พูดลับหลังเป็นความผิด! รู้เทคนิคการ Feedback แบบ Netflix ติเพื่อก่อพาธุรกิจสู่ความสำเร็จ โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

             

     ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ผมมีโอกาสอ่านหนังสือที่กำลังเป็น Talk of the Town ในขณะนี้ ชื่อ “No Rules Rules” เขียนโดย “รีด เฮสติ้งส์” CEO ของ Netflix ที่บอกเล่าประสบการณ์และเคล็ดลับในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
               

     รีด เล่าถึงวัฒนธรรมหนึ่งที่สำคัญของ Netflix คือ การพูดกันอย่างตรงไปตรงมาและขอข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) กันอย่างสม่ำเสมอ
               

      ที่ Netflix เขาสอนพนักงานทุกคนว่า ข้อมูลป้อนกลับเป็นของขวัญ (Feedback is a gift) เมื่อได้รับจงดีใจและรีบกล่าวคำขอบคุณ



               

     เทคนิคการให้และรับ Feedback ของ Netflix น่าสนใจมาก ประกอบด้วย A จำนวน 4 ตัว โดย 2 ตัวแรก สำหรับการให้ Feedback และ 2 ตัวหลัง สำหรับการรับ Feedback
               

      A - Aim to Assist : การให้ Feedback ทุกครั้ง ผู้ให้ต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ผู้ได้รับ Feedback ดีขึ้น ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองได้มากขึ้น (คนไทยรู้มานานแล้ว เราเรียกว่าการติเพื่อก่อ)
                 

      A - Actionable : การให้ Feedback ที่ดี ต้องมีคำแนะนำที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง การให้ข้อมูลป้อนกลับหรือตำหนิเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีคำแนะนำว่า ถ้าต้องการทำให้ดีขึ้น ควรทำอย่างไร ถือเป็นข้อมูลป้อนกลับที่ไม่มีคุณภาพ
               

      รีดเชื่อว่าหากผู้ให้ Feedback คำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 2 ประการนี้ ตลอดเวลาที่ให้ Feedback ข้อมูลป้อนกลับนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับอย่างมาก และที่สำคัญการให้ Feedback นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะหัวหน้าให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานให้กันเพียงอย่างเดียว ลูกน้องก็สามารถให้ Feedback กับหัวหน้าได้ตรงๆ แบบซึ่งหน้า เช่นกัน เพราะที่ Netflix การพูดลับหลังเป็นความผิด!
               

      ในการประชุมหลายครั้ง รีด เฮสติ้งส์ ยังนำข้อความที่ลูกน้องให้ Feedback มาเล่าให้กับพนักงานคนอื่นๆ ฟัง เพราะอยากให้รู้สึกว่าพนักงานทุกคนสามารถให้ Feedback กับทุกๆ คนได้ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีสถานะเป็นอะไร (เจ้านาย ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน)




               
      นอกจากนั้นยังกำหนดแนวทางในการรับ Feedback จากผู้อื่นด้วย ดังนี้
               

     A - Appreciate : เมื่อได้รับ Feedback ให้กล่าวคำขอบคุณ ไม่ว่าจะชอบ Feedback นั้นหรือไม่ และไม่ว่า Feedback นั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือเข้าใจผิด ก็ตาม เราขอบคุณที่เขาให้ Feedback ไม่ได้ขอบคุณเพราะ Feedback นั้นดีหรือไม่ดี
               

     A - Accept or Discard : เป็นสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับ Feedback ว่าจะรับและนำกลับมาปรับปรุง หรือทิ้งไปเลยก็ได้ ไม่มีปัญหาเพราะ Feedback ไม่ใช่คำสั่ง เป็นเพียงเสียงสะท้อนที่คนอื่นมีต่อเราเท่านั้น



               

     นอกจากมีวัฒนธรรมการให้ Feedback อย่างตรงไปตรงมาด้วยเทคนิค 4A แล้ว ยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่าพนักงานทุกคน ในทุกระดับ (ไม่เว้นแม้แต่ CEO) ควรขอ Feedback จากเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอด้วย
               

     โดยเทคนิคการขอ Feedback ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ
               

     Start : สิ่งที่ยังไม่เคยทำ ควรเริ่มต้นทำ หรือสิ่งที่ทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่มากพอ อยากให้ทำมากขึ้น
               

     Stop : สิ่งที่ทำอยู่แต่ไม่มีประโยชน์หรือไม่สร้างสรรค์ ควรหยุดทำ หรือทำให้น้อยลง
               

     Continue : สิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว อยากให้ทำต่อไป
               

      การขอ Feedback แบบ Start-Stop-Continue นี้ จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้ปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองต่อไปได้ ดีกว่าการถามแบบลอยๆ ว่า “มีอะไรจะ Feedback ไหม” ซึ่งส่วนใหญ่มักได้คำตอบว่า “ทั่วๆ ไปก็ดี ไม่มีอะไรครับ”
               

     ช่วงเวลานี้ อยากแนะนำให้ลองขอ Feedback จากคนรอบๆ ตัวดู ไม่จำกัดเฉพาะเพื่อนๆ หรือคนที่ทำงานเท่านั้น กับพี่น้องหรือแม้แต่แฟน ก็สามารถขอ Feedback ได้เช่นกัน
               

     เผื่อจะได้สิ่งดีๆ ที่สามารถไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงตัวเองในปีที่ท้าทายนี้ได้







 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

บทความสมาชิก

4 ความท้าทาย ของธุรกิจโรงแรมรักษ์โลก เมื่อผู้บริโภคยังยึดติดกับความสบาย

เมื่อเทรนด์รักษ์โลกยังคงได้รับความนิยมและเกิดการตื่นตัวในทุกมุมโลก แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะเอื้อให้ธุรกิจก้าวสู่ถนนสีเขียว นี่คือความท้าทายในการปรับตัวรับเทรนด์รักษ์โลกของธุรกิจโรงแรม

ทำไมธุรกิจ Online Travel Agency ในไทย ถึงไม่ประสบความสำเร็จ?

เคยสงสัยกันไหม? ว่าประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย มีโรงแรมทั้ง International Hotel Chain และแม้แต่ Local Chain ที่เติบโตไปในระดับโลก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Platform รับจองห้องพักในรูปแบบ OTA (Online Travel Agency) ของตนเอง

ลูกค้าขอสถานะ Confidential Guest ธุรกิจโรงแรมทำอย่างไร? ปกป้องความลับแขกได้ ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว

โดยปกติแล้วโรงแรมเราจะมีแขกประเภทหนึ่งที่ขอสถานะ Confidential Guest (CFG) ต้องการปกปิดการเข้าพักเป็นความลับทั้งเรื่องห้องพัก กิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและ Privacy ซึ่งหลักๆ เลยก็จะเป็นแขกระดับ VIP หรือ VVIP ในความเป็น CFG ก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เช่น หมายจับ หมายศาล อันนี้โรงแรมก็ไม่สามารถฝ่าฝืนได้ แต่ก็ต้องตรวจสอบให้ดี