ไทยวัธนาเมทัลชีท แท็งก์น้ำแคปซูล ต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมรีไซเคิล



 


    จากการแข่งขันในธุรกิจของผู้ผลิตวัสดุหลังคาเมทัลชีทที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้เล่นในธุรกิจนี้ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในยุคนี้ แต่ส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก มากกว่าที่จะหานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อต่อยอดหรือลดต้นทุนในการผลิต ทว่ายังมีผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสจากการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้มา Recycle สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ ไทยวัธนาเมทัลชีท 


 




    ดัมพ์ พวงเพ็ชร ผู้จัดการ บริษัท ไทยวัธนาเมทัลชีท จำกัด เล่าว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นหลังคาเหล็กรีดลอน (Metal Sheet) ผนัง (Siding) ฉนวนกันความร้อน (Insulation) ฯลฯ พร้อมบริการขึ้นรูปตามที่ลูกค้าต้องการ ภายใต้ชื่อโรงงาน OK Metal Sheet ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ โดยเขาเล็งเห็นช่องทางธุรกิจจากการที่มีแกนม้วนคอยล์ซึ่งเป็นวัตถุดิบทำเมทัลชีทเหลือทิ้งจำนวนมากในแต่ละเดือน จึงนำมาสู่การต่อยอดนำวัตถุดิบเหลือใช้ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่อย่างแท็งก์น้ำแคปซูลขึ้น และสิ่งนี้เองที่ทำให้ ไทยวัธนาเมทัลชีทได้รับ รางวัลโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ Reuse/Recycle จากการประกวด SME Thailand Inno Awards 2015

 



    “ปกติหลังจากที่เรารีดแผ่นเหล็กเสร็จแล้ว จะมีแกนม้วนคอยล์เหลืออยู่ทุกครั้ง ซึ่งหากนำไปชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็กก็ได้ราคาเพียงแค่ไม่กี่สตางค์ ผมจึงมาคิดว่าจะหาวิธีใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากแกนม้วนคอยล์ที่เหลือเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง กอปรกับตอนนั้นทางโรงงานมีความต้องการจะใช้แท็งก์น้ำพอดี ผมจึงออกแบบเป็นถังน้ำแคปซูลรูปทรงสูง โดยมีโจทย์คือจะต้องเป็นแท็งก์น้ำที่สามารถใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีฐานรากเหมือนแท็งก์น้ำทั่วไป”

 




    ด้วยประสบการณ์การเป็นวิศวกรเครื่องจักรกลของดัมพ์ ทำให้เขามีทักษะและองค์ความรู้ในการผลิตขึ้นรูปวัสดุเหล็กให้ออกมาเป็นโปรดักต์ต่างๆ ซึ่งได้ทดลองทำแท็งก์น้ำแคปซูลต้นแบบขึ้นมา โดยนำแกนม้วนคอยล์มาต่อกันขึ้นตามแนวสูง วางยึดกันในรูปสามเหลี่ยม และใช้เหล็กเชื่อมกลางระหว่างแกนม้วนคอยล์แต่ละแท่ง จากนั้นจึงทาสีอีพ็อกซี่กันสนิมภายในและเชื่อมแกนม้วนแต่ละแท่งอีกครั้ง จนออกมาเป็นแท็งก์น้ำแคปซูลสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร หรือไว้ใช้อุปโภคบริโภคตามครัวเรือน 


 



    “ประเทศไทยมักประสบปัญหาภัยแล้ง ต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ตามหมู่บ้านต่างๆ ผมจึงคิดว่าเรามีโอกาสขยายตลาดสินค้าไปยังชาวนา ชาวไร่ และเกษตรกรทั่วไปตามหมู่บ้าน ซึ่งแท็งก์น้ำแคปซูลของเราเป็นโปรดักต์ที่ยังไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาจากการดัดแปลงของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่ามากขึ้น ตอนนี้เราใช้วิธีรับผลิตให้กับลูกค้าในละแวกใกล้เคียงที่มาสั่งซื้อ”

 




    สำหรับจุดเด่นของแท็งก์น้ำแคปซูล อยู่ตรงที่การนำวัตถุดิบเหลือใช้มาแปรรูป ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ ส่งผลให้ราคาในการจำหน่ายถูกลงไปด้วย โดยแท็งก์น้ำแคปซูลราคาต่อชิ้นจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ในขณะที่แท็งก์น้ำเหล็กทั่วไปที่เป็นลักษณะถังแชมเปญราคาสูงถึง 100,000-200,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีความแข็งแรง ติดตั้งและเคลื่อนย้ายง่าย เหมาะกับงานสนาม เนื่องจากไม่ต้องลงเข็มทำฐานราก ที่สำคัญคือ มีการประยุกต์นำนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์มาใช้แทนไฟฟ้าหรือน้ำมันในการสูบน้ำ ทำให้ตัวแท็งก์น้ำแคปซูลซึ่งมีความสูงอยู่ในตัวสามารถมีแรงดันจ่ายน้ำโดยไม่ต้องใช้ปั๊มจ่ายช่วย


 



    อย่างไรก็ตาม ดัมพ์ยอมรับว่า ยังมีข้อจำกัดในการผลิตแท็งก์น้ำแคปซูลอยู่ เนื่องจากเป็นการนำวัสดุที่เหลือในโรงงานมาใช้ หากต่อไปสินค้าได้รับความนิยมมากขึ้น วัตถุดิบอย่างแกนม้วนคอยล์อาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางออกคือ ต้องจัดหาซื้อวัตถุดิบแกนม้วนคอยล์จากโรงงานรีดเมทัลชีทแห่งอื่น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นในอนาคตดัมพ์จึงคิดว่า จะดำเนินการจดสิทธิบัตรแท็งก์น้ำแคปซูลเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

 


    “ในเวลานี้ธุรกิจเมทัลชีทมีการแข่งขันสูงมาก เฉพาะแถบจังหวัดนครสวรรค์ก็มีโรงงานผลิตไม่ต่ำกว่า 10 เจ้า ผมจึงต้องปรับตัวด้วยการหาโปรดักต์ใหม่ๆ เข้ามาเสริม ซึ่งหากเทียบกับการขายเป็นเศษเหล็ก เราสามารถนำแกนม้วนคอยล์มารีไซเคิลให้กลายเป็นโปรดักต์และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 5 เท่า ผมอยากให้ผู้ประกอบการ SME ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะไม่ต้องลงทุนใช้อะไรมากนอกจากความคิดสร้างสรรค์และไอเดีย ซึ่งเราต้องพยายามมองให้ออกว่าจะหยิบอะไรมาใช้ได้บ้าง บางครั้งอาจเป็นสิ่งของเหลือใช้ที่บางคนมองข้าม แต่อาจจะช่วยสร้างโอกาสให้เราในการทำธุรกิจได้” ดัมพ์ฝากคำแนะนำทิ้งท้าย


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)



RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน