“สารสกัดหญ้าหวาน” อีกทางเลือกธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม


    
 


เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย


    ด้วยกระแสคนรักสุขภาพที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้นักธุรกิจสมองใสส่วนใหญ่หันมาสนอง Need ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเภทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เช่นเดียวกับที่ สุรวุฒิ วิทยาปัญญานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนฟู้ดส์ เอเชีย จำกัด มองเห็นช่องว่างดังกล่าว จึงได้มีความพยายามในการผลักดันสารสกัดจาก “หญ้าหวาน” เพื่อนำไปใช้เป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีสรรพคุณสวนทางกับน้ำตาลอย่างสิ้นเชิง

    สุรวุฒิ เล่าว่าจริงๆ แล้วหญ้าหวานมีการปลูกในไทยมายาวนานร่วม 30 ปีแล้ว ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของชาสมุนไพร คนทั่วไปจะรับประทานเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวานและควบคุมน้ำหนัก แต่สิ่งที่ผมเห็นตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว คือเทรนด์ของสารสกัดหญ้าหวาน ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้บริษัทของเราทำแตกต่างจากคนอื่นๆ โดยการนำหญ้าหวานมาสกัดให้อยู่ในรูปของผงและใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งผมยังคงคอนเซ็ปต์เพื่อสุขภาพไว้เหมือนเดิม จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์

 


    โดยสารสกัดหญ้าหวานจะให้พลังงานอยู่ที่ 0 กิโลแคลอรี ดังนั้น เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยหลีกเลี่ยงจากโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้ แต่ทว่าความนิยมในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารในบ้านเรากลับยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากว่าองค์การอาหารและยาเพิ่งจะยอมรับให้สามารถนำสารสกัดหญ้าหวานไปใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมานี่เอง

    นับว่าสวนทางกับตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแดนอาทิตย์อุทัยอย่างญี่ปุ่นที่มีการนำสารสกัดหญ้าหวานไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารมานานนับ 30 ปี หรือแม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็นำหญ้าหวานมาใช้แทนน้ำตาลเช่นกัน ดังจะเห็นได้ชัดเจนในแบรนด์น้ำดำสองค่ายยักษ์ใหญ่ที่เลิกใช้แอสปาร์แตมหรือวัตถุเจือปนที่เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ จะเป็นผลให้สารเหล่านั้นสะสมอยู่ในร่างกายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 
 



    “หลังจาก อย.รับรองในตัวสารสกัดหญ้าหวานแล้ว ผมเชื่อว่าในอนาคตตลาดเครื่องดื่มและอาหารของเราจะมีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ซึ่งในช่วงนี้เองที่หญ้าหวานเพิ่งจะเป็นที่รู้จักและตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพได้อย่างตรงจุด จึงถือว่าเป็นนาทีทองของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่จะนำไปทดลองใช้ เพื่อชูให้เป็นจุดเด่นและสร้างความต่างจากคู่แข่ง โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาผมก็พยายามที่จะวิ่งเข้าหาลูกค้าบ้างแล้ว ทั้งในกรุงเทพฯ ก็ดี หรือตามต่างจังหวัดก็ดี ซึ่งผลตอบรับที่ได้ ก็มีทั้งธุรกิจกาแฟ ขนมหวานและเบเกอรี ที่ให้ความสนใจและนำไปใช้ โดยแบ่งสัดส่วนผู้ที่สนใจเป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มธุรกิจอาหาร 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในช่วงต้นปีหน้า ผู้บริโภคน่าจะมีโอกาสได้เห็นเครื่องดื่มหรือขนมที่ใช้หญ้าหวานเป็นวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น”

 


    แต่ทว่าการใช้หญ้าหวานเพื่อทดแทนน้ำตาลนั้น ใช่ว่าผู้ประกอบการที่สนใจจะสามารถนำไปใช้ได้ในทันที เพราะด้วยสรรพคุณของสารสกัดหญ้าหวานที่สามารถทดแทนความหวานของน้ำตาลได้ถึง 300 เท่า ดังนั้น จึงมีผลต่อการปรับสูตรของสินค้าเดิม ซึ่งสุรวุฒิก็ไม่เคยมองข้ามถึงความยุ่งยากตรงนั้น หนำซ้ำกลับมอบความใส่ใจและลงมือร่วมปรับสูตรกับผู้ประกอบการด้วย 

    “ผมมีความเข้าใจในระบบของอุตสาหกรรม ที่มีทั้งโรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ถ้าหากว่าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ กำลังการผลิตของเขาจะมีมากกว่า ดังนั้น ผมจะใช้สารสกัดหญ้าหวานแบบดั้งเดิมที่หวานกว่าน้ำตาลถึง 300 เท่า  หรือกล่าวได้ว่าจากเดิมผู้ประกอบการใช้น้ำตาลปรุงรสชาติที่ 300 กิโลกรัม แต่ถ้าหากเป็นสารสกัดหญ้าหวานจะใช้เพียงแค่ 1 กิโลกรัมเท่านั้น 
 



    แน่นอนว่าในส่วนนี้จะสามารถ Save Cost ให้แก่โรงงานขนาดใหญ่ได้มากโข แต่ในทางกลับกันถ้าเราใช้สูตรดั้งเดิมร่วมกับโรงงานขนาดเล็กจะส่งผลให้การปรับสูตรเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะการผลิตต่อครั้งของ SME เต็มที่ก็ใช้ถังต้มที่ขนาด 10-20 ลิตรเท่านั้น ผมจึงปรับสูตรสารสกัดหญ้าหวานให้มีความหวานเจือจางลงมาเหลือเพียง 10 เท่า โดยผสมใยอาหารอินซูลินเข้าไป ซึ่งจะยังคงความเป็นธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นเดิม ดังนั้น การปรุงสูตรของ SME จะง่ายขึ้น ถ้าจากเดิมใช้น้ำตาล 15 กิโลกรัม ก็จะใช้สารสกัดจากหญ้าหวานแค่ 1.5 กิโลกรัมเท่านั้น”

    ทั้งนี้ สำหรับกลุ่ม SME ที่ยังไม่แน่ใจในตัวสินค้า สุรวุฒิก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมาขอตัวอย่างไปลองเทสต์ดูก่อนได้ หรืออาจจะหาซื้อชนิดขายปลีกตามร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพทั่วไป ส่วนพื้นที่ในต่างจังหวัดก็มีตัวแทนมารับไปจำหน่ายเรียกได้ว่าสารสกัดหญ้าหวานจะมีให้เห็นครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม SME ก็ควรระวังสินค้าที่ลอกเลียนแบบหรือหญ้าหวานที่นำเข้ามาจากที่อื่น เพราะอาจจะไม่ได้มาตรฐานและทำให้มีผลเสียต่อผู้บริโภคได้
 



    “เนื่องด้วยมาตรฐานการผลิตของบริษัทเราจะปลอดภัยตั้งแต่กระบวนการปลูก ไม่ว่าจะเป็นไร่ปลูกส่วนตัวหรือการมีคอนแท็กฟาร์มร่วมกับเกษตรกรที่เชื่อถือได้ รวมไปถึงขั้นตอนการแปรรูปเรายังได้ส่งไปสกัดถึงประเทศเกาหลี เพราะว่าโนว์ฮาวของเขาพร้อมกว่า หลังจากนั้นจึงส่งกลับมาแพ็กที่ไทยอีกครั้ง ดังนั้น ทั่วทั้งประเทศไทยผมจึงถือเป็นเจ้าแรกที่หญ้าหวานได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ซึ่งผมกล้าการันตีถึงความสะอาดของสินค้า เช่นนั้นแล้วคู่แข่งทางตรงของผมจึงตัดออกไปได้เลย ส่วนมากจะเป็นคู่แข่งทางอ้อมเสียมากกว่า เช่น ผู้ที่สั่งนำเข้าจากประเทศจีน แต่ให้ระวังสินค้าประเภทนี้ไว้ให้ดี เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสินค้าจากจีนนั้นจะมีราคาที่ค่อนข้างถูก แต่คุณภาพนั้นไม่สามารถเทียบกับประเทศไทยได้แม้แต่นิดเดียว” 

    ในท้ายที่สุดนี้ สุรวุฒิยังได้ฝากถึงผู้ประกอบการ SME ในไทยด้วยว่า อย่างไรเสียในปี 2558 เขามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า สารสกัดหญ้าหวานจะเป็นกระแสที่ผู้ประกอบการต่างต้องวิ่งตามอย่างแน่นอน ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่อยากตกเทรนด์หรือก้าวช้ากว่าคู่แข่งก็ควรเริ่มเข้ามาศึกษาผลิตภัณฑ์ตัวนี้กันได้แล้ว
 
 


รูปแบบการขาย

บริษัทจะแบ่งการขายออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ 

-    ขายปลีก แก่ผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจ หรือผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความประสงค์จะทดลองก่อนใช้จริง
-    กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็ก จะมีขั้นต่ำในการสั่งซื้อหญ้าหวานสูตรเจือจาง 10 เท่า อยู่ที่ 1 กิโลกรัม 
-    กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะมีขั้นต่ำในการสั่งซื้อหญ้าหวานสูตร 300 เท่า อยู่ที่ 5 กิโลกรัม 

    ระบบการจัดส่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ตาม ทางบริษัท กรีนฟู้ดส์ เอเชีย จำกัด จะอำนวยความสะดวกด้วยการส่งสินค้าให้ถึงที่ เพราะทีมงานฝ่ายขายของบริษัทนั้นมีครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศไทย ดังนั้นเรื่องการเข้าถึงลูกค้าจึงไม่เป็นปัญหายุ่งยากแม้แต่นิดเดียว

สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติม
เว็บไซต์ : www.yawangreensweet.com
โทร. : 0-2865-9700 
         

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)



RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล