หากเอ่ยถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งเนื้อเยื่อกล้วยไม้และต้นอ่อนกล้วยไม้ในขวดแก้วเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศนั้น โดยทั่วๆ ไปจะเป็นลักษณะของการบรรจุในกล่องที่มีโฟมเป็นตัวกันกระแทก พร้อมถูกลำเลียงโดยทางเครื่องบินเป็นหลัก เนื่องจากต้องการความรวดเร็วในการขนส่งเพื่อป้องกันความเสียหาย แต่ในแง่ของลูกค้าแล้ว กลับต้องแบกรับกับต้นทุนที่ค่อนข้างสูงจากรูปแบบดังกล่าว
จากจุดนี้เองที่ทำให้ ห้างหุ้นส่วน ประยูร ออคิดส์ บริษัทผลิตเนื้อเยื่อกล้วยไม้เมืองหนาวเพื่อการส่งออก พยายามคิดหาทางออกเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า และกลายเป็นที่มาของการสร้างสรรค์นวัตกรรมการบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งต้นอ่อนกล้วยไม้ในขวดแก้วทางเรือขึ้นมา จนทำให้สามารถลดต้นทุนการขนส่งให้กับลูกค้าได้กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ และชื่อของประยูร ออคิดส์ จึงถูกเลือกให้ได้รับรางวัลโดดเด่นด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ นั่นเอง
ประยูร พลอยพรหมมาศ ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประยูร ออคิดส์ เล่าว่า จากแนวคิดที่ต้องการจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการขนส่งทางอากาศที่สูงมากให้กับลูกค้า จึงเริ่มมองหาทางเลือกในการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า และการขนส่งทางเรือ ถือว่าตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะด้วยราคาที่ต่ำกว่าการขนส่งทางเครื่องบิน 1.5-3 เท่า
พร้อมกันนั้นประยูรจึงต้องมองหาวัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งทางเรือที่สามารถป้องกันการกระแทกจากการขนส่ง และมีขนาดที่ไม่หนามากเพื่อเพิ่มพื้นที่การขนส่ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้โฟมอีกต่อไป คำตอบที่เขาได้คือการใช้กระดาษลูกฟูกที่มีขนาดบางกว่าทดแทนการใช้โฟม จึงทำให้มีพื้นที่ว่างในกล่องเพิ่มขึ้น สามารถบรรจุขวดกล้วยไม้ได้มากขึ้น
และที่สำคัญกว่านั้น คืออย่างที่ทราบกันดีว่า โฟมเป็นวัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษและในการกำจัดที่ต้องใช้เวลานาน ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าในหลายประเทศ การนำเข้าในหลายๆ ครั้งต้องเสียภาษีในจำนวนที่สูงกว่า ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนมาเป็นการใช้กระดาษแทนสำหรับเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง นับว่าตอบโจทย์ความต้องการของการค้ายุคใหม่และช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้าได้อย่างมากเลยทีเดียว
“เดิมเราจะบรรจุต้นอ่อนกล้วยไม้ในขวดส่งขึ้นเครื่องบิน โดยขวดจะบรรจุในกล่องกระดาษ ซึ่งอัดโฟมอีกทีเพื่อป้องกันการกระแทก ไม่ให้ขวดแตก จากที่บรรจุขวดแก้วในกล่องอัดด้วยโฟมก็ลองเปลี่ยนมาใช้กระดาษลูกฟูแทน ทำให้มีพื้นที่เหลือบรรจุขวดแก้วได้มากกว่าเดิม จากเดิม 1 กล่อง บรรจุ 20 ขวด สามารถบรรจุได้เพิ่มเป็น 24 ขวด ช่วยทำให้ลูกค้าประหยัดเพิ่มขึ้น เพราะการขนส่งลูกค้าเป็นคนรับภาระ แล้วไม่มีปัญหาทางมลพิษ กระดาษลูกฟูกก็สามารถเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อได้อีก”
ทั้งนี้จากความสำเร็จในการพยายามลดต้นทุนให้กับลูกค้า ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาเป็นทางเรือ พร้อมๆ ทั้งปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่นี้ ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถทำได้ เพราะด้วยข้อจำกัดของการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้ระยะเวลานาน อีกทั้ง ยังต้องถูกเก็บไว้ในตู้แอร์คอนเทนเนอร์ที่มืด อาจสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อและต้นอ่อนกล้วยไม้ได้ แต่ที่ประยูร ออคิดส์สามารถทำได้นั้น เป็นเพราะเขาสามารถคิดค้นเทคนิคการขยายพันธุ์ในห้องมืด ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของประยูร ออคิดส์ที่ทำได้เพียงรายเดียว จึงทำให้ไม่มีปัญหาในการขนส่งในห้องมืดเป็นเวลานานหลายวัน
“เราทำให้เห็นว่าประหยัดค่าใช้จ่ายได้จริงๆ หากส่งทางเครื่องบินไปอเมริกาค่าขนส่งต่อขวด 200 บาท แต่เมื่อเปลี่ยนมาส่งทางเรือมีค่าขนส่งต่อขวด 12 บาทเท่านั้น แล้วการที่กล่องบรรจุภัณฑ์สามารถบรรจุได้จำนวนขวดมากขึ้น ทำให้โดยรวมช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า อย่างลูกค้าที่เราส่งให้ประจำที่อเมริกาเขาสามารถลดค่าใช้จ่ายนี้ไปได้ถึงปีละ 45 ล้านบาท"
อย่างไรก็ตาม กว่าจะสามารถสร้างนวัตกรรมนี้ได้ ประยูร ออคิดส์ต้องใช้เวลาถึง 8 ปี เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถทำได้โดยที่กล้วยไม้ไม่มีความเสียหายและไม่มีผลต่อการออกดอก กล่าวคือ ใช้เวลา 3 ปีทำงานในเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ในแลป จากนั้นขนส่งไปให้ลูกค้า เพื่อใช้เวลาอีก 2 ปีในการปลูกเป็นต้น และอีก 3 ปีในการออกดอก
จากแค่แนวคิด ปัญหาของลูกค้า คือปัญหาของเราที่ต้องพยายามแก้ไข ก่อให้เกิดนวัตกรรมกล่องบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการขนส่งที่สร้างประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)