ธุรกิจผ้าพันคอ ต่อยอดความฝันของสาวผู้รักการดีไซน์





เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา 
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย


    
    หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาล เพราะป่วยหนักจากความเครียดเป็นเหตุ ทำให้ วิภาวี อังศุวัชรากร หรือ มิน คิดที่จะเดินตามความฝันของตัวเองให้เร็วขึ้น ด้วยความที่เธอหลงใหลในการดีไซน์เครื่องประดับเป็นทุนเดิม ก็เริ่มหันมาสนใจอยากที่จะออกแบบผ้าพันคอและก้าวเข้าสู่ตลาดผ้าพันคออย่างจริงจัง เราจึงมีภารกิจสำคัญที่จะพาสาวมิน มาพบกับ อสมา ดำเกิงสุรเดช หรือ ฟาน เจ้าของแบรนด์ผ้าพันคอสุดเก๋ สีสันสดใส ASAMA Scarf ที่มีหน้าร้านอยู่ในห้างหรูอย่าง Terminal 21 ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก และการพบกันในครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะช่วยทำให้ความฝันของสาวที่รักในการออกแบบคนนี้เป็นจริงได้ในไม่ช้า 




มิน

“มินเรียนจบสถาปัตย์ ด้าน Fashion Textiles มา มินมองว่าทุกอย่างที่ตกแต่งร่างกายเรามันไม่จำเป็นต้องเป็นผ้าอย่างเดียว หลังจากนั้นเลยเริ่มมาจับงานทางจิวเวลรี่ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ส่วนตัวมินชอบเรื่องของการดีไซน์อยู่แล้วเลยเริ่มสนใจผ้าพันคอ เพราะเป็นเรื่องของการตกแต่งร่างกายเหมือนกัน มินเคยออกแบบผ้าพันคอมาแล้วหนึ่งล็อต ก็มีลูกค้าให้ความสนใจอย่างดี แต่มินเองไม่มีความรู้ด้านการตลาดเลย อยากจะมาขอความรู้จากพี่ฟานค่ะ”
 

ฟาน 

“ก่อนหน้าที่ฟานจะมาทำธุรกิจผ้าพันคอ ฟานทำธุรกิจเกี่ยวกับนมถั่วเหลืองขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต และมีร้านเสื้อผ้าเกาหลีขายใน Facebook ส่วนผ้าพันคอมันเริ่มมาจากแฟนของฟานชอบ แล้วเราก็เลยอยากลองทำดู มีน้องที่รู้จักเขาเป็นดีไซเนอร์ด้วย ทุกอย่างมันเริ่มมาจากความชอบ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของผ้าพันคอแบรนด์ ASAMA Scarf ค่ะ”
.

รบกวนพี่ฟานเล่าเรื่องตอนเริ่มต้นของ ASAMA Scarf ให้ฟังหน่อยค่ะ

    มันเริ่มต้นมาจากแฟนพี่ชอบผ้าพันคอ แล้วส่วนตัวเราก็ขายของออนไลน์อยู่แล้วเป็นเสื้อผ้าเกาหลี เลยอยากลองทำผ้าพันคอดู ใช้ฐานลูกค้าในเพจเสื้อผ้าเกาหลีก่อน แต่ล็อตแรกทำออกมาไม่เยอะ หลักสิบผืนไม่ถึงร้อย ซึ่งเราได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าหลังจากนั้นเลยไปเปิดเพจแยกออกมา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำธุรกิจผ้าพันคออย่างจริงจังโดยมีน้องที่รู้จักดูเรื่องดีไซน์ให้ 
 


หลังจากนั้นพี่ฟานได้ขายผ่าน Facebook อย่างเดียวหรือว่ามีหน้าร้านด้วยค่ะ

    พอเราเริ่มขายใน Facebook ได้ประมาณครึ่งปี ก็เริ่มมีการออกบู๊ธตามงานต่างๆ เช่น งาน BIG & BIH ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หลังจากนั้นก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าและมีห้างมาเชิญให้ไปตั้งเป็นป๊อปอัพ บู๊ธ พอประมาณ 1 ปีก็เลยมีหน้าร้านเป็นของตัวเองหลังจากที่ขายออนไลน์และออกงานมาตลอด 





ด้านการผลิตพี่ฟานทำอย่างไร

    ตอนแรกที่ทำก็เริ่มจากการเดินหาผ้าเองก่อน หลังจากนั้นพอได้ผ้าที่ถูกใจก็ติดต่อหาโรงงานแล้วก็ให้เขาผลิต ซึ่งการผลิตผ้าพันคอมันจะใช้การผลิตแบบดิจิตอล พรินต์ โดยเราต้องพรินต์ลายใส่กระดาษก่อน พอเอามาทาบกับผ้าด้วยความร้อนมันก็จะออกมาเป็นลาย ตอนแรกที่ทำไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย มีปัญหาบ้าง พรินต์ไม่ติดบ้าง แต่หลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือนก็เริ่มอยู่ตัวแล้วพอ 1 ปีหลังจากนั้นเราก็เริ่มผลิตเอง




ทำไมถึงตัดสินใจเริ่มผลิตเอง

    เราได้มีพาร์ตเนอร์ที่เขามีเครื่องจักร เลยตัดสินใจที่จะทำงานร่วมกัน เขาดูแลในส่วนของการผลิต แล้วเราก็รับงานที่ผลิตสินค้าให้ลูกค้าด้วย เช่น บางบริษัทมาติดต่อให้ทำผ้าพันคอแบรนด์ของเรา แต่ว่าเป็นลายที่สื่อถึงสินค้าของเขาเพื่อเอาไปแจกให้กับลูกค้าในวันปีใหม่ หรือเป็นสินค้าพรีเมียมอย่างห้างก็มาติดต่อเพื่อเป็นสินค้าแจกช่วงโปรโมชั่น





เอกลักษณ์ผ้าพันคอของ ASAMA Scarf เป็นอย่างไร 

    ASAMA Scarf จะมีคอนเซ็ปต์ที่สามารถให้ผ้าพันคอเป็นของขวัญได้ ลูกค้าก็จะมาซื้อเพื่อเป็นของขวัญ หรือบริษัทติดต่อเพื่อเอาไปเป็นสินค้าพรีเมียม โดยเราจะมี Theme ในแต่ละคอลเลกชั่น เช่น Congratulations, Bon voyage โดยจะมีน้องที่ช่วยในเรื่องของการดีไซน์และเราก็จะดูว่าลายเส้น สี เนื้อผ้าเป็นอย่างไร ตัวเราชอบไหม ถ้าชอบก็คิดว่ามันน่าจะไปได้ ส่วนในแต่ละลายเราจะทำออกมาหลายไซส์ หลายสี เพื่อให้ลูกค้าเลือกได้ เพราะผ้าพันคอลายเดียวกันแต่สีต่างกันก็ดูเหมือนว่าเป็นคนละลายแล้ว 





ส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าผ้าพันคอ ASAMA Scarf จะเป็นลูกค้ากลุ่มไหน

    ตอนแรกที่ตั้งไว้คือกลุ่มลูกค้าออนไลน์ เพราะเริ่มขายผ่าน Facebook แต่พอเราเริ่มออกงานก็เห็นว่ากลุ่มลูกค้าที่สนใจแบรนด์เราจริงๆ จะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ วัยทำงาน แล้วก็ชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นเอเชีย พอเรามีลูกค้าชาวต่างชาติมากขึ้นเลยต้องทำเว็บไซต์ให้เป็นทางการ เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะไม่ซื้อของผ่าน Facebook 




พี่ฟานมีการทำเว็บไซต์อย่างไรค่ะ

    สำหรับเว็บไซต์ก็จะจ้างบริษัทที่มีความเป็นมืออาชีพดูแล เพื่อให้เว็บไซต์เราเป็นทางการและสามารถซื้อ-ขายผ่านเว็บไซต์ได้เลย โดยมีระบบ PayPal จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าชาวต่างชาติมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญของการทำเว็บไซต์ คือ การใช้รูปถ่าย เราจะต้องมีรูปถ่ายตัวสินค้าทั้ง Close-up รูปนางแบบที่ใช้งานจริง เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นภาพว่าใช้ออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ยังต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วน ชัดเจน ทั้งเนื้อผ้า ไซส์ ราคา สี เพราะลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่จะสั่งออนไลน์ ซึ่งการที่ไม่ได้เห็นของก่อน เราต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกค้ามากพอที่จะสั่งของเรา 




ถ้ามี Facebook อย่างเดียวไม่เพียงพอใช่ไหมค่ะ

    ถ้าเราคิดว่าจะทำธุรกิจอย่างจริงจัง มีการซื้อ-ขายกับลูกค้าต่างประเทศ การมีเว็บไซต์จะทำให้เราได้เปรียบและมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการมีแค่ Facebook นอกจากนี้ เว็บไซต์จะมีระบบที่เป็นทางการมากกว่า แต่การมี Facebook ก็สำคัญ เพราะลูกค้าคนไทยจะนิยมใช้ Facebook ในการซื้อของ ดังนั้น การมีทั้งสองอย่างควบคู่กันไปจะดีที่สุด 




ความยากและท้าทายของการทำผ้าพันคอ

    ตอนแรกที่เปิดเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ตอนนั้นตลาดผ้าพันคอยังไม่ใหญ่มาก รวมทั้งเราเริ่มต้นมาจากความชอบ ดังนั้น จึงคิดว่าค่อนข้างง่าย แต่ในปัจจุบัน ตลาดมันใหญ่ขึ้น มีคนเข้ามาทำธุรกิจในตลาดผ้าพันคอมากขึ้น ทำให้มีเรื่องของการแข่งขัน เราจึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและต้องออกแบบลายใหม่ๆ อยู่เสมอ

    อย่างที่บอกไว้คือ มินเคยลองออกแบบและขายผ้าพันคอมาแล้วหนึ่งล็อต เลยอยากที่จะเริ่มต้นทำอย่างจริงจัง สำหรับผ้าพันคอของมินนั้น อยากดีไซน์และใส่เรื่องราวเข้าไปด้วย ใส่กิมมิก มีพู่ นอกจากนี้ ยังอยากให้มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยลงไปในผ้าพันคอของมินด้วยค่ะ 




    สำหรับไอเดียของมินก็เป็นไอเดียดีที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า แต่สำหรับระยะยาว อาจจะต้องคอยเปลี่ยนเรื่อยๆ อาจมีลายที่คลาสสิกและสามารถขายได้ตลอด นอกจากนี้ การที่จะเริ่ม เราต้องคำนึงถึงกลุ่มของลูกค้าว่าเราจะขายใคร กลุ่มลูกค้าเราเขาชอบแบบไหน ถึงแม้ว่าในตอนนี้ตลาดมันจะใหญ่ มีคนทำมากขึ้น แต่หากว่าสินค้าของเรามีเอกลักษณ์ มีคุณภาพและสามารถจับกลุ่มลูกค้าได้ตรงจุดจะทำให้สินค้าของเราสามารถขายได้อย่างแน่นอน 


ขอขอบคุณ 
คุณอสมา ดำเกิงสุรเดช
ASAMA Scarf
http://asamadesign.com


หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจที่จะหาคนปรึกษาเกี่ยวกับการทำธุรกิจของท่าน สามารถส่งข้อมูลของท่านพร้อมแจ้งรายชื่อกูรูที่ท่านอยากพบ (ถ้ามี) มาได้ที่ sme_thailand@yahoo.com เรายินดีช่วยท่านติดต่อประสานงานให้อย่างสุดความสามารถ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ