Three Brothers Barber Shop สูตรผสมที่ลงตัวไม่เหมือนใคร




เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย



    ร้านตัดผม เป็นอีกหนึ่งร้านที่ทุกคนต้องแวะเวียนกันเข้าไปใช้บริการกันอยู่เสมอ ทุกวันนี้เราเลยได้เห็นร้านตัดผมกันแทบจะทุกหัวมุมถนน แต่อะไรที่ทำให้ร้านตัดผมชายธรรมดามีความโดดเด่น หนุ่มๆ หลายคนก็ใคร่ลองเข้าไปใช้บริการกันอย่างมากมายที่ร้านตัดผมชาย “Three Brothers Barber Shop” 

    ร้านตัดผมชาย Three Brothers มีคอนเซ็ปต์ที่เรียบตรงตามชื่อ คือเป็นร้านตัดผมของสามหนุ่มที่นับถือกันเป็นพี่น้องอย่าง “โอกุ้ย” อุดมเกียรติ ธงรัตนะ “คิว” สุมานชัย มานะชนม์ และ “แบงค์” อภิสิทธิ์ เชาวฉัตร ที่มารวมตัวกันเพราะสิ่งที่เหมือนกันคือ ความรักในการตัดผม 

    โอกุ้ยพูดถึงตอนเริ่มตัดผมว่า “ผมเริ่มตัดผมตั้งแต่ประมาณ ม.2 หัวแรกในชีวิตคือเพื่อน ด้วยความที่เราชอบแต่งตัว ชอบวงดนตรีร็อก เราเห็นจากในทีวีเลยเอามาลองตัดตาม ลองผิดลองถูก ทำให้เริ่มตัดผมมาตั้งแต่ตอนนั้น” ส่วนแบงค์ชายหนุ่มอีกหนึ่งคนบอกว่า “ที่บ้านเป็นร้านตัดผม พ่อผมให้ช่วยตัดตอนผมอายุประมาณ 12 ปี ก็เริ่มตัดมาเรื่อยๆ จนครูรู้ว่าเราเป็นช่างตัดผม เราเลยได้เป็นช่างตัดผมที่คอยแก้ทรงเวลานักเรียนโดนกล้อนผมทุกเดือน” 



    ด้วยจุดเริ่มต้นในการตัดผมเล็กๆ จนกลายมาเป็นความชอบ ความหลงใหลในเส้นผม แต่ด้วยเส้นทางที่ต่างกันก่อนที่จะมาเป็น Three Brothers ทำให้ทั้งสามคนต่างเก็บสะสมประสบการณ์ในชีวิตจนมีฝีไม้ลายมือในการตัดผมที่น่าจดจำ

    คิวเล่าถึงก่อนจะมารวมตัวกันว่า “เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วผมทำงานที่เดียวกับแบงค์ เป็นร้านตัดผมแถวสยาม วันหนึ่งเจอพี่โอกุ้ย เขามาตัดผมที่ร้าน เราจำเขาได้เพราะเขาเคยลงนิตยสาร แต่งตัวเท่และเห็นเขาตัดผมอยู่ หลังจากวันนั้นเราเลยเดินตามหาเขาแถวสยามที่เขาตัดผมเพราะอยากรู้จัก” 

    ส่วนโอกุ้ยเล่าอีกมุมหนึ่งว่า “ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมเรียนตัดผม และเขาจะมีให้ตัดผมฟรีตามชุมชน ผมได้ไปตัดที่ย่านหัวลำโพง ช่วงนั้นเลยมาหาเพื่อนที่สยามแทบทุกวัน ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจตัด แต่พอมาถึงร้านขายเสื้อผ้าเพื่อน เพื่อนเลยอยากให้เราลองฝีมือ เลยเอาเก้าอี้มาตั้งหน้าร้านและตัดผมให้เพื่อน จนมีคนผ่านไปมาสนใจ บางทีก็มีฝรั่งมาให้ตัด จนมาเจอกับคิวและแบงค์ เริ่มรู้จักกัน” 




    หลังจากนั้นทั้งสามคนซึ่งมีความต้องการที่ตรงกันคือ อยากมีร้านตัดผมเป็นของตัวเอง จนทำให้กลายมาเป็นร้าน Three Brothers จนถึงปัจจุบัน ที่มีลูกค้าทั้งหนุ่มไทยและต่างชาติเข้ามาใช้บริการกันอย่างไม่ขาดสาย ด้วยเอกลักษณ์การตัดผมที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง ไม่ซ้ำใคร นอกจากนี้ จุดเด่นอีกอย่างคือการรับลูกค้าจำกัดเพียง 7 คนต่อช่าง 1 คนต่อวัน ลูกค้าจึงต้องโทรศัพท์มาจองก่อนที่จะเข้ามาตัดผมที่ร้าน โดยราคาจะอยู่ที่ 450 บาท

    “ที่ร้านเราใช้ระบบนี้ เพราะว่าผมคิดถึงคนที่ยืนตัดผมอยู่ข้างๆ ว่า แต่ละวันเขาต้องได้รับเงินเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอในการเลี้ยงครอบครัวและไม่เหนื่อยเกินไป เราอยากให้เขาเป็นเพื่อนเราไม่ใช่ลูกจ้าง มีรุ่นพี่คนหนึ่งเคยพูดกับผมว่า อย่าเป็นปลาใหญ่ที่กินปลาเล็ก แต่เป็นปลาไซส์กลางๆ ที่มีเพื่อนฝูงเยอะๆ จะสนุกกว่า” โอกุ้ยพูดถึงระบบที่เป็นเอกลักษณ์ของร้าน  




    นอกจากนี้ ระบบที่จำกัดลูกค้าเป็นระบบที่ทำให้ช่างตัดผมของร้านทั้งสามคนมีเวลาใกล้ชิด และได้พูดคุยกับลูกค้าของพวกเขาถึงรสนิยม และความชื่นชอบที่ตรงกัน จนกลายมาเป็นเพื่อนกันในที่สุด 

    โอกุ้ยพูดถึงความสุขหนึ่งชั่วโมงในการตัดผมว่า “สิ่งที่ทำให้ผมรักการตัดผมคือ ปกติผมเป็นคนคิดมาก แต่การตัดผมทำให้เราคิดน้อยลง ได้อยู่กับเส้นผม เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงที่มีแค่เรื่องของเรากับลูกค้า เป็นหนึ่งชั่วโมงที่ได้ปลดปล่อย ส่วนลูกค้าจะได้แรงบันดาลใจจากเรา ได้ฟังเรื่องราวของเราที่ทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ ได้คุยเรื่องรถ เรื่องที่ชอบเหมือนกัน” 

    สำหรับจุดเด่นของร้านที่นอกจากจะมีระบบที่ต้องจองคิวล่วงหน้า นั่นคือสไตล์การตัดผมที่หลายคนนิยามว่า เป็นทรงวินเทจ ทรงร็อก แต่ความจริงแล้ว Three Brothers บอกว่า ร้านของพวกเขาเป็นแค่ร้านตัดผมชายธรรมดาเท่านั้นเอง 




    “ไม่อยากให้ใครนิยามว่า ร้านเราเป็นร้านสไตล์วินเทจหรืออะไรก็ตาม เราเป็นแค่ร้านตัดผมชาย สามารถตัดได้ทุกทรง ความจริงเคล็ดลับหรือหัวใจในการตัดผมคือ ความว่างเปล่า ถ้าเรามุ่งไปทางใดทางหนึ่ง สุดท้ายโลกเปลี่ยน แฟชั่นเปลี่ยน เราก็ตาย แต่ถ้าเราเรียบง่ายที่สุด ว่างเปล่าที่สุด เราจะอยู่ได้นานที่สุดแบบข้ามยุคข้ามสมัย ผมมองว่า ผู้ชายคนหนึ่งจะมีทรงผมแปลกๆ ไปเพื่ออะไร ดีกว่าไหมถ้าหากทรงผมตอนอายุ 20 กับตอน 50 มาเทียบกัน ทรงเดียวกันแล้วยังคงเท่อยู่”

    ด้วยหลักการเริ่มต้นธุรกิจจากความรักจึงทำให้ร้านตัดผมของทั้งสามหนุ่มมีความแข็งแรง และสามารถยืนอยู่ในตลาดร้านตัดผมที่มีการแข่งขันสูงในขณะนี้ อีกทั้งด้วยสไตล์ที่ชัดเจน มีการสร้างความผูกพันกับลูกค้าอย่างเหนียวแน่น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ Three Brothers เป็นร้านตัดผมชายอันดับต้นๆ ที่ชายไทยให้การสนับสนุน 




    “ตอนแรกคนรู้จักร้านเพราะเพื่อนเริ่มมาตัด จากนั้นเป็นการบอกกันปากต่อปาก ผมว่าเป็นการตลาดที่แข็งแรงที่สุด ตอนแรกที่เริ่มทำร้าน ผมแอนตี้พวกโซเชียลมาก เรื่องเงินก็เหมือนกัน แต่สุดท้ายเราต้องยอมรับว่า เราอยู่ได้เพราะพวกนี้จริงๆ เคยเถียงกับเพื่อนว่า ศิลปะกับการตลาดอะไรสำคัญกว่า แล้วเราก็พบว่ามันต้องมีคนละครึ่ง เราต้องยอมให้บางอย่างกลืนกินเราบ้าง”

    สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ Three Brothers คือการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เป็นช่างตัดผมก็เป็นช่างที่ตัดในสไตล์เราให้ดีที่สุด สุดท้ายจะมีลูกค้าเข้ามาเอง และเป็นลูกค้าที่สไตล์เดียวกัน ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเยอะแต่ต้องเป็นลูกค้าที่ดี นอกจากนี้ ความรักในสิ่งที่ทำก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียวแต่ต้องผ่านการบ่มเพาะ การผ่านสิ่งต่างๆ มามากมาย 




    “ผมไม่อยากให้เด็กสมัยใหม่คิดว่า การตัดผมเป็นเรื่องง่าย ไม่ง่ายเลยถ้าเราไม่ได้รัก บางคนถามผมว่า อยากเป็นแบบผมต้องทำอย่างไร บางคนเริ่มจากสัก เริ่มจากไว้หนวด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ขอทุกคนทำสิ่งที่ตัวเองชอบให้ดีที่สุด เพียงเท่านี้ก็เท่แล้ว” 

    จากจุดเริ่มต้นด้วยความรักในการตัดผมที่มีเหมือนกัน และด้วยสไตล์ที่ตรงกัน ทำให้ Three Brothers เป็นร้านตัดผมที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศของความเป็นกันเอง ร้านแห่งนี้จึงเป็นร้านตัดผมที่ไม่ใช่มีไว้แค่ตัดผม แต่ยังเป็นสถานที่เอาไว้ให้คนคอเดียวกัน มานั่งคุยกันพร้อมทั้งได้ทรงผมสุดเนี้ยบกลับบ้านอีกด้วย 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)
    

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว