ชาญมิวสิคเคิ้ล Siam Series ดีไซน์กลองสะท้อนความเป็นไทย






    เพราะต้องการตอกย้ำให้ทั่วโลกรับรู้ว่า สินค้าไทยมีคุณภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัท ชาญมิวสิคเคิ้ล จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดนตรีประเภท Percussion ที่เปิดมานานกว่า 50 ปี และเป็นผู้ผลิตเครื่องดนตรีให้แบรนด์ดังในระดับโลก ตัดสินใจแตกไลน์ไปสู่การผลิตกลองชุดและกลองสแนร์ ภายใต้แบรนด์ CMC 

 



    ซึ่งนอกเหนือจากคุณภาพที่ดีแล้ว ยังโดดเด่นด้วยดีไซน์อันเกิดจากการผสมผสานความรู้และภูมิปัญญาไทยในการทำสีและลวดลายแบบไทยๆ ลงบนผลิตภัณฑ์ จากจุดนี้เองที่ทำให้ ชาญมิวสิคเคิ้ล คว้ารางวัลโดดเด่นด้านดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ในโครงการ SME Thailand Inno Awards 2015 ไปครองได้สำเร็จ

 



    กฤษกร ชาญดนตรีกิจ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชาญมิวสิคเคิ้ล จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาในฐานะผู้ผลิตเครื่องดนตรีให้กับแบรนด์ดังมากมายในต่างประเทศ แม้ในเรื่องของคุณภาพจะได้รับการยอมรับ แต่หากมองในแง่ของการรับรู้ยังพบว่า คนส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าเป็นสินค้าไทย และมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มองว่าสินค้าไทยยังสู้สินค้าต่างชาติไม่ได้

 



     ดังนั้น กลอง CMC จึงเกิดขึ้นเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า สินค้าไทยก็มีคุณภาพดีเทียบเท่าระดับโลก และสร้างการรับรู้ในสายตาชาวโลกว่า นี่คือสินค้าฝีมือคนไทย ฉะนั้น CMC จึงเป็นกลองยี่ห้อแรกของไทยที่มีการนำเอาไม้ไทย อย่างไม้ยางพาราคุณภาพดีมาผลิตเป็นกลองสแนร์และกลองชุด ไม่เพียงเท่านั้นยังมี ไม้ทุเรียน ไม้ตาล และไม้แอช ที่ถูกนำมาใช้ด้วยเช่นกัน 

 


    ทั้งนี้ นอกจากการเลือกใช้ไม้ไทยเป็นวัสดุในการผลิตแล้ว เพื่อให้สามารถสะท้อนความเป็นไทยออกมาอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จึงมีการนำเอาเรื่องของดีไซน์มาช่วยต่อยอด จึงเกิดเป็นกลอง CMC ภายใต้ธีมที่มีชื่อว่า Siam Series ซึ่งจะมีความโดดเด่นด้านการผสมผสานความรู้และภูมิปัญญาของไทยในการทำสีและลวดลายแบบไทยลงบนผลิตภัณฑ์อย่าง กลองสแนร์ลวดลายฝังมุก กลองสแนร์ลายไทยปิดทองคำเปลว 100 เปอร์เซ็นต์ และกลองสแนร์ลวดลายสีจุ่ม เป็นต้น



 



     เรียกได้ว่า ดีไซน์ดังกล่าวนี้ช่วยทำให้กลอง CMC มีความโดดเด่นและเป็นที่สะดุดตาของลูกค้าอย่างมาก อย่างไรก็ดี นอกจากกลอง CMC จะนำเสนอลวดลายอันโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและความหลากหลายแล้ว หากลูกค้าต้องการกลองที่ไม่ซ้ำใครสามารถสั่งทำกลองที่ตนออกแบบลวดลายเองได้ด้วยบริการ Custom Drum ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบริการดีๆ ที่ทำให้ CMC ได้ใจมือกลองทั้งในและต่างประเทศ 

 




    “ผลจากการนำไม้ไทยมาผลิตกลอง CMC ทำให้เสียงของกลองดีขึ้นและมีความแข็งแรง ทนทาน ทำให้กลองมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น กลองสแนร์บางใบยังนำเอาไม้ต่างชนิดมาผสมทำเป็นตัวถังกลอง ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเพื่อตอกย้ำภาพความเป็นสินค้าไทยให้ชัดเจนขึ้น วัตถุดิบส่วนใหญ่ของกลอง CMC จึงผลิตในไทยด้วยฝีมือคนไทย ดังนั้น ลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าหากสินค้าชำรุด เสียหายจะมีอะไหล่สำหรับเปลี่ยนแน่นอน”

 



    แม้กลอง CMC จะเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ถึงกระนั้น นักดนตรีหรือผู้ใช้บางกลุ่มยังมองว่ากลองที่ผลิตในประเทศไทยนั้น คุณภาพเทียบเท่ากับกลองที่ผลิตในต่างประเทศไม่ได้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ กฤษกรจึงทำการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กและยูทูบ โดยอัพโหลดคลิปวิดีโอการทดสอบกลอง CMC ของมือกลองผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการ รวมทั้งจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อให้มือกลองทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นได้เข้ามาพิสูจน์คุณภาพของกลอง 

 



    อย่างเช่น งาน CMC Drum Day 2015 ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ถือเป็นงานที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากมือกลองทั่วประเทศ เพราะแม้ไม่มีการจำหน่ายสินค้าแต่ทุกคนก็เต็มใจมา ซึ่งนี่เสมือนสัญญาณอันดีที่แสดงให้เห็นชัดว่า ชาญมิวสิคเคิ้ลสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ได้สำเร็จผ่านการสร้างคุณภาพและดีไซน์อันโดดเด่นของกลองไทย CMC


www.smethailandclub.com 
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน