนาคตให้บรรดาธุรกิจกีฬาประเภทต่างๆ ต้องแย่งชิงส่วนแบ่งระหว่างกัน ซึ่งสำหรับจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงนั้น เขามั่นใจว่าจะได้เห็นธุรกิจกีฬาและธุรกิจสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมายแน่นอน

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน